โรคนี้มักเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (beta-hemolytic streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ไฟลามทุ่ง โดยภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นไปมีปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ทำให้หน่วยไตเกิดการอักเสบ จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เรียกว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (poststreptococcal AGN) พบบ่อยในเด็กอายุ 5-10 ปี มักพบหลังติดเชื้อในคอ 1-2 สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ผิวหนัง 3-4 สัปดาห์ อาจพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคเอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี (เช่น ตะกั่ว) การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มากเกิน เป็นต้น
มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการบวมที่หน้า หนังตา เท้า และท้อง อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก และออกเป็นฟอง จำนวนปัสสาวะมักออกน้อยกว่าปกติ
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการปัสสาวะออกน้อยมาก หอบเหนื่อย หรือชัก
ที่อาจพบได้ ได้แก่
- มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรืออาการทางสมอง (เช่น ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัว)
- ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ใช้เครื่องฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) มีอาการหอบเหนื่อย
- หน่วยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตเนโฟรติก ไตวายเรื้อรัง
- ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบไข้ ความดันโลหิตสูง หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม ท้องบวม ปัสสาวะขุ่นแดง และตรวจพบสารไข่ขาว (albumin) ขนาด 1+ ถึง 3+
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะซึ่งจะพบเม็ดเลือดแดงเกาะกันเป็นแพ (red blood cell cast) และพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ หรือเกาะกันเป็นแพ
การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติต่าง ๆ เช่น สารบียูเอ็น (BUN) และครีอะตินีน (creatinine) สูง ซึ่งแสดงว่าไตขับของเสียไม่ได้เต็มที่
บางกรณีแพทย์อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อไต (renal biopsy)
1. นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ให้ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) และยาลดความดัน
- ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน
- หลังจากรักษาจนอาการหายเป็นปกติแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการและตรวจปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อเฝ้าดูว่ามีหน่วยไตอักเสบเรื้อรังเกิดตามมาหรือไม่
2. ถ้ามีอาการชักหรือหอบ หรือสงสัยมีภาวะไตวาย (เช่น ปัสสาวะออกน้อย ระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนในเลือดสูง) หรือมีความดันโลหิตสูงรุนแรง จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ทำการตรวจและรักษาภาวะที่พบ เช่น ให้ยาแก้ชัก ยาขับปัสสาวะ ล้างไต เป็นต้น
ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนใหญ่จะหายได้เป็นปกติ โดยอาการบวม ปัสสาวะสีแดง และความดันโลหิตสูงจะหายเป็นปกติใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนการตรวจปัสสาวะ (ที่นำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ) จะพบสารไข่ขาว และจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติอยู่นาน 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะกลับมาเป็นปกติ
ส่วนน้อย (ราวร้อยละ 2 ของหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส) อาจกลายเป็นโรคหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจกลายเป็นโรคไตเนโฟรติก และไตวายเรื้อรังตามมา
ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหรือเสียชีวิตได้
หากสงสัย เช่น มีอาการไข้ หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวม ปัสสาวะขุ่นแดง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด แม้ว่าอาการต่าง ๆ จะหายดีแล้ว แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะเป็นระยะจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นปี
- ควรพักผ่อนให้มาก ๆ
- งดอาหารเค็ม เพื่อลดอาการบวม
- ลดน้ำหนัก (ถ้าน้ำหนักเกิน) และงดบุหรี่
- ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ (ถ้าเป็นเบาหวาน)
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์กำหนด
2. ป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน คางทูม และตับอักเสบจากไวรัสบี ป้องกันโรคเอดส์และตับอักเสบ (ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการฉีดสารเสพติดเข้าหลอดเลือดดำ) เป็นต้น
1. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว ควรไปติดตามตรวจกับแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง นอกจากเฝ้าระวังดูโรคหน่วยไตอักเสบเรื้อรังที่อาจเกิดตามมาแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังดูโรคความดันโลหิตสูงและภาวะไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
2. หน่วยไตอักเสบเรื้อรัง (chronic glomerulonephritis) นอกจากเป็นภาวะแทรกซ้อนของหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน และเกิดจากสาเหตุแบบเดียวกับหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง และเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ มะเร็ง การสูบบุหรี่มาเป็นระยะยาวนาน การสัมผัสสารไฮโดรคาร์บอน(เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำมันเบนซิน สี กาว) ความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าบวม เท้าบวม ปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด เลือดกำเดาไหลบ่อย อาจถ่ายปัสสาวะออกเป็นเลือด มักมีความดันโลหิตสูง ตรวจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ บางรายอาจไม่มีอาการ โรคนี้มักเป็นเรื้อรังและอาจมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น ทางเดินปัสสาวะติดเชื้ออักเสบบ่อย เป็นโรคติดเชื้อง่าย ไตวายเรื้อรัง หัวใจล้มเหลว) ควรไปตรวจรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางรายอาจจำเป็นต้องทำการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต