โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุทางเดินอาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ "โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (ulcerative colitis/UC)" และ "โรคโครห์น (Crohn’s disease/CD)" ซึ่งมีอาการ ปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระมีเลือดหรือมูกปนแบบเรื้อรัง
โรคกลุ่มนี้พบบ่อยในประเทศทางตะวันตก ปัจจุบันเริ่มพบได้ในหมู่คนเอเซียและคนไทย
พบได้ในทุกกลุ่มวัย แต่มักตรวจพบในกลุ่มอายุ 15-30 ปี และ 50-70 ปี
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบว่ามีการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองหรือออโตอิมมูน (autoimmune) เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ทั้งกรรมพันธุ์ พฤติกรรม (เช่น การสูบบุหรี่) และสิ่งแวดล้อม (รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย)
ถ้ามีการอักเสบที่จำกัดอยู่เฉพาะในลำไส้ใหญ่ เรียกว่า โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ถ้ามีการอักเสบที่จุดใดจุดหนึ่งหรือหลายจุดตลอดแนวทางเดินอาหาร (ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก) เรียกว่า "โรคโครห์น"
พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าปกติ ได้แก่ การมีประวัติโรคกลุ่มนี้ในครอบครัว (มีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคกลุ่มนี้), การกินยากลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน ไดโคลฟีแนก (นอกจากเพิ่มการเป็นโรคแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่ก่อนมีอาการกำเริบรุนแรงขึ้น), การสูบบุหรี่ (เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโครห์น)
ผู้ป่วยมักมีอาการที่หลากหลายตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็นและความรุนแรงของโรค และมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งบางครั้งกำเริบรุนแรง โดยมีช่วงที่ปลอดจากอาการสลับกับช่วงที่มีอาการ
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวดเกร็งในท้อง ท้องเดิน (อาจถ่ายเป็นน้ำรุนแรงหรือถ่ายบ่อย วันละ 10-20 ครั้ง รวมทั้งลุกขึ้นถ่ายตอนกลางคืน) อุจจาระมีเลือดหรือมูกปน
นอกจากนี้ อาจมีอาการถ่ายออกเป็นเลือดสด (เนื่องจากมีแผลที่ลำไส้ ทำให้มีเลือดออก) ซีด (จากการเสียเลือด) มีไข้ ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้ามาก เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด (โดยไม่ตั้งใจ)
สำหรับโรคโครห์น บางรายอาจมีอาการเป็นแผลในช่องปาก (แผลแอฟทัส) บริเวณอวัยวะเพศ หรือรอบทวารหนัก
หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมกันสำหรับทั้ง 2 โรค (UC และ CD) เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ท่อน้ำดีอักเสบและตีบตัน ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ ผลข้างเคียงจากยาที่รักษา (เช่น สเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน) ภาวะขาดน้ำจากท้องเดินรุนแรง เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนสำหรับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (UC) เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่พองชนิดร้าย (toxic megacolon) ลำไส้ใหญ่ทะลุ เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนสำหรับโรคโครห์น (CD) เช่น ลำไส้อุดกั้น ภาวะทุพโภชนาการ แผลปริที่ขอบทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งถ้ามีอาการเล็กน้อยอาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน นอกจากบางรายอาจมีไข้ ในรายที่เป็นมากหรือเรื้อรังอาจพบภาวะซีด น้ำหนักลด
แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหาร (และนำชิ้นเนื้อไปตรวจ) เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่หล็กไฟฟ้า/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะทำการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา
ในรายที่อาการเล็กน้อย แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ และแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การคลายเครียด การไม่สูบบุหรี่ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของโรค
ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะให้ยาควบคุมการอักเสบ ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม อาทิ ยาต้านการอักเสบ (เช่น สเตียรอยด์, mesalazine, sulfasalazine), ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น azathioprine, cyclosporine, methotrexate), ยาชีววัตถุ (biologics เช่น infliximab, adalimumab, vedolizumab)
นอกจากนี้ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้, ยาแก้ท้องเดิน (เช่น โลเพอราไมด์), ยาปฏิชีวนะ (เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน เมโทรไนดาโซล) ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย, ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีภาวะซีด, โภชนบำบัดในรายที่น้ำหนักลดมาก, การผ่าตัด (เช่น ลำไส้ทะลุ มะเร็งลำไส้ ฝีคัณฑสูตร ลำไส้มีเลือดออกมาก หรือลำไส้อักเสบรุนแรง และใช้ยารักษาไม่ได้ผล)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่การรักษาด้วยยาเป็นการบรรเทาอาการและควบคุมการอักเสบ ซึ่งอาการมักดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่เนื่องจากโรคนี้มักเป็นเรื้อรังไม่หายขาด จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ก็จะทำการแก้ไขให้ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์
ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- ดูแลรักษา กินยา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
- ควรกินอาหารวันละ 5-6 มื้อ แต่ละมื้อลดปริมาณลงเหลือครึ่งหนึ่งของปกติ
- สังเกตว่ามีอาหารชนิดใดที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ (เช่น อาหารรสเผ็ด อาหารมัน อาหารที่มีกากใยสูง นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล) แล้วหลีกเลี่ยงเสีย
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- ไม่สูบบุหรี่
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องเดินรุนแรง ถ่ายเป็นเลือดสดปริมาณมาก ซีด อ่อนล้ามาก เบื่ออาหาร หรือมีภาวะขาดน้ำ
- มีความวิตกกังวลหรืออารมณ์ซึมเศร้า
- ขาดยาหรือยาหาย
- มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
1. ผู้ที่มีอาการท้องเดินเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด อาจมีสาเหตุจากโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งมักมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (ซึ่งมักมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า) หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ (ตรวจอาการ "ท้องเดินเรื้อรัง" เพิ่มเติม)
2. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แม้ว่าจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ไม่หายขาด แต่การได้รับการวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ ติดตามรักษาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็สามารถมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้