การอักเสบของคอหอยและทอนซิล มักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นสำคัญ และเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ (ตรวจอาการ เจ็บคอ ประกอบ)
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการอักเสบจากโรคติดเชื้อ ซึ่งเกิดจากไวรัสและแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus)* ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
เชื้อแบคทีเรียที่สำคัญ คือ บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ก่อให้เกิดทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง (exudative tonsillitis) ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี และอาจพบในผู้ใหญ่เป็นครั้งคราว แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี โรคนี้อาจติดต่อในกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน เช่น ตามโรงเรียน หอพัก เป็นต้น
ผลการรักษา ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ให้การรักษาตามอาการมักจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
ถ้าเกิดจากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ เมื่อกินยาปฏิชีวนะได้ครบตามที่แพทย์แนะนำ ก็มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ากินไม่ครบหรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งหากกลายเป็นหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน หรือไข้รูมาติก ก็อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะร้ายแรงได้
- พักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ ห้ามอาบน้ำเย็น และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
- กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป นม น้ำหวาน
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่นประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
- ถ้าเจ็บคอมากให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ หรืออมก้อนน้ำแข็ง
- กินยาบรรเทาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และกินยาปฏิชีวนะ (ในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย) ให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
- ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
ควรกลับไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อนี้
- มีอาการผิดสังเกตแทรกซ้อนตามมา เช่น ปวดศีรษะมาก ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก ปวดหู หูอื้อ กลืนลำบาก ปวดที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว หายใจหอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดบวมตามข้อ มีผื่นขึ้นตามตัว เท้าบวม ปัสสาวะสีแดง เป็นต้น
- ดูแลรักษา 3-4 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด เช่น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น คนที่ยังไม่ป่วยอย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เป็นต้น
4. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว