
ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหลายระบบและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ และมีระยะแฝงตัวของโรคที่ค่อนข้างยาวนาน ซึ่งสามารถแพร่ให้คู่สมรสและทารกในครรภ์ได้
พบได้บ่อยรองจากหนองในและหนองในเทียม
เกิดจากเชื้อซิฟิลิส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เทรโพนีมาพัลลิดัม (Treponema pallidum) ติดต่อโดยการร่วมเพศ เชื้อจะเข้าทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อย หรืออาจไชเข้าเยื่อบุผิวของท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องคลอดหรือช่องปาก รวมทั้งการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
โรคนี้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นแผล หลังจากติดเชื้อประมาณ 10-90 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ เท่าหัวเข็มหมุดเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ (อาจเกิดขึ้นที่หัวหน่าว ขาหนีบ ทวาร หรือริมฝีปากก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าตำแหน่งที่เชื้อเข้า) ซึ่งต่อมาจะแตกแล้วกลายเป็นแผลกว้าง ขอบแผลเรียบและแข็ง เรียกว่า แผลริมแข็ง (chancre) มักมีแผลเดียว รูปกลมหรือวงไข่ อาจมี 2 แผลซึ่งจะชนชิดกัน แผลไม่เจ็บไม่คัน พื้นแผลสีแดง และดูสะอาด
ประมาณ 1 สัปดาห์หลังมีตุ่มขึ้น จะพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้าง ไม่เจ็บ มีลักษณะแข็งแยกจากกัน และสีของผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
แม้ไม่ได้รับการรักษา แผลอาจหายได้เองใน 3-10 สัปดาห์ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย
การเจาะเลือดหาวิดีอาร์แอล จะพบเลือดบวกหลังจากมีเเผล 1-2 สัปดาห์

ระยะที่ 2 เข้าข้อ ออกดอก พบหลังระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ (อาจเกิดหลังมีแผลเพียง 2-3 วัน หรือนานหลายเดือนก็ได้) เชื้อจะเข้าต่อมน้ำเหลืองและอยู่ในเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย มีผื่นขึ้นทั้งตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย (ต่างจากผื่นของโรคอื่น ๆ ที่มักไม่ขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า) ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ซึ่งเรียกกันว่า ออกดอก
นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ เป็นครั้งคราว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ปวดตามกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลเป็นตื้น ๆ มีเยื่อสีขาวปนเทาคลุม หงอนไก่ (ที่เรียกว่า condyloma lata) ขึ้นที่รอบ ๆ อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ผมร่วงทั่วศีรษะหรือเป็นหย่อม (ดู "ผมร่วง ผมบาง" เพิ่มเติม) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคโตเนโฟรติก ตับอักเสบ ม่านตาอักเสบ เป็นต้น
ในระยะนี้ ถ้าตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลจะพบเลือดบวก
ผื่นและอาการต่าง ๆ จะหายได้เองแม้ไม่ได้รักษา แต่เชื้อจะแฝงตัวนานเป็นปี ๆ อาจเป็น 5 ปี 10 ปี เรียกว่า ซิฟิลิสระยะแฝง (latent syphilis) หลังจากนั้นก็เข้าสู่ระยะที่ 3

ผื่นที่ฝ่ามือ
ระยะที่ 3 ระยะทำลาย เกิดจากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี เช่น ซื้อยากินเอง ทำให้เข้าสู่ระยะร้ายแรงของโรค
เชื้ออาจเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต บ้านหมุน เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูตึง หูหนวก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงและอาจเสียสติได้
เชื้ออาจเข้าสู่หัวใจ ทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจเออร์ติกรั่ว (aortic insufficiency) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (aortitis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
ผู้ที่เป็นซิฟิลิสอาจไม่มีแผลให้เห็นในระยะที่ 1 หรือมีอาการเข้าข้อออกดอกในระยะที่ 2 แต่จะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในร่างกายรอเข้าสู่ระยะที่ 3 เลยก็ได้
ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ถ้าติดเชื้อซิฟิลิส (อาจเป็นโดยไม่รู้ตัว หรือไม่มีอาการแสดงชัดเจน) แล้วไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยผ่านเข้าไปทางรก ทำให้ทารกตายในครรภ์หรือตายหลังคลอด หรือไม่ก็อาจเกิดความพิการไปตลอดชีวิต เราเรียกซิฟิลิสที่เกิดในทารกในลักษณะนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (congenital syphilis) ซึ่งจะมีอาการแสดงภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยเด็กจะมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง มีผื่นขึ้น หนังลอกน่าเกลียด ซีด เหลือง บวม ตับโต ม้ามโต และถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมีความพิการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น จมูกบี้หรือยุบ (พูดไม่ชัด) เพดานโหว่ กระจกตาอักเสบ (อาจกลายเป็นแผลกระจกตา สายตาพิการได้) หูหนวก ฟันพิการ หน้าตาพิการ เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และทำการตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (เลือดบวก) ตรวจเชื้อจากน้ำเหลืองที่แผลหรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. สำหรับซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เบนซาทีนเพนิซิลลิน ฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว (สำหรับระยะที่ 2 อาจฉีดซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา) ถ้าแพ้ยานี้ อาจให้เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน นาน 15 วัน
2. สำหรับซิฟิลิสในระยะแฝง (เป็นมานานกว่า 2 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นแผลริมแข็ง) หรือแผลซิฟิลิสเรื้อรัง หรือซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular syphilis) ฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน เป็นจำนวน 3 ครั้ง ห่างกันทุก 1 สัปดาห์ ถ้าแพ้ยานี้ ให้เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน นาน 30 วัน
3. ในรายที่เป็นซิฟิลิสเข้าระบบประสาท (neurosyphilis) รักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี นาน 14 วัน ถ้าแพ้ยานี้ ให้ดอกซีไซคลีน นาน 30 วัน
4. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ให้รักษาตามระยะของโรคเหมือนผู้ป่วยทั่วไป ถ้าแพ้เพนิซิลลิน ให้อีริโทรไมซิน นาน 30 วัน
5. ซิฟิลิสแต่กำเนิด ฉีดเพนิซิลลินจี นาน 10 วัน
หากสงสัย เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นทั้งตัวและฝ่ามือฝ่าเท้า ผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิส ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- สงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. หลีกเลี่ยงการเที่ยวหรือการสำส่อนทางเพศ
2. ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย
3. ควรฟอกล้างด้วยสบู่หลังการร่วมเพศทันที
4. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะ 3 เดือนแรก ควรได้รับการรักษาแบบซิฟิลิสระยะแรก
5. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรตรวจกรองโรคด้วยการตรวจเลือด หากพบว่าเป็นซิฟิลิสแฝง แพทย์จะได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ทารก
1. สำหรับซิฟิลิสระยะ 1 และ 2 รวมทั้งระยะแฝง ภายใน 2 ปีแรกหลังการรักษา ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลเดือนละครั้งใน 3 เดือนแรก ต่อไปตรวจทุก 3 เดือนจนครบ 9 เดือน ต่อไปตรวจทุก 6 เดือนจนครบ 1 ปี (รวมทั้งหมด 2 ปี) เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาด โดยทั่วไปผลเลือดจะเป็นปกติภายใน 2 ปี
สำหรับซิฟิลิสระยะแฝงเกิน 2 ปี ซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด และซิฟิลิสที่เข้าระบบประสาท ควรตรวจวีดีอาร์แอลทุก 3 เดือนจนครบปีที่ 1 ต่อไปทุก 6 เดือนจนครบปีที่ 2 ต่อไปปีละ 1 ครั้งจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย
2. การวินิจฉัยซิฟิลิสต้องอาศัยการตรวจวีดีอาร์แอลเป็นสำคัญ จะดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ควรตรวจเลือดทุกราย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นซิฟิลิส หรือถ้าเป็นจะได้ให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
3. ผู้หญิงบางคนอาจติดเชื้อซิฟิลิสจากสามีที่ชอบเที่ยวโดยไม่มีอาการแสดงให้ทราบ และอาจติดให้ทารกในครรภ์ได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้น ในการฝากครรภ์ควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอลและควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีพร้อม ๆ กันไปทุกราย ถ้าเลือดบวกต้องแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อให้ทารกในครรภ์