บางครั้งอาจพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน ในโรงเรียน หรือวัด
เชื้อราพวกนี้สามารถทำให้เกิดโรคตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย
ถ้าพบที่ใบหน้า คอ ลำตัว แขนขา เรียกว่า กลากตามลำตัว (tinea corporis) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยกว่าชนิดอื่น ๆ
ถ้าพบที่ศีรษะ เรียกว่า กลากที่ศีรษะ (tinea capitis) ซึ่งพบมากในเด็ก แต่พบน้อยในผู้ใหญ่ อาจพบในหมู่พระภิกษุ เณร และแม่ชีที่ใช้มีดโกนร่วมกัน
ถ้าพบที่ขาหนีบ เรียกว่า สังคัง (tinea cruris) ซึ่งพบมากในคนที่ร่างกายอับชื้น หรือมีเหงื่อออกมาก ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า ผู้ป่วยเอดส์มักพบโรคกลากชนิดนี้ได้บ่อย
ถ้าพบที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า (athlete’s foot/tinea pedis) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่ทำให้อับชื้น นอกจากนี้ยังพบในคนที่เท้าเปียกน้ำบ่อย ๆ (เช่น ย่ำน้ำ) คนที่มีนิ้วเท้าบีบชิดกันตามธรรมชาติ ทำให้ง่ามนิ้วเท้าอับชื้นง่าย
ถ้าพบที่เล็บ เรียกว่า โรคเชื้อราที่เล็บ (เล็บเป็นเชื้อรา) หรือโรคกลากที่เล็บ (tinea unguium) เกิดจากการลุกลามของกลากจากส่วนอื่น หรือได้รับเชื้อมาจากร้านเสริมสวย ซึ่งใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดทำเล็บ
เกิดจากเชื้อราพวกเดอร์มาโตไฟต์ (dermatophyte) เชื้อนี้มีอยู่หลายชนิด ชอบเจริญอยู่เฉพาะในผิวหนังชั้นนอกสุด รวมทั้งเส้นผมและเล็บ
โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วย (เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ผ้าเช็ดตัว หวี) หรือติดมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือติดมาจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน (เช่น สุนัข แมว)
กลากตามลำตัว แรกเริ่มจะเป็นตุ่มแดง ๆ แล้วค่อย ๆ ลามออกไป จนมีลักษณะเป็นวงมีขอบเขตชัดเจน ขอบนูนเล็กน้อยและมีสีแดง มักมีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หรือขุยขาว ๆ อยู่รอบ ๆ วง วงนี้จะลุกลามขยายออกไปเรื่อย ๆ ส่วนผิวหนังที่อยู่ตรงกลาง ๆ วง จะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่ปกติ เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นก่อนและเริ่มหายแล้ว และอาจขึ้นเป็นวงติด ๆ กันหลายวง หรือเป็นวงซ้อนกัน มักมีอาการคันเล็กน้อย เมื่อเกามาก ๆ อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนได้
กลากที่ผิวหนัง
กลากที่ศีรษะ (เชื้อราที่ศีรษะ) มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ลักษณะเป็นวง ๆ สีเทา หนังศีรษะเป็นขุยขาว ๆ และมีปลายเส้นผมที่หักคาเป็นปลายสั้น ๆ หรือเป็นจุดดำ ๆ มักมีอาการคัน
ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จะมีเม็ดหนองเกิดขึ้นรอบ ๆ ขุมขน และลุกลามเป็นก้อนนูนใหญ่แล้วแตกออก มีน้ำเหลืองเกรอะกรัง เรียกว่า ชันนะตุ เมื่อหายแล้วมักจะเป็นแผลเป็น ซึ่งไม่มีผมงอกอีกเลย
กลากที่ศรีษะ
สังคัง (เชื้อราที่ขาหนีบ) แรกเริ่มจะเป็นตุ่มแดง ๆ ที่ต้นขาหรือขาหนีบ แล้วลุกลามเป็นวงไปที่ต้นขาด้านใน และอวัยวะเพศภายนอก (อัณฑะหรือปากช่องคลอด) หรืออาจลามไปที่ก้น เป็นผื่นมีลักษณะสีแดง มีเกล็ดขาว ๆ และขอบชัดเจน บางรายอาจลุกลามรวมกันเป็นวงขนาดใหญ่ ลักษณะพระจันทร์ครึ่งซีก มีอาการคัน และมักเป็นทั้ง 2 ข้าง
บางรายอาจเกาจนมีน้ำเหลืองเฟะ หรือผิวหนังหนา
เมื่อหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ มักเป็นในช่วงหน้าร้อนเพราะมีเหงื่ออับชื้น การใส่กางเกงรัดแน่นเกินไป หรือคนที่อ้วนมาก ๆ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
ฮ่องกงฟุต (เชื้อราที่เท้า) มักเป็นที่ง่ามเท้าที่ 3, 4 และ 5 จะขึ้นเป็นขุยขาว ๆ และยุ่ย ต่อมาลอกเป็นแผ่นหรือเกล็ด แล้วแตกเป็นร่องและมีกลิ่น
ถ้าแกะลอกขุยขาว ๆ ที่เปื่อยยุ่ยออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดง ๆ และมีน้ำเหลืองซึม
มักมีอาการคันยิบ ๆ ร่วมด้วย
บางรายอาจลามไปที่ฝ่าเท้าหรือเล็บเท้า มีอาการฝ่าเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเป็นตุ่มพองใหญ่และคันมาก
โรคกลากที่เล็บ ถ้าเป็นที่เล็บเท้ามักเกิดจากโรคฮ่องกงฟุตที่เป็นเรื้อรัง จะเป็นที่นิ้วก้อยมากกว่านิ้วอื่น ๆ เล็บจะด้านไม่เรียบตรง และมีลักษณะขุ่น ต่อมาเล็บจะหนาขึ้น และผุกร่อนทั้งเล็บ
ถ้าเป็นที่เล็บมือ มักมีอาการของโรคเชื้อราที่บริเวณอื่นมาก่อน หรือติดเชื้อจากร้านเสริมสวย (แต่งเล็บด้วยเครื่องมือไม่สะอาด) เล็บจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง น้ำตาล ขาวขุ่น ๆ เป็นหย่อม ๆ ทำให้มีลักษณะขรุขระและยุ่ย เล็บจะแยกจากหนังใต้เล็บ ถ้าเป็นมากเล็บจะผุกร่อนทั้งเล็บ บางรายอาจพบเป็นเกือบทุกเล็บ
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
ที่พบบ่อยคือ เชื้อราอาจแพร่กระจายไปหลายจุด
หากมีการเกาจนผิวหนังมีรอยแผล อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นโรคกลากที่ศีรษะ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งไม่มีผมงอก
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจลักษณะของรอยโรค
หากไม่แน่ใจ จะทำการวินิจฉัยโดยการขูดเอาขุย ๆ ของผิวหนังส่วนที่เป็นโรค ใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นกลากจะตรวจพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าเป็นที่ลำตัว แขนขา ขาหนีบ ง่ามเท้า หรือฝ่าเท้า ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมรักษาโรคเชื้อรา (เช่น โคลไตรมาโซล คีโทโคนาโซล) วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันนาน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อรอให้ผิวหนังที่ปกติงอกขึ้นมาแทนที่
ในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือแผ่บริเวณกว้าง อาจต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน เช่น กริซีโอฟุลวิน (griseofulvin) นาน 4-6 สัปดาห์ หรือไอทราโคนาโซล (itraconazole) นาน 7-15 วัน
สำหรับผู้ป่วยฮ่องกงฟุต ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้อับชื้น ควรใส่รองเท้าสานโปร่ง (เปิดเล็บเท้า) แทนการสวมถุงเท้าและรองเท้าอย่างมิดชิด
2. ถ้าเป็นเชื้อราที่ศีรษะ ให้กินยาฆ่าเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน นาน 4-6 สัปดาห์ หรือไอทราโคนาโซล นาน 4 สัปดาห์
ควรตัดผมให้สั้น สระผมด้วยแชมพูคีโตโคนาโซล สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
3. ถ้าเป็นที่เล็บมือ ให้กินกริซีโอฟุลวิน นาน 4-9 เดือน หรือไอทราโคนาโซล นาน 2 เดือน บางครั้งอาจต้องถอดเล็บและทาครีมรักษาโรคเชื้อรา
4. ถ้าเป็นที่เล็บเท้า ให้ไอทราโคนาโซล นาน 3 เดือน บางครั้งอาจต้องถอดเล็บและทาครีมรักษาโรคเชื้อรา
1. ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลากที่ลำตัว แขนขา ขาหนีบ ง่ามเท้า หรือฝ่าเท้า ควรดูแลตนเองดังนี้
- ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือครีมรักษาโรคเชื้อรา (ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร) วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าดีขึ้นควรทาติดต่อกันทุกวันนาน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อรอให้ผิวหนังที่ปกติงอกขึ้นมาแทนที่
- ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือรอยโรคลุกลามมากขึ้น หรืออักเสบเป็นหนอง หรือมีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
2. ถ้าสงสัยเป็นกลากที่ศีรษะ (ผมร่วงเป็นหย่อมเป็นวงสีเทา ๆ) หรือที่เล็บ (เล็บผุกร่อน) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคกลาก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา ใช้ยารักษาเชื้อรา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัดจนกว่าจะหายขาด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1 สัปดาห์
- รอยโรคลุกลามมากขึ้น หรืออักเสบเป็นหนอง
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. อย่าคลุกคลีหรือใช้ของ (เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น) ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคนี้
2. อาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเช็ดตัวให้แห้ง ระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ
3. หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรืออบเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอากาศร้อน หรือมีเหงื่อออกง่าย
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข แมว) ที่เป็นขี้กลาก
5. สำหรับโรคสังคัง อาจป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการใช้กางเกงในที่รัดแน่นหรืออบเกินไป ถ้าอ้วนควรลดความอ้วน หลังอาบน้ำควรเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง และใช้แป้งธรรมดาโรย
6. สำหรับโรคฮ่องกงฟุต อาจป้องกันได้โดยอย่าใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้น ควรใส่ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงถุงเท้าที่ทำจากไนลอนหรือใยสังเคราะห์ซึ่งอบเกินไป หลังอาบน้ำควรเช็ดบริเวณง่ามเท้าให้แห้ง ถ้าซอกเท้าเปียกน้ำ (เช่น ย่ำน้ำ) หรือมีเหงื่อออกมาก ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
1. โรคเชื้อราอาจพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือกินยารักษามะเร็งเป็นประจำ เป็นต้น ถ้าพบผู้ที่เป็นโรคเชื้อราเรื้อรัง ควรค้นหาสาเหตุและแก้ไข
2. หลีกเลี่ยงการซื้อยาครีมสเตียรอยด์ (แก้แพ้แก้คัน) หรือยาอื่นที่ไม่ใช่ยารักษาเชื้อรา หรือยารักษา
โรคกลากเกลื้อนที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำมาใช้เอง เนื่องเพราะครีมสเตียรอยด์อาจทำให้โรคลุกลามได้ ส่วนยาน้ำที่ทาแล้วที่รู้สึกแสบ ๆ อาจทำให้ผิวหนังไหม้และอักเสบได้
3. หากสงสัยโรคเชื้อราที่เล็บ (เล็บผุกร่อน) ลองให้ยารักษาโรคเชื้อราแล้วไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจ
เป็นโรคโซริอาซิส (อ่าน "โรคโซริอาซิส/โรคสะเก็ดเงิน/โรคเกล็ดเงิน" เพิ่มเติม)