อาการเมารถเมาเรือ ในที่นี้หมายรวมถึงเมาเครื่องบิน เมาเครื่องเล่นที่มีการหมุนหรือเคลื่อนไหว ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า "อาการเมาจากการเคลื่อนไหว (motion sickness)" ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะนั่งรถหรือนั่งเรือ จึงขอเรียกว่า "อาการเมารถเมาเรือ"
อาการนี้เป็นภาวะที่ไม่ร้ายแรง และมักจะหายได้เองหลังจากลงจากยานพาหนะหรือเครื่องเล่นสักพัก โดยไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นในรายที่อาการรุนแรง หรือพักอยู่นานแล้วยังไม่ทุเลา อาจต้องใช้ยาบรรเทาหรือไปปรึกษาแพทย์
มักพบบ่อยในเด็กอายุ 2-12 ปี พบน้อยลงในวัยผู้ใหญ่ และพบน้อยมากในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบว่าผู้หญิงมีโอกาสเกิดอาการนี้มากกว่าผู้ชาย
ผู้ที่มีประวัติว่าพ่อหรือแม่มีอาการเมารถในวัยเด็ก ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน ใช้ยาคุมกำเนิด หรือตั้งครรภ์ ผู้ที่มีประวัติเป็นไมเกรน โรคพาร์กินสัน หรือมีความผิดปกติของหูชั้นใน (เช่น โรคเมเนียส์) มีโอกาสเกิดอาการเมารถเมาเรือมากกว่าคนปกติทั่วไป
เกิดจากระบบรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยหูชั้นใน ดวงตา กล้ามเนื้อและข้อ ทำงานไม่ประสานกัน ทำให้สมองเกิดความสับสนระหว่างสัญญาณรับรู้การเคลื่อนไหวจากหูชั้นใน สัญญาณการมองเห็นจากดวงตา และสัญญาณรับรู้ตำแหน่งของร่างกายจากกล้ามเนื้อและข้อ (เช่น เวลานั่งรถนั่งเรือ หูชั้นในรับรู้ว่าร่างกายเคลื่อนที่ไปกับรถ ตามองเห็นภาพต้นไม้ที่มีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อและข้อรับรู้ว่าร่างกายกำลังอยู่นิ่ง ๆ) ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งมักถูกกระตุ้นจากการนั่งยานพาหนะหรือเครื่องเล่นที่โคลงเคลงหรือเหวี่ยงไปมา มักเกิดกับผู้ที่มีประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายในหูชั้นในมีความไวกว่าปกติ
ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะนั่งยานพาหนะหรือสิ่งที่เคลื่อนไหว เช่น รถยนต์ รถไฟ เรือ เครื่องบิน เครื่องเล่นผาดโผนในสวนสนุก เป็นต้น หรือเกิดขึ้นเวลาอ่านหนังสือขณะนั่งรถที่กำลังวิ่ง
ส่วนมากจะมีอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้หรือรู้สึกผะอืดผะอม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือมึนศีรษะ อาจมีอาการอื่น ๆ (เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น หน้าซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ มีน้ำลายมาก ง่วงนอน หาว ถอนหายใจ) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการอาเจียนตามมา
หลังจากพาหนะหยุดเคลื่อนไหว (เช่น จอดรถ) หรือลงจากยานพาหนะหรือเครื่องเล่น อาการก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เองภายในเวลาสั้น ๆ หรือภายใน 2-3 ชั่วโมง และจะหายเป็นปกติดีภายในเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่มีอาการอาเจียนติดต่อกันนาน อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ หากปล่อยไว้ไม่แก้ไข อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรง อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารฉีกขาด (esophageal tear)
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและสาเหตุกระตุ้นเป็นหลัก และทำการตรวจร่างกาย รวมทั้งตรวจตาและหู โดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม ยกเว้นในรายที่สงสัยมีสาเหตุจากโรคอื่น
หากอาการเล็กน้อยหรือทุเลาดีแล้ว และไม่สงสัยว่าจะมีสาเหตุจากโรคอื่น ก็จะให้คำแนะนำในการป้องกัน และอาจให้ยาแก้เมารถเมาเรือ (เช่น ยาเม็ดไดเมนไฮดริเนต, แผ่นแปะแก้เมารถเมาเรือที่มีตัวยาสโคโพลามีน) ไว้ใช้ป้องกันในการเดินทางครั้งต่อไป
หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ก็อาจจะให้ยาแก้เมารถเมาเรือ เช่น ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), สโคโพลามีน (scopolamine) ซึ่งมีวิธีใช้และผลข้างเคียงต่างกัน โดยแพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วย
ในรายที่ตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไมเกรน (Migraine), พาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease/Endolymphatic hydrops), โรคเกี่ยวกับหูชั้นใน เป็นต้น ก็จะให้การดูแลรักษาโรคที่ตรวจพบ
ถ้ามีอาการเมารถเมาเรือเกิดขึ้น ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ขอย้ายมานั่งอยู่แถวหน้าของรถ หรือที่นั่งตรงกลางลำเรือ หรือที่นั่งติดหน้าต่างตรงกับแนวปีกเครื่องบิน
- นั่งศีรษะตรง พิงพนักที่นั่ง ประคองให้ศีรษะอยู่นิ่ง ๆ
- หยุดอ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เมื่อรู้สึกมีอาการเมา)
- เปิดหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศให้ลมเข้า เปิดให้มีลมจากเครื่องปรับอากาศพัดถูกใบหน้าให้รู้สึกสดชื่น
- หลับตาสักพัก เมื่อลืมตาให้มองตรงไปด้านหน้าไกล ๆ อย่ามองผ่านหน้าต่างด้านข้าง
- หายใจเข้าออกลึก ๆ และตามดูลมหายใจแบบทำสมาธิ
- ดมยาดม จิบน้ำขิง อมลูกอมรสขิง หรือเคี้ยวขิงแห้งหรือขิงสด (ถ้ามี)
- ถ้าไม่ทุเลา ควรจอดรถลงมาแวะนั่งพักในที่อากาศดี หรือนอนลงบนเรือโดยสารที่มีที่พอ โดยหันศีรษะไปทางหัวเรือ
- ถ้ากำลังเล่นเครื่องเล่น ขอหยุดเล่นเครื่องเล่น ลงมานั่งพักในที่อากาศดี
- ถ้ายังไม่ทุเลา หรือมีอาการคลื่นไส้มากหรืออาเจียน กินยาแก้เมารถ (เช่น ไดเมนไฮดริเนต, สโคโพลามีน) ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลตนเอง และลงจากยานพาหนะหรือเครื่องเล่นแล้วยังไม่ทุเลา หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- ดื่มน้ำไม่ได้หรือได้น้อย จนมีภาวะขาดน้ำ (ปากคอแห้ง ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลีย ใจสั่น)
- สงสัยว่ามีสาเหตุเกิดจากโรค เช่น ไมเกรน (Migraine), พาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease/Endolymphatic hydrops) หรือโรคของหูชั้นใน
- มีอาการนานเกิน 24 ชั่วโมง หรือเป็นถี่ขึ้นหรือแรงขึ้นกว่าเดิม
ผู้ที่เคยมีอาการเมารถเมาเรือ มีโอกาสกำเริบได้บ่อย ควรหาทางป้องกันดังนี้
- เวลานั่งรถยนต์ ควรเป็นผู้ขับเอง ถ้าเป็นผู้โดยสาร ควรเลือกที่นั่งแถวหน้า สายตามองไปข้างหน้าไกล ๆ หลีกเลี่ยงการมองผ่านหน้าต่างด้านข้าง เห็นภาพต้นไม้ รถรา หรือภาพวิวข้างทางซึ่งเคลื่อนตัวเร็ว ทำให้เมาง่าย
- หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่แถวหลัง หรือนั่งหันหน้าไปข้างหลัง
- ควรเปิดหน้าต่างรถหรือช่องระบายอากาศเป็นครั้งคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พัดเอาลมข้างนอกเข้ามาทำให้รู้สึกสดชื่น
- ควรตั้งศีรษะตรง พิงพนักที่นั่ง ประคองให้ศีรษะอยู่นิ่ง ๆ และไม่ควรฟุบหน้าหรือเอนศีรษะ อาจทำให้เมารถง่าย
- ควรหยุดรถแวะพัก เปลี่ยนอิริยาบถและสูดอากาศสดชื่นเป็นพัก ๆ
- เวลานั่งรถไฟ เลือกที่นั่งแถวหน้า ติดหน้าต่าง และหันหน้าไปข้างหน้า อย่านั่งหันกลับหลัง
- เวลานั่งเรือ ควรนั่งตรงกลางลำ หรือด้านหน้าของดาดฟ้าชั้นบน และมองไปไกล ๆ ดูเส้นสุดขอบฟ้า หลีกเลี่ยงการมองดูคลื่นน้ำเคลื่อนไหวที่อยู่ใกล้
- เวลานั่งเครื่องบิน ควรเลือกที่นั่งติดหน้าต่าง ตรงกับแนวปีกเครื่องบิน และเปิดให้มีลมจากเครื่องปรับอากาศพัดถูกใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ ดูโทรศัพท์มือถือ หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเดินทาง
- ก่อนออกเดินทางควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรกินอาหารแต่พออิ่ม (อย่าอิ่มเกิน) เว้นห่างจากเวลาออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมัน ๆ และของทอด
- งดชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ก่อนและขณะเดินทาง ควรจิบน้ำเป็นพัก ๆ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ควรสวมแว่นกันแดดระหว่างเดินทาง
- กินยาป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เช่น ไดเมนไฮดริเนต ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที-1 ชั่วโมง หรือใช้แผ่นแปะแก้เมารถเมาเรือที่มีตัวยาสโคโพลามีนก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
1. อาการเมารถเมาเรือส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองภายในไม่นาน โดยไม่ต้องใช้ยารักษา ส่วนน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นบ่อย อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น ไมเกรน (Migraine), พาร์กินสัน (Parkinson’s disease), โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease/Endolymphatic hydrops) หรือโรคของหูชั้นใน หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์
2. เด็กที่มีอาการเมารถเมาเรือบ่อย และมีพ่อหรือแม่เป็นไมเกรน อาจเป็นอาการของไมเกรนโดยไม่มีอาการปวดศีรษะ เมื่ออายุมากขึ้นมักจะมีอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนตามมาได้
3. ในการป้องกันไม่ให้เมารถเมาเรือ ควรเน้นการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องใช้ยาแก้เมารถเมาเรือ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น ไดเมนไฮดริเนต อาจทำให้ง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่ามัว ใจสั่น ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น ส่วนสโคโพลามีน นอกจากมีอาการคล้ายไดเมนไฮดริเนต (แต่จะง่วงน้อยกว่า) แล้ว ยังไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และห้ามใช้ในผู้ที่เป็นต้อหิน หรือต่อมลูกหมากโต