บิด (Dysentery)
ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บิด (Dysentery) ข้อมูลโรค พร้อมโปรแกรมตรวจอาการเบื้องต้น
บิด (Dysentery) อาการ สาเหตุ การป้องกันและรักษา พร้อมโปรแกรม “หมอประจำบ้าน” อัจฉริยะ Doctor at Home ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง
บิด หมายถึง อาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก คล้ายถ่ายไม่สุด ซึ่งเป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว)* กับบิดอะมีบา (บิดมีตัว)*
บิดชิเกลลา มักมีอาการเป็นไข้ และถ่ายเป็นน้ำคล้ายอาหารเป็นพิษนำมาก่อน และอาจทำให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรงได้ บิดชนิดนี้จึงเรียกว่า บิดนอนแบ็บ บิดชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าบิดอะมีบามาก
ส่วน บิดอะมีบา มักไม่มีไข้ และถ่ายกะปริดกะปรอยทีละน้อย ๆ ไม่มีภาวะขาดน้ำ และไม่อ่อนเพลีย จึงเรียกว่า บิดเดินได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก แบบเดียวกับบิดชิเกลลา หรืออาจกลายเป็นบิดเรื้อรัง เกิดฝีตับ หรือภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้
อาการถ่ายเป็นมูกปนเลือด ยังอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ
ในเด็กเล็ก ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรงคล้ายกระเพาะลำไส้อุดกั้นร่วมด้วย ก็อาจมีสาเหตุจากโรคลำไส้กลืนกันเอง
ในผู้ที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง นอกจากจะมีสาเหตุจากบิดอะมีบาแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ใหญ่อักเสบหลังจากฝังแร่รักษามะเร็งปากมดลูกก็ได้ ถ้าสงสัยควรส่งปรึกษาแพทย์ทุกราย
ตรวจอาการ "บิด" เพิ่มเติม เพื่อดูสาเหตุของอาการถ่ายเป็นมูกเลือด
ในที่นี้ขอกล่าวถึง บิดชิเกลลา และ บิดอะมีบา
*สมัยก่อนการวินิจฉัยโรคบิด ทำโดยการนำอุจจาระไปส่องดูเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ เชื้อบิดอะมีบามีขนาดโตกว่าเชื้อบิดชิเกลลา จะสามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ แพทย์ในสมัยนั้นจึงเรียกบิดอะมีบาว่า บิดมีตัว และเรียกบิดชิเกลลาว่า บิดไม่มีตัว
บิดชิเกลลา (Shigellosis/Bacillary dysentery)
บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) พบในคนทุกวัย ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-5 ปี มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี หรืออยู่กันอย่างแออัด
การติดเชื้อพบได้บ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้นของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางจิตเวช
บางครั้งอาจเกิดการระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ค่ายทหาร และมักพบมากในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่เชื้อจะอยู่ในพาหะเพียงช่วงสั้น ๆ มักถูกขับออกหมดภายใน 4 เดือน (แต่บางราย เชื้ออาจอยู่นานถึงหลายปีก็ได้)
ส่วนผู้ป่วยที่แสดงอาการ ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ส่วนน้อยอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ชิเกลลา (Shigella) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยผ่านทางการสัมผัสมือหรือสิ่งของที่เปื้อนเชื้อ หรือจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ (จากมือผู้ป่วยที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดหรือแมลงวันตอม)
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ)
เชื้อชิเกลลาจะเข้าไปในเยื่อบุลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ เกิดอาการท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือด
ระยะฟักตัว 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 24-48 ชั่วโมง)
อาการ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน ร่วมกับอาการปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำกับเกลือแร่ ต่อมาอาการถ่ายเป็นน้ำทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้น และถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดแบบกะปริดกะปรอย วันละ 10-30 ครั้ง ไม่มีกลิ่นเหม็น
ในเด็กเล็ก อาจมีไข้สูง ซึม และชักได้ อาการชักจะเป็นอยู่ไม่นาน และไม่มีอันตราย
อาการไข้จะเป็นอยู่ 1-2 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนอาการถ่ายท้องจะค่อย ๆ ห่างขึ้นภายใน 2-3 วัน และจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก
ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปน แล้วทุเลาไปได้เองภายใน 3-5 วัน ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบได้บ่อย คือภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ในรายที่เบ่งถ่ายบ่อยอาจทำให้ทวารหนักโผล่ออกมาข้างนอก
ในทารกแรกเกิดถ้าติดเชื้อจากมารดาขณะคลอด อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือลำไส้ทะลุได้
ผู้ป่วยเอดส์ และเด็กขาดอาหาร อาจมีอาการรุนแรงขั้นโลหิตเป็นพิษ เป็นเรื้อรังหรือกำเริบได้บ่อย
ที่พบได้น้อย เช่น ข้ออักเสบจากปฏิกิริยาของร่ายกาย (reactive arthritis) ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกร่วมกับไตวาย (hemolytic-uremic syndrome) ซึ่งเกิดจากพิษ (shigatoxin) ที่เชื้อปล่อยออกมา นอกจากนี้เชื้ออาจแพร่กระจายทำให้ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
ที่อันตรายแต่พบได้น้อยมาก เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่พอง (toxic megacolon) ลำไส้ทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก มักตรวจพบไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส อาจพบอาการขาดน้ำ หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ) ท้องอาจกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณกลางท้อง ท้องน้อยข้างซ้าย หรือทั่วท้อง บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น นำอุจจาระไปเพาะเชื้อ ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoidoscopy)
การรักษาโดยแพทย์
1. ที่สำคัญคือ ให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไตรม็อกซาโซล, นอร์ฟล็อกซาซิน, โอฟล็อกซาซิน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, อะซิโทรไมซิน (azithromycin) หรือเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) เป็นต้น
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ ถ้าอ่อนเพลียหรือมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อยให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง หรือเตรียมจากผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม
ส่วนยาแก้ท้องเดินไม่จำเป็นต้องให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้าหรือลุกลามได้
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก มีอาการปวดท้องรุนแรง กดเจ็บรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น) จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ) แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่พบ
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ ถ้าอ่อนเพลียหรือมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อยให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง หรือเตรียมจากผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม
ส่วนยาแก้ท้องเดินไม่จำเป็นต้องให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้าหรือลุกลามได้
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก มีอาการปวดท้องรุนแรง กดเจ็บรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น) จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ) แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่พบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายเป็นปกติได้ใน 5-7 วัน ส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งหากรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย ภายหลังจากมีอาการไข้ร่วมกับถ่ายเป็นน้ำนำมาก่อน หรือมีอาการท้องเดินในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นบิดชิเกลลา ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นบิดชิเกลลา ควรดูแลรักษา ดังนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. กินยาปฏิชีวนะตามขนาดและครบระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
4. ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
- เบื่ออาหาร ดื่มน้ำได้น้อย อาเจียน หรือปวดท้องรุนแรง
- ซึม ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ
- ตาเหลืองตัวเหลือง
- กินยาที่แพทย์แนะนำ 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
- หลังกินยา มีผื่นคัน ตุ่มพุพอง ปากบวม ตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบ ๆ ไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
2. กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน
5. สำหรับชายรักร่วมเพศ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาต
2. กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน
5. สำหรับชายรักร่วมเพศ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาต
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร (เช่น คนครัว บริกร เป็นต้น) ในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานพักฟื้น โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก จำเป็นต้องหยุดงานจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้แพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
2. อาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ แล้วต่อมาถ่ายเป็นมูกเลือด อาจเกิดจากเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส ซึ่งพบในผู้ที่กินอาหารทะเล (เช่น หอยนางรม) แบบดิบ ๆ (ดู "โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค" เพิ่มเติม)
2. อาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ แล้วต่อมาถ่ายเป็นมูกเลือด อาจเกิดจากเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส ซึ่งพบในผู้ที่กินอาหารทะเล (เช่น หอยนางรม) แบบดิบ ๆ (ดู "โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค" เพิ่มเติม)
บิดอะมีบา (Amebiasis)
อะมีบา เป็นโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ชนิดหนึ่ง สามารถเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ กลายเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) เรียกว่า บิดอะมีบา หรือเข้าไปในตับทำให้เกิดฝีในตับ เรียกว่า ฝีตับอะมีบา
บิดอะมีบา (บิดมีตัว) พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป
บิดชนิดนี้พบได้น้อยกว่าบิดชิเกลลา มักพบในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี หรือในกลุ่มคนที่ยังขาดสุขนิสัยที่ดี
การติดเชื้อมักเกิดได้บ่อยในสถานพักฟื้นของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยทางจิตเวช และในกลุ่มชายรักร่วมเพศ
ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนน้อยจะกลายเป็นโรคบิดอะมีบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดอาหาร ป่วยเป็นมะเร็ง ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดอาจเกิดอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้ออะมีบา (ameba) ที่มีชื่อว่า เอนตามีบาฮิสโตไลติคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งอยู่ตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำและน้ำประปา ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จัดเตรียมหรือทำอาหารให้ผู้อื่น) หรือปนเปื้อนดินหรือน้ำที่มีเชื้อ นอกจากนี้ยังติดต่อโดยการดื่มน้ำแบบดิบ ๆ และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในกลุ่มชายร่วมเพศ)
ระยะฟักตัว 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือน (ส่วนใหญ่ 8-10 วัน)
อาการ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน อาจแสดงอาการได้ 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรคดังนี้
ในรายที่มีการติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง จะมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปนเล็กน้อย (โดยไม่มีเลือดปน) หรือไม่ก็ได้ ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ
ในรายที่มีการติดเชื้อมาก จะมีอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบหรือโรคบิดชัดเจน คือ ปวดท้อง ปวดเบ่งที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด และถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย ซึ่งมีเนื้ออุจจาระปนน้อยมาก มักมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละ 10-20 ครั้ง หรือมากกว่า ระยะนี้ผู้ป่วยเดินเหินไปไหนมาไหนและทำงานได้
อาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือดดังกล่าว มักจะเป็นอยู่นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ แล้วอาจทุเลาไปได้เองสักระยะหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย ๆ
ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก จะมีอาการคล้ายบิดชิเกลลา คือ มีไข้สูง ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากวันละ 10-20 ครั้ง มักมีเลือดปน และมักมีภาวะขาดน้ำซึ่งอาจรุนแรงถึงช็อกได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย ถ่ายอุจจาระเหลว (อาจมีมูกปน) วันละ 3-5 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกเลือดกะปริดกะปรอย เป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย และในช่วงที่ไม่มีอาการท้องเดินอาจมีอาการท้องผูกสลับด้วย อาการแสดงบางครั้งอาจแยกไม่ออกจากมะเร็งลำไส้ใหญ่
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจกลายเป็นโรคบิดเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักลด ซูบผอม อาจเกิดก้อนอะมีโบมา (เกิดจากการติดเชื้ออะมีบาเรื้อรังร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการของลำไส้อุดกั้น จากภาวะลำไส้กลืนกันเอง (intussusception)
บางรายอาจเกิดแผลขนาดใหญ่ที่กระพุ้งลำไส้ใหญ่ (cecum) ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ทำให้มีไข้สูง ท้องอืดมาก ท้องเดิน กดเจ็บ คล้ายไส้ติ่งอักเสบ (ส่วนไส้ติ่งอักเสบจากเชื้ออะมีบาก็อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อย)
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant colitis) ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร หรือใช้ยาสเตียรอยด์ ทำให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ปริมาณมาก และตกเลือดรุนแรงเป็นอันตรายถึงตายได้
ภาวะร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ลำไส้ใหญ่ทะลุทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบตามมา ภาวะลำไส้ใหญ่พอง (toxic megacolon) ทำให้ผนังลำไส้แตกได้
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่ตีบ (ถ่ายอุจจาระลำบาก) หรือแผลที่ผิวหนังตรงบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก
เชื้ออาจแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ตับ ทำให้เป็นฝีตับอะมีบา ส่วนน้อยอาจแพร่ไปที่ปอดและสมอง ทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นฝี
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นไม่มากอาจตรวจไม่พบอะไรชัดเจน บางรายอาจพบอาการท้องอืด ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้องจะได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้มากกว่าปกติ อาจมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณท้องส่วนล่าง หรือคลำได้ตับโตเล็กน้อย
ในรายที่เป็นมากมักมีไข้สูง มีภาวะขาดน้ำ กดเจ็บทั่วบริเวณท้อง อาจพบตับโตและกดเจ็บ ความดันต่ำ
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยข้างขวา เรียกว่า อะมีโบมา (ameboma) ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจหาเชื้อในอุจจาระ บางรายอาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidocopy‚ colonoscopy) การทดสอบทางน้ำเหลืองด้วยวิธี ELISA เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้อาหารบำรุงร่างกาย) และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล หรือทินิดาโซล
2. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าท้องกดเจ็บมากหรือเกร็งแข็ง ตับโตและกดเจ็บมาก ถ่ายเป็นเลือดรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง หายใจหอบหรือชัก แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
3. ถ้ามีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง คลำได้ก้อนในท้อง หรือน้ำหนักลดฮวบ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น เอกซเรย์ การตรวจอัลตราซาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidocopy‚ colonoscopy) เป็นต้น และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายเป็นปกติใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งหากรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย มูกมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นบิดอะมีบา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. กินยาปฏิชีวนะตามขนาดและครบระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
4. ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
- ปวดศีรษะรุนแรง ชัก ปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียน
- หายใจหอบ ตาเหลืองตัวเหลือง หรือน้ำหนักลด
- ท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระลำบาก
- คลำได้ก้อนในท้อง
- ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- หลังกินยามีผื่นคัน ตุ่มพุพอง ปากบวม ตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ
- กินยาที่แพทย์แนะนำ 4-5 วันแล้วไม่ดีขึ้น
- มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันบิดชิเกลลา และท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย
ข้อแนะนำ
1. หลังการให้ยารักษา ถึงแม้ว่าอาการจะทุเลาเป็นปกติแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ควรทำการตรวจดูเชื้อในอุจจาระในเดือนที่ 1‚ 3 และ 6 หลังการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือซึ่งอาจทำให้โรคกำเริบใหม่ได้
2. ผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาอาจมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกไม่มีเลือดปน) เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้ หากสงสัยควรส่งตรวจดูเชื้ออะมีบาในอุจจาระ
3. ในผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาบางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด แต่สามารถแพร่เชื้อออกทางอุจจาระไปให้ผู้อื่น เรียกว่า พาหะ (carrier) ของโรคบิดอะมีบา หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กินยาสเตียรอยด์ก็อาจกลายเป็นโรคตามมาได้
ข้อมูลล่าสุด : 23 ก.ย. 2564
Smart Doctor© โปรแกรม "หมอประจำบ้าน" อัจฉริยะ
โปรดเลือกอาการที่เป็นสัญญาณของ "บิด (Dysentery)" เพื่อตรวจอาการเบื้องต้น ก่อนไปพบแพทย์