
ไข้รูมาติก พบในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน หรืออยู่กันอย่างแออัด
ผู้ป่วยไข้รูมาติกจะมีการอักเสบของข้อและหัวใจพร้อม ๆ กัน ถ้าปล่อยให้มีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำให้หัวใจมีการอักเสบเรื้อรัง และในที่สุดลิ้นหัวใจจะเกิดการพิการ คือ ตีบและรั่ว เมื่อถึงขั้นนี้ เราเรียกโรคลิ้นหัวใจพิการชนิดนี้ว่า โรคหัวใจรูมาติก (rheumatic heart disease/RHD)
ในประเทศเราเคยมีการสำรวจพบว่า ในหมู่นักเรียนอายุ 5-15 ปีในบางท้องที่มีผู้ป่วยหัวใจรูมาติกประมาณ 0.5-2.1 ต่อนักเรียน 1,000 คน ในปัจจุบันพบได้น้อยลง
สาเหตุ
โรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (beta-hemolytic Streptococcus group A) ซึ่งอาจพบได้ประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ป่วยที่เป็นคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อชนิดนี้ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการของไข้รูมาติก มักเกิดหลังคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ ทำให้มีการอักเสบของข้อต่าง ๆ และมักมีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย กลไกของการเกิดโรคนี้มีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmune) กล่าวคือ เมื่อมีการติดเชื้อที่ลำคอ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อโรค แล้วสารนี้เกิดไปสร้างปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเอง ทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อ หัวใจ ผิวหนัง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

อาการ
ลักษณะที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดบวมแดงร้อนตามข้อใหญ่ ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก ซึ่งมักจะเป็นมากกว่าหนึ่งข้อ โดยจะไม่ปวดขึ้นพร้อมกัน แต่จะปวดที่ข้อหนึ่งก่อน แล้วจึงย้ายไปปวดที่อีกข้อหนึ่ง แต่ละข้อจะมีอาการอักเสบอยู่นาน 5-10 วัน บางรายอาจเป็นเรื้อรังถึงกับลุกเดินไม่ได้เป็นแรมเดือน อาการปวดบวมตามข้อมักจะหายได้เองแม้ไม่ได้รักษา ข้อที่อักเสบจะกลับเป็นปกติ ไม่มีร่องรอยความพิการแต่อย่างใด
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
ผู้ป่วยมักมีอาการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย ถ้าเป็นไม่มากอาจไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หอบ นอนราบไม่ได้ เนื่องจากภาวะหัวใจวาย
ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นไข้เจ็บคอนำมาก่อนประมาณ 1-4 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไม่มีประวัติดังกล่าวก็ได้
นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการผื่นแดงขึ้นแผ่ออกโดยรอบ เป็นวงขอบแดง ตรงกลางขาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 ซม. เรียกว่า อีริทีมามาร์จินาตุม (erythema marginatum) ไม่เจ็บ ไม่คัน และจางหายได้เองอย่างรวดเร็ว (บางครั้งอาจหายภายในวันเดียว) มักขึ้นตรงบริเวณก้นหรือแขนขาส่วนต้น ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย
บางรายอาจมีตุ่มขึ้นอยู่ใต้ผิวหนัง (subcutaneous nodules) ตรงบริเวณข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อศอก ไม่เจ็บ จับให้เคลื่อนอยู่ใต้ผิวหนังได้ อาจมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือใหญ่ขนาด 2 ซม. ตุ่มนี้จะค่อย ๆ ยุบได้เอง กินเวลาหลายสัปดาห์ ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย
บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแขนขาหรือส่วนอื่น ๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถบังคับได้ เช่น แขนขาขยุกขยิก หรือปัดแกว่งโดยไม่ได้ตั้งใจ บางรายอาจพูดไม่ชัด เขียนหนังสือ หรือหยิบของไม่ถนัด เป็นต้น อาการแบบนี้เรียกว่า โคเรีย (chorea) เกิดจากมีความผิดปกติในสมองร่วมด้วย อาจพบเป็นอาการโดด ๆ หรือร่วมกับอาการอื่น ๆ ก็ได้ มักมีอาการหลังเจ็บคอ 1-6 เดือน (เกิดช้ากว่าอาการปวดข้อและอื่น ๆ) ถ้าพบมักแสดงว่ามีการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจรูมาติก ซึ่งจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยไข้รูมาติกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง แล้วมีการกำเริบของไข้รูมาติกซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทำให้มีการอักเสบของหัวใจเรื้อรัง จนในที่สุดลิ้นหัวใจเกิดการพิการอย่างถาวร*
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก อาจไม่มีอาการแสดงอะไรในระยะแรก อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะตรวจเช็กร่างกาย ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจได้ยินเสียงฟู่ (murmur) ที่บริเวณใต้ราวนมซ้าย
ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ในระยะอีกหลายปีต่อมาผู้ป่วยอาจเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น และเกิดภาวะหัวใจวายเรื้อรัง กลายเป็นคนกึ่งพิการ
*ที่พบบ่อย ได้แก่ ลิ้นหัวใจไมทรัลรั่ว (mitral regurgitation) และลิ้นหัวใจไมทรัลตีบ (mitral stenosis) สำหรับภาวะลิ้นหัวใจไมทรัลตีบ หากปล่อยเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อย ไอเป็นฟองเลือดสีชมพู) ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะมีลิ่มเลือดที่หัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (ดูภาวะแทรกซ้อนโรคภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
มักมีไข้ และข้อบวมแดงร้อน
อาจพบผื่นอีริทีมามาร์จินาตุม ตุ่มใต้ผิวหนัง หรืออาการโคเรีย
อาจตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หรือใช้เครื่องฟังตรวจมีเสียงฟู่ (murmur) ซึ่งมักจะพบตรงบริเวณใต้ราวนมซ้าย
ถ้าเป็นรุนแรง อาจพบอาการของหัวใจวาย เช่น หอบ บวม นอนราบไม่ได้ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (ตรวจ ESR, ASO titer) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ และถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะ ให้แอสไพริน บรรเทาปวดและการอักเสบของข้อ
ในรายที่มีอาการหัวใจอักเสบรุนแรง อาจให้สเตียรอยด์ ลดการอักเสบ
ถ้ามีภาวะหัวใจวาย ก็ให้การรักษาแบบภาวะหัวใจวายร่วมได้
เมื่ออาการหายดีแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจรักษาเป็นประจำ โดยจะให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นระยะยาวเพื่อป้องกันมิให้ลิ้นหัวใจพิการกลายเป็นโรคหัวใจรูมาติก เช่น
- ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (benzathine penicillin) เข้ากล้าม ทุก 4 สัปดาห์ ในรายที่เป็นซ้ำบ่อยอาจให้ทุก 3 สัปดาห์
- กินเพนิซิลลินวีทุกวัน
- กินอีริโทรไมซินทุกวัน
ระยะเวลาในการให้ยา ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคดังนี้
- ผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจและมีลิ้นหัวใจผิดปกติอย่างถาวร ควรให้นานอย่างน้อย 10 ปี นับจากการอักเสบครั้งหลังสุด และจนกระทั่งผู้ป่วยอายุอย่างน้อย 40 ปี บางกรณีอาจต้องให้ยาป้องกันไปตลอดชีวิต
- ผู้ป่วยที่เคยมีการอักเสบของหัวใจ แต่หายไปในเวลาต่อมา ควรให้นาน 10 ปี หรือจนกระทั่งเข้าวัยผู้ใหญ่
- ผู้ป่วยที่ไม่เคยมีการอักเสบของหัวใจ ควรให้นาน 5 ปี หรือจนกระทั่งอายุ 21 ปี
2. ในรายที่ลิ้นหัวใจพิการมากจนผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวายรุนแรง อาจต้องผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวไปได้นาน
3. ผู้ป่วยที่มีลิ้นหัวใจพิการก่อนถอนฟันหรือให้แพทย์ตรวจรักษาโดยการสอดใส่เครื่องมือหรือสายสวนในทางเดินหายใจหรือทางเดินปัสสาวะ ควรใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันมิให้เกิดโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบแทรกซ้อน (อ่านเพิ่มเติมที่ โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการข้ออักเสบ (ข้อมีอาการปวด บวม แดง ร้อน) มีไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้นที่ผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไข้รูมาติก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ จากบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอด้วยยาปฏิชีวนะให้ได้ครบตามกำหนด
ข้อแนะนำ
ถ้าพบเด็กมีอาการปวดข้อ หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้รูมาติกควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว และถ้าเป็นโรคนี้จริง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ จะช่วยป้องกันมิให้กลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกได้