นอกจากการบาดเจ็บจากการล้มฟุบแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (เป็นอัมพาต) รวมทั้งภาวะหัวใจวาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการวัดความดันในท่ายืน (หลังยืนขึ้น 2-5 นาที) เทียบกับท่านอน พบว่าความดันช่วงบนลดลง > 20 มม.ปรอท หรือความดันช่วงล่างลดลง > 10 มม.ปรอท หรือพบทั้ง 2 อย่าง หรือความดันช่วงบนในท่ายืน < 90 มม.ปรอท
- ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ หากมีอาการท้องเดินหรืออาเจียนควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดหรือแก้ข้ออักเสบ (ที่มีตัวยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร มีอาการถ่ายอุจจาระดำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดจนกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- หากเป็นเบาหวาน ควรรักษาอย่างจริงจัง เพื่อชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังการใช้ยาลดความดันเกินขนาด และในกรณีที่เบื่ออาหารหรือกินอาหารได้น้อย หากกินยาลดความดันอยู่ ควรวัดความดันวันละหลายครั้ง หากพบว่าความดันเริ่มลดมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับลดยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน