- ขณะไอหรือจามแรง ๆ มักพบในคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
- ขณะกลืนอาหาร มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับคอหอย หรือหลอดอาหาร
- ขณะถ่ายปัสสาวะ หลังจากมีปัสสาวะเต็มกระเพาะ (ปวดถ่ายสุด ๆ) พบบ่อยในผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
- ขณะถ่ายอุจจาระ ในคนที่ท้องผูก หรือมีการเบ่งแรง ๆ
- ขณะหันคอ โกนหนวดด้วยเครื่องไฟฟ้า หรือใส่เสื้อรัดคอ พบในผู้สูงอายุที่มีความไวของคาโรติดไซนัส (carotid sinus hypersensitivity)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นช้าหรือเร็ว หรือจังหวะไม่สม่ำเสมอ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ภาวะหัวใจวาย
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy)
- โรคลิ้นหัวใจตีบ (aortic stenosis, mitral stenosis)
- เนื้องอกในหัวใจ (atrial myxoma)
- ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic dissection) (ดู "โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง")
- ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (ดู "ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด") ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเป็นลม
- อาการชัก เช่น โรคลมชัก ขณะชักจะมีอาการหมดสติชั่วขณะ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจมีอาการเป็นลมชั่วขณะ แล้วฟื้นสติได้เอง แต่บางคนก็หมดสติไปเลย มีสาเหตุจากการอดอาหารนาน หรือเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเกินขนาด ออกแรงมากเกิน หรือกินอาหารผิดเวลา หรือกินอาหารได้น้อย
- ภาวะซีด หรือโลหิตจางจากสาเหตุต่าง ๆ
- โรคทางจิตประสาท เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน เป็นต้น อาจมีอาการเป็นลมแน่นิ่งชั่วขณะร่วมด้วย
ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือว่ายน้ำ เป็นอันตรายได้ หรืออาจล้มฟุบ หรือตกจากที่สูง ได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
สำหรับผู้ที่เป็นลมซึ่งพบว่ามีโรคประจำตัวร่วมด้วย (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่พบร่วมตามมาได้
สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ แพทย์อาจผ่าตัดใส่อุปกรณ์คุมจังหวะหัวใจ ได้แก่ pacemaker สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, implantable cardioverter-defibrillator สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
หากพบผู้ป่วยมีอาการเป็นลม ควรทำการปฐมพยาบาล
ผู้ป่วยแม้ว่าจะฟื้นสติได้เอง และมีความรู้สึกตัวเป็นปกติดีแล้ว ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ทุกราย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ) หรือกินยารักษาโรคอยู่ประจำ สงสัยมีภาวะผิดปกติของร่างกาย ผู้ที่เคยเป็นลมมาก่อนหรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลมอีก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น ชัก เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซีด ถ่ายอุจจาระดำ มีเลือดออก ปวดศีรษะมาก ปวดท้องมาก อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น) ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการเป็นลมใหม่ หรือมีอาการผิดปกติ (เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก แขนขาชาหรืออ่อนแรง กลืนลำบาก พูดไม่ขัด เดินเซ เป็นต้น) หรือมีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)
เมื่อพบผู้ป่วยเป็นลม ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้
1. ขั้นตอนแรกสุดคือ รีบจับผู้ป่วยนอนหงาย ศีรษะต่ำ (ไม่ต้องหนุนหมอน) เท้ายกสูง เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และหันศีรษะไปด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ
2. ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด รวมทั้งสิ่งรัดคอ (เช่น เน็กไท ผ้าพันคอ กระดุมคอ) ให้หลวม
3. ห้ามคนมุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
4. ถ้าตัวเย็นหรืออากาศเย็น ห่มผ้าให้อบอุ่น
5. ขณะที่ยังไม่ฟื้น ห้ามให้น้ำหรืออาหารทางปาก
6. เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว อย่าให้ลุกขึ้นทันที อาจทำให้เป็นลมอีกได้ ควรให้นอนพักต่ออีก 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ และตรวจดูว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือไม่
7. เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติแล้ว และเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ (ถ้ารู้สึกกระหาย) หรือให้ดื่มน้ำหวาน (ถ้ารู้สึกหิว)
8. แม้ว่าผู้ป่วยจะฟื้นดีแล้ว ก็ควรส่งไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ
9. ถ้าผู้ป่วยหมดสตินานเกิน 2-3 นาที ควรให้การปฐมพยาบาลแบบอาการหมดสติ หรือขณะที่หมดสติ ถ้าพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการกู้ชีวิต (CPR) ด้วยการกดหน้าอก (ปั๊มหัวใจ) แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที
- หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น การอยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อน การออกกลางแดด การอดนอน การอดข้าว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลุกจากท่านอนราบขึ้นยืนเร็ว ๆ (ควรลุกขึ้นอย่างช้า ๆ) การยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ (ถ้าจำเป็นต้องยืนเป็นเวลานาน ควรขยับเดินเคลื่อนไหวไปมาบ่อย ๆ) เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ตื่นเต้น ตกใจ กลัว เช่น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องน่ากลัว หรือน่าตื่นเต้น การเห็นเลือด
- เมื่อมีอาการไม่สบาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน ควรรีบดูแลรักษาตัวเองให้ถูกต้อง (เช่น กินยาบรรเทาอาการ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ป้องกันภาวะขาดน้ำ) หรือไปพบแพทย์โดยเร็ว
- เมื่อมีอาการเตือน (เช่น ศีรษะเบาหวิว วิงเวียน ตัวโคลงเคลง คลื่นไส้ หน้าซีด) ให้รีบนอนลงและยกเท้าสูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 30 ซม. หรือนั่งบนเก้าอี้แล้วก้มศีรษะลงซุกอยู่ระหว่างหัวเข่า 2 ข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมหมดสติ