โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งพบมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ในช่วงปลายปี 2562 (ปี ค.ศ. 2019) โดยตอนแรกพบผู้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาสามารถพิสูจน์ว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จึงเรียกชื่อว่า "โรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" เมื่อพบมีการระบาดไปในหลายประเทศ องค์การอนามัยโลกจึงเรียกว่า "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (Coronavirus disease 2019)" เรียกย่อว่า "โรคโควิด-19 (COVID-19)"
ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาการระบาดได้ลุกลามไปทั่วโลก จัดว่าเป็น "โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (global pandemic)" ซึ่งพบใน 200 กว่าประเทศ*
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา การระบาดของโรคนี้ได้ลดความร้ายแรงลง ประเทศต่าง ๆ ถือว่าโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคลง และประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติแบบเดียวกับช่วงก่อนการระบาด
*สถิติที่รายงานเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดย COVID - Coronavirus Statistics-Worldometer (worldometers.info) มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นกว่า 699.24 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 6.95 ล้านราย
โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจชนิดรุนแรง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ซึ่งมีชื่อว่า Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 (SARS-CoV-2)* สามารถติดต่อจากคนสู่คนอย่างง่ายดายแบบไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ ด้วยส่วนมากติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก/น้ำลายขนาดใหญ่ ที่ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือหายใจรดใส่เวลาพูดคุยหรือส่งเสียงร้อง (ร้องเพลง ตะโกน) การแพร่เชื้อโดยวิธีนี้เรียกว่า "การติดต่อผ่านฝอยละออง (droplet transmission)" ซึ่งสามารถกระจายออกไปภายในรัศมีไม่เกิน 1 เมตร
การติดต่อที่พบได้บ่อยอีกวิธีหนึ่ง คือ การติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ ฝอยละอองเสมหะ/น้ำลายขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าจะลอยในอากาศ ซึ่งผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อปล่อยออกมานั้นจะตกลงบนพื้นผิวต่าง ๆ หรือมือของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อที่ปนเปื้อนเสมหะ/น้ำลายของตัวเอง เผลอไปสัมผัสถูกมือของผู้อื่น หรือไปจับต้องวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ (ซึ่งเชื้อมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นชั่วโมง ๆ บางกรณีอาจนานถึง 72 ชั่วโมง) เมื่อคนปกติเกิดไปสัมผัสมือผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ วัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ แล้วเผลอนำมือที่เปื้อนเชื้อนั้นไปสัมผัสหน้า ตา จมูก ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ การติดต่อโดยการสัมผัส ผู้สัมผัสเชื้อไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน จึงสามารถแพร่เชื้อไปสู่คนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าการอยู่ในพื้นที่หรือห้องที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ฝอยละอองเสมหะ/น้ำลายขนาดเล็กมาก (น้อยกว่า 5 ไมครอน) หรือฝอยละอองเสมหะ/น้ำลายที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็ก ซึ่งผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อปล่อยออกมาสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานเป็นชั่วโมง ๆ และกระจายไปได้ไกลกว่า 1 เมตร เมื่อคนปกติสูดเอาฝอยละอองนี้เข้าไปก็เกิดการติดเชื้อได้ การแพร่เชื้อโดยวิธีนี้เรียกว่า "การติดต่อผ่านอากาศ (airborne transmission)" ซึ่งพบว่าโรคโควิด-19 มีการติดต่อโดยวิธีนี้เป็นส่วนน้อย
ระยะฟักตัว ระยะที่นับจากวันที่ติดเชื้อจนมีอาการป่วยไข้ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2-14 วัน ส่วนน้อยอาจมีระยะฟักตัวมากกว่า 14 วันขึ้นไป**
ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟักตัว (เรียกว่า "ผู้ป่วยก่อนมีอาการ" หรือ "presymptomatic") สามารถแพร่เชื้อได้ ตั้งแต่ 48 ชั่วโมงก่อนแสดงอาการ
นอกจากนี้ มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยของโรคนี้แต่อย่างใดเลย (เรียกว่า "ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ" หรือ "asymptomatic" ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 20-30 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ก็สามารถแพร่เชื้อได้
การติดเชื้อราวครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) เป็นการติดมาจากผู้ที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งหมายรวมถึงผู้ป่วยก่อนมีอาการและผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ
*กลุ่มไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคในคนทุกปีมาแต่นานนม มีอยู่ 4 สายพันธุ์ อันเป็นสาเหตุของการเกิดไข้หวัดธรรมดาที่พบในคนทั่วไป ซึ่งมีความรุนแรงไม่มาก และคนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสพวกนี้
แต่ต่อมาเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ได้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด ได้แก่ ไวรัสโคโรนาซาร์ส (SARS-CoV, Severe acute respiratory syndrome coronavirus) ซึ่งทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส (SARS, Severe acute respiratory syndrome) ในปี 2545 และไวรัสโคโรนาเมอร์ส (MERS-CoV, Middle East respiratory syndrome coronavirus) ซึ่งทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (MERS, Middle East Respiratory Syndrome) ในปี 2555
โรค 2 ชนิดนี้มีความรุนแรงทั้งคู่ โดยมีอัตราการเสียชีวิตถึงประมาณร้อยละ 11 สำหรับโรคซาร์ส (มีผู้ป่วยในมากกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,422 ราย เสียชีวิตราว 916 ราย) และประมาณร้อยละ 34 สำหรับโรคเมอร์ส (มีผู้ป่วยใน 27 ประเทศ รวมทั้งสิ้นราว 2,500 ราย เสียชีวิตราว 850 ราย)
เมื่อปลายปี 2562 เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาชนิดที่ 7 เรียกว่า "โรคโควิด-19 (COVID-19)" และเรียกไวรัสตัวใหม่นี้ว่า ไวรัสโคโรนาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่สอง (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2, SARS-CoV-2) เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส แต่มีความรุนแรงและการระบาดของโรคต่างจากโรคซาร์ส
ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้มาจากไหน สันนิษฐานว่าอาจติดมาจากตัวนิ่ม ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้จากค้างคาวมาสู่คน
**มีรายงานการศึกษาที่อู่ฮั่นว่า มีค่ามัธยฐานของระยะฟักตัว 5.1 วัน (หมายความว่าผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมีระยะฟักตัวน้อยกว่า 5.1 วัน และครึ่งหนึ่งมีระยะฟักตัวมากกว่า 5.1 วัน) และร้อยละ 97.5 ของผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้นภายใน 11.5 วัน
ผู้ติดเชื้อบางรายไม่มีอาการผิดสังเกตแต่อย่างใดเลย แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้
ส่วนผู้ติดเชื้อกลุ่มที่มีอาการ เริ่มแรกจะมีอาการไข้ (มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส) อ่อนเพลีย ตามมาด้วยอาการไอแห้ง ๆ เป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ไอมีเสมหะ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามข้อหรือกล้ามเนื้อ หนาวสั่น เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก ใจสั่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน
บางรายอาจไม่มีอาการเป็นไข้ตัวร้อน แต่มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คล้ายเป็นหวัดธรรมดา บางรายอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง หรือผื่นขึ้นร่วมด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ราวร้อยละ 80) มีอาการเพียงเล็กน้อย คล้ายเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และหายได้เอง
ส่วนน้อย (ราวร้อยละ 20) มีอาการรุนแรง คือหลังมีไข้ ไอ ได้ราว 1 สัปดาห์ อาจเกิดปอดอักเสบแทรกซ้อน (มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงร่วมด้วย) หรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
โรคโควิด ถึงแม้จะเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่เชื้อไวรัสโควิดยังกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่รุนแรง (ไวรัสกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันหลั่งสารที่มีชื่อว่า "ไซโทคีน (cytokine)" ออกมาปริมาณมาก เรียกว่า "ภาวะพายุไซโทไคน์ (cytokine storm)" ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออวัยวะหลายระบบของร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย
ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่
- ปอดอักเสบชนิดร้ายแรง กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย
- ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะช็อกจากการติดเชื้อ
- โรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
- โรคเลือดและหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดฝอยมีลิ่มเลือด (thrombosis) ซึ่งอาจพบในหัวใจ ปอด ตับ ไต, ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC, disseminated intravascular coagulation), ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ (thromboembolism) เช่น หลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด (deep vein thrombosis) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism) ที่ร้ายแรงตามมาได้
- โรคระบบประสาทและสมอง เช่น ชัก เดินเซ สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง (ตีบหรือแตก) อัมพาตครึ่งซีก กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ไมแอสทีเนียเกรวิส โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
- โรคตับเฉียบพลัน (acute liver injury) ซึ่งมีความผิดปกติได้หลายอย่าง รวมทั้งตับวาย
- โรคไตเฉียบพลัน (acute kidney injury) ซึ่งมีความผิดปกติได้หลายอย่าง รวมทั้งไตวาย
- ในเด็กพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ก็มีบางรายที่อาจเกิดกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (multisystem inflammatory syndrome in children/MIS-C) แทรกซ้อน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงทำให้เสียชีวิตได้
เนื่องจากโรคโควิด-19 มีอาการและสิ่งตรวจพบคล้ายโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) จากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสชนิดอื่น ๆ จึงไม่อาจวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบได้
หากสงสัย เช่น มีประวัติสัมผัสโรค เดินทางไปหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือเป็นกลุ่มที่มีอาชีพหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 เแพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (เชื้อโควิด-19) จากสารคัดหลั่งที่จมูกหรือลำคอของผู้ป่วยซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้ไม้ป้ายจมูกหรือคอ (nasal/throat swab) และทำการตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า "Reverse transcription-polymerase chain reaction (RT-PCR)"
นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจดูภาวะแทรกซ้อน เช่น เอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ตรวจดูอาการปอดอักเสบ) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
1. ในรายที่ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีอาการและรู้สึกสบายดี ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่นอยางน้อย 5 วัน และสังเกตอาการ โดยไม่ต้องให้ยารักษา
2. ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นปอดอักเสบ และไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรง* ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการทั้งหมด และมักจะหายจากโรคได้เองโดยไม่ต้องให้ยารักษา หรือเพียงให้ยารักษาตามอาการแบบเดียวกับการรักษาไข้หวัด (เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ เป็นต้น) และแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่นอย่างน้อย 5 วัน
ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถพักรักษาตัวเองและเฝ้าดูอาการอยู่ที่บ้าน และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่นอย่างน้อย 5 วัน
3. ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่รุนแรง* หรือผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง (ซึ่งยังไม่ต้องให้ออกซิเจน) แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (nirmatrelvir/ritonavir, remdesivir หรือ molnupiravir) ซึ่งมีขนาด วิธีใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวังยาที่แตกต่างกัน แพทย์จะเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยพิจารณาให้เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย และจะต้องให้ภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี
โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาเม็ด nirmatrelvir/ritonavir (เป็นยาต้านไวรัส 2 ชนิดรวมในเม็ดเดียว มีชื่อการค้าว่า Paxlovid) กิน 5 วัน ยานี้มีประสิทธิภาพดีในการรักษา แต่มีข้อเสียคือ ไม่ควรกินร่วมกับยาอื่นจำนวนมาก เพราะอาจมีปฏิกิริยาต่อกัน จนเกิดผลลบต่อร่างกายหรือการรักษาได้, ยา remdesivir เป็นยาที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ วันละครั้ง 3 วัน ซึ่งมีความไม่สะดวก, ส่วนยาเม็ด molnupiravir ให้กิน 5 วัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพด้อยกว่าอีก 2 ชนิดข้างต้น จะใช้เมื่อไม่สามารถใช้ยาดังกล่าว มีข้อดีคือ ใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ ได้ แต่มีข้อเสียคือ ไม่ควรใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร
4. แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีไข้ตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป วัดได้อย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยวัดห่างกัน 4 ชั่วโมง
- มีภาวะขาดออกซิเจน มีค่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95% (มีค่าเท่ากับหรือต่ำกว่า 94%)
- เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และขาดคนดูแลได้ตลอดเวลา
- มีภาวะแทรกซ้อน หรือมีการกำเริบของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม
- มีภาวะอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยเด็ก ที่มีภาวะที่จำเป็นต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือให้ออกซิเจน มีอาการซึม ชัก ท้องเดิน อาเจียน กินไม่ได้ ขาดน้ำ เป็นต้น
แพทย์จะทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อประเมินความรุนแรง และค้นหาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
การรักษา แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (nirmatrelvir/ritonavir, remdesivir หรือ molnupiravir) อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 และยาสเตียรอยด์ (เช่น เดกซาเมทาโซน เพร็ดนิโซโลน) เพื่อลดปฏิกิริยาการอักเสบ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบรุนแรงในผู้ใหญ่ หรือในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีอาการหายใจเร็วผิดปกติ (อายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที, 2-12 เดือน หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที, 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที, มากกว่า 5 ปี หายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อนาที) และต้องให้ออกซิเจนในการรักษา แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส remdesivir และยาสเตียรอยด์
นอกจากนี้ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ และทำการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่ตรวจพบ เช่น ให้น้ำเกลือ, ให้ออกซิเจน, ใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (extracorporeal membrane oxygenation/ECMO), ให้ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน (รวมทั้งภาวะโลหิตเป็นพิษ), ให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น เฮพาริน) ในรายที่มีสัญญาณของการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ทำการล้างไต (dialysis) ในรายที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น
ผลการรักษา ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่รุนแรง จะหายเป็นปกติได้ในราว 2 สัปดาห์หลังมีอาการ
ในรายที่มีอาการรุนแรง จะหายเป็นปกติได้ในราว 2-6 สัปดาห์หลังมีอาการ บางรายอาจนานหลายเดือน ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีอาการหนักและเข้ารักษาในโรงพยาบาล มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยทั่วโลกราวร้อยละ 1-2** ของผู้ป่วย ซึ่งจะเกิดขึ้นในราว 1-7 สัปดาห์หลังมีอาการ
ผู้ป่วยบางราย (มีรายงานว่าราวร้อยละ 10-40 ของผู้ป่วยทั้งหมด) แม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาจนหายและตรวจไม่พบเชื้อแล้ว แต่ก็ยังอาจมีอาการผิดปกติอย่างต่อเนื่องนานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ แพทย์เรียกภาวะที่มีอาการผิดปกตินานเกิน 4 สัปดาห์หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 นี้ว่า "กลุ่มอาการภายหลังเป็นโควิด-19" (post-COVID-19 syndrome) หรือ "ภาวะหลังเป็นโควิด-19 (post-COVID-19 condition)" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "โควิดยาว" (long COVID)*** มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ก็อาจพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยและแข็งแรงดีมาก่อน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย และไม่มีอาการได้เช่นกัน
*กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ที่สำคัญ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปีขึ้นไป) อายุยิ่งมากยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน ยาสเตียรอยด์ (ที่มีขนาดเทียบเท่า prednisolone 15 มก./วัน นาน 15 วันขึ้นไป)
- ผู้ที่ป่วยมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน (ที่ควบคุมไม่ได้) โรคปอดเรื้อรัง (เช่น ถุงลมปอดโป่งพอง) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป) ภาวะไตวายเรื้อรัง (stage 3 ขึ้นไป) มะเร็ง (ที่กำลังรับการรักษา)
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์ (ที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.)
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน (มีน้ำหนักมากว่า 90 กก. หรือมีค่าดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 30 กก./ตร.เมตร)
- สำหรับกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี, เด็กที่มีภาวะอ้วน เป็นโรคพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์ มีภาวะพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรงหรือมีพัฒนาการช้า เป็นเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมทั้งโรคหืด) มะเร็ง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
หมายเหตุ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่มานาน และหญิงตั้งครรภ์ พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการมากน้อยเพียงใด ก็ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้แพทย์พิจารณาให้การรักษา (รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัส) ตามความรุนแรงของโรคที่ตรวจพบ
**อัตราตายมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่ค้นพบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยที่ไม่ได้ถูกตรวจหาเชื้อ) สัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และประสิทธิภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วย
ความรุนแรงของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นตัวก่อโรค และระดับภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากรซึ่งเกิดจากการฉีดวัคซีน
ไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ หลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์แอลฟา ซึ่งพบครั้งแรกที่อังกฤษ, สายพันธุ์บีตา ซึ่งพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้, สายพันธุ์แกมมา ซึ่งพบครั้งแรกที่บราซิล, สายพันธุ์เดลตา ซึ่งพบครั้งแรกที่อินเดีย, สายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งพบครั้งแรกที่เปรู, สายพันธุ์โอมิครอน (โอไมครอน) ซึ่งพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ เป็นต้น เชื้อเหล่านี้มีความเร็วในการแพร่เชื้อ อาการแสดง และความรุนแรงที่ต่างกัน
สำหรับสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้เมื่อปลายปี 2564 ได้ระบาดไปยังประเทศต่าง ๆ และมีการกลายพันธุ์เรื่อยมาเป็นสายพันธุ์ย่อย ๆ หลายชนิด นับว่าเป็นเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 หลัก ซึ่งสามารถแพร่โรคได้เร็วขึ้น แต่มีความรุนแรงน้อยลง
***โควิดยาว มีอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนล้า ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (อาจถึงขั้นทำงานไม่ได้ เดินไม่ได้) เจ็บหน้าอก เจ็บคอ ไม่มีสมาธิ ความคิดสับสน มีความวิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เห็นบ้านหมุน ใจเต้นเร็วหรือใจสั่น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส มีไข้ต่ำ ไอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน ปวดหูหรือมีเสียงในหู ผมร่วง มีผื่นตามตัว ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ไม่มีลักษณะตายตัว บางรายอาจมีอาการมากจนทำงานไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น หรือต้องให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ
สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอาการที่ตกค้างมาแต่แรก อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับอาการที่เกิดจากอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ปอด หัวใจ สมอง) ถูกเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำลายจนทำงานผิดปกติ รวมทั้งอาจเกิดจากผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคที่รุนแรงและจำเป็นต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ๆ (เกิดภาวะที่เรียกว่า "ภาวะจิตเครียดหลังเผชิญเหตุสะเทือนขวัญ" post-traumatic stress disorder/PTSD)
ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แล้วเกิดภาวะ "โควิดยาว" ยังอธิบายสาเหตุไม่ได้ชัดเจน บ้างสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียด หรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ (เช่น สมอง หัวใจ) ที่เกิดจากการบ่อนทำลายโดยเศษซากของเชื้อโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการตรวจในปัจจุบัน (มีรายงานการทดลองฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ที่มีภาวะโควิดยาว พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาการดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่า สาเหตุหนึ่งของภาวะโควิดยาวเกิดมาจากมีเศษซากของเชื้อโควิด-19 หลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อได้รับวัคซีนเข้าไปทำลายเชื้อให้หมดไปจึงทำให้อาการดีขึ้น)
สำหรับกลุ่มอาการภายหลังเป็นโควิด-19 (โควิดยาว) แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ (เช่น ผู้ที่มีอาการปวด แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ผู้ที่มีอาการหอบเหนื่อย แพทย์จะให้ยาขยายหลอดลม และอาจต้องให้ออกซิเจน ผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ แพทย์จะให้ยากล่อมประสาท และ/หรือยานอนหลับ เป็นต้น) แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยให้รู้จักดูแลสุขภาพตนเอง (ในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน การคลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ) และติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ส่วนอาการจะเป็นนานแค่ไหนยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่าอาการบางอย่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากอวัยวะถูกทำลาย) อาจเป็นนานเป็นปีหรือหรือมากกว่า หรือตลอดไป ซึ่งจะต้องรอการติดตามศึกษาต่อไป
หากมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19, อยู่หรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค, เข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ (เช่น บ่อน สนามมวย สถานบันเทิง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เป็นต้น) หรือมีอาการเจ็บป่วย (เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ไอ หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เป็นหวัด เจ็บคอ ท้องเดิน เป็นต้น) ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นโรคโควิด-19, หรือใช้ชุดตรวจแอนติเจน (antigen test kid/ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรไปปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคโควิด-19 ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ในรายที่ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้คำแนะนำ และ/หรือให้ยารักษา และให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
- กินยาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ
- ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น โดย
- เมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย หรือเข้าไปในแหล่งชุมนุมชน ควรสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง
- แยกห้องพัก หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด โดยไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลา
- แยกของใช้ส่วนตัว (เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) และไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยให้แยกกินคนเดียวในห้องส่วนตัว
- แยกใช้ห้องน้ำ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ และควรล้างทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเมื่อใช้เสร็จทุกครั้ง (ดูตารางส่วนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อด้านล่าง)
- หากมีอาการไอ จามขณะสวมหน้ากากอยู่ ไม่ต้องเอามือมาปิดปาก หากไอ จามขณะไม่ได้สวมหน้ากาก ให้ใช้แขนหรือข้อศอกปิดปากจมูก
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนหยิบจับสิ่งของที่ผู้อื่นอาจมาสัมผัสหรือใช้ร่วม (เช่น ตู้เย็น ราวบันได ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ) หรือภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เวลาไอ จามหรือเช็ดน้ำมูก หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำกับสบู่หรือผงซักฟอก ถ้าทำได้ให้ซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส
- แยกใช้ถุงขยะ หากเป็นขยะที่อาจแปดเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ (เช่น กระดาษทิชชู หน้ากากอนามัย) ควรทิ้งลงในถุงขยะต่างหาก แล้วเทน้ำยาฆ่าเชื้อลงในถุง มัดปากถุงขยะให้แน่นก่อนทิ้ง เสร็จแล้วล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ทุกครั้ง (ดูตารางส่วนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อด้านล่าง)
- สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในหอพักหรือคอนโด ควรแจ้งนิติบุคคลหรือเจ้าของหอพัก และงดออกจากห้องโดยเด็ดขาด ในกรณีที่มีคนอื่นพักอยู่ด้วย และไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะแยกออกเป็นห้องชัดเจน แนะนำให้ผู้อื่นที่ไม่ติดเชื้อไปพักอาศัยที่อื่นชั่วคราว
- นอนหลับ พักผ่อนให้พอเพียง (ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอากาศไม่เย็นเกิน) ดื่มน้ำมาก ๆ (งดน้ำที่เย็นจัด) กินอาหารสุขภาพ และหาทางผ่อนคลายความเครียด (ดูทีวี อ่านหนังสือ ทำงานอดิเรก) ติดต่อพูดคุยกับญาติมิตรทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต
- เฝ้าสังเกตอาการ ทำการวัดไข้ และวัดระดับออกซิเจนในเลือด (oxygen saturation) ด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้าพบว่ามีอาการผิดสังเกต (เช่น อ่อนเพลียมาก ท้องเดิน อาเจียน กินไม่ได้ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ไม่ค่อยรู้สึกตัว ริมฝีปากซีดหรือเขียวคล้ำ) มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีค่าระดับออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 95% (เท่ากับหรือต่ำกว่า 94%) หรือหลังออกกำลังกาย (เช่น เดินข้างเตียง, นอนหงายปั่นขาเหมือนปั่นจักรยาน) 3 นาที มีค่าระดับออกซิเจนในเลือดลดลง 3% หรือมากกว่า ควรรีบติดต่อแพทย์หรือบุคลากรที่ดูแลเพื่อพิจารณาส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
หากมีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก) ควรปรึกษาแพทย์หรือแจ้งให้บุคลากรที่ดูแลทราบ
2. ในรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ และหมั่นให้กำลังใจตัวเอง คิดบวก เจริญสติ สมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ
- เมื่อรักษาหายแล้ว กลับมาอยู่บ้าน ควรส่งเสริมสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายที่ไม่หนักเกินกำลัง (ตามคำแนะนำของแพทย์) ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด และควรกลับไปปรึกษาแพทย์ถ้ารู้สึกไม่หายเป็นปกติดี หรือมีอาการผิดสังเกตเกิดขึ้น
3. ในรายที่มีกลุ่มอาการภายหลังเป็นโควิด-19 (โควิดยาว) ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- ดูแลรักษาตนเองตามคำแนะนำของแพทย์
- ส่งเสริมสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมทางกายที่ไม่หนักเกินกำลัง (ตามคำแนะนำของแพทย์)
- ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
- ถ้าพบว่ามีอาการผิดสังเกต หรือสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยาที่แพทย์ให้ ควรปรึกษาแพทย์หรือแจ้งให้บุคลากรที่ดูแลทราบ หรือรีบไปพบแพทย์ก่อนวันนัด
1. การเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ (ในช่วงที่มีการระบาด ควรออกกำลังกายที่บ้าน หรือในบริเวณที่มีคนน้อยซึ่งเว้นระยะห่างกันได้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน), กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ (ตามสัดส่วนที่เหมาะสม ตามหลัก "ธงโภชนาการ") และกินอย่างถูกสุขลักษณะ (กินอาหารสุกและร้อน ไม่ใช้ของ รวมทั้งช้อนกลางร่วมกับผู้อื่น ล้างมือก่อนและหลังกินข้าว), นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน, รักษาอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ฝึกสติ สมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระ เล่นโยคะ รำมวยจีน), ไม่บริโภคสุราและยาสูบ (ป้องกันไม่ให้เป็นโรคจากสุราหรือยาสูบ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่รุนแรง), รักษาโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) ให้สามารถควบคุมโรคได้ และลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน (เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่รุนแรง)
2. การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
(1) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาด
ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรใส่ใจป้องกันตัวเอง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เข้าไปในที่ที่มีคนพลุกพล่านหรือแออัด เมื่อกลับมาแล้วควรแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ ซึ่งถ้ากลับจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องเข้ากักกันตัวในสถานที่ที่ทางการกำหนดนาน 14 วัน
(2) ในช่วงที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมชน ที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือแออัด หรือที่ที่มีความเสี่ยง เช่น บ่อน สนามมวย สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ห้องประชุม งานจัดแสดงสินค้า งานเลี้ยง งานแต่งงาน งานศพ งานสังสรรค์ โรงพยาบาล ศาสนสถาน เรือสำราญ เป็นต้น
(3) ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูด จานชาม ช้อนส้อม ควรมีช้อนกลางประจำตัวใช้ในการตักอาหาร
(4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวที่มีคนจับบ่อย ซึ่งอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ เช่น ประตูรถ, ที่นั่ง ราวจับบนรถโดยสารสาธารณะ, ลิฟต์ ลูกบิดประตู กลอนประตู ก๊อกน้ำ ราวบันได ในอาคารสาธารณะ เป็นต้น เมื่อเผลอจับแล้ว ระวังอย่าเอามือสัมผัสหน้าและเครื่องใช้ส่วนตัว (เช่น กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ) แล้วทำการล้างมือ หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์ทันทีที่มีโอกาส
(5) อยู่ห่างจากผู้ที่มีอาการไข้ ไอ จาม หรือน้ำมูกไหล มากกว่า 1-2 เมตร
สำหรับผู้ที่มีอาการไอ จาม เวลาไอ จาม ไม่ควรใช้มือปิดปากปิดจมูก ควรใช้กระดาษทิชชู แล้วทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และล้างมือ (ถ้าไม่มีกระดาษทิชชู ให้ใช้ข้อศอกปิดปากปิดจมูก)
(6) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด การสัมผัสตัวและมือของผู้ป่วย/ผู้ที่มีความเสี่ยง (เช่น ผู้สัมผัสโรค ผู้ที่กลับจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาด) ควรทักทายด้วยการไหว้แทนการเช็กแฮนด์
หากจำเป็นต้องอยู่ดูแลผู้ป่วย หรืออยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ควรแยกห้องนอนต่างหาก ไม่ใช้เครื่องครัว สิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัย และพยายามอยู่ห่างจากคนเหล่านี้มากกว่า 1 เมตร และหากรู้สึกว่ามีอาการเป็นไข้ ไม่สบาย ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
(7) หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำก๊อกกับสบู่ (หรือผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างจาน) นาน 20 วินาที แล้วใช้กระดาษเช็ดให้แห้ง หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์ เจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ (ที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นมากกว่าร้อยละ 70 แล้วปล่อยให้ระเหยแห้งเอง โดยไม่ต้องใช้กระดาษเช็ด) เพื่อชำระล้างเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมือ
สำหรับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ควรรีบล้างมือทุกครั้งหลังมีอาการไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก เช็ดน้ำมูก หรือก่อนจับต้องวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ก่อนและหลังกินอาหารและหลังถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ
สำหรับคนทั่วไป ควรล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสตัวผู้ป่วยหรือสัตว์เลี้ยง, จับต้องสิ่งของวัตถุที่สงสัยมีการปนเปื้อนเชื้อโรค, มาถึงที่ทำงานและกลับจากที่ทำงาน หรือกลับจากการเดินทางไปนอกบ้าน, ก่อนจับต้องตา ปาก จมูก ใบหน้า, ก่อนและหลังกินอาหาร และหลังถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น
(8) หลีกเลี่ยงการใช้มือจับต้องใบหน้า ขยี้ตา หรือแคะไชจมูก ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
(9) สวมหน้ากากอนามัย
ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อทุกคน ควรสวมหน้ากากอนามัย และแยกตัวอยู่ห่างออกจากคนอื่น
สำหรับคนทั่วไป ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกไปในที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปในโรงพยาบาล รถโดยสาร เรือโดยสาร เครื่องบิน ห้องประชุม สถานบันเทิง ตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ลิฟต์ ห้องที่ติดแอร์ สถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และพื้นที่ที่มีการระบาด
ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการเป็นหวัด ไอ จาม (เช่น จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยในบ้าน หรือจำเป็นต้องหารือเรื่องที่สำคัญในห้องประชุม) ควรสวมหน้ากากอนามัย อยู่ห่างจากผู้ป่วยมากกว่า 1-2 เมตรขึ้นไป และหมั่นล้างมือ
ข้อพึงปฏิบัติ เมื่อใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า (1) ควรปิดให้แนบสนิทกับใบหน้า อย่าให้มีช่องว่างให้เชื้อเข้าได้ (2) ไม่ควรเอามือไปแตะด้านนอกของหน้ากาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังใส่ไปสักพักหนึ่ง หรือเวลาถอดหน้ากากออก เนื่องจากด้านนอกของหน้ากากอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ หากเผลอไปแตะเข้าอาจทำให้มือติดเชื้อได้ (3) ควรล้างมือทุกครั้งก่อนใส่และหลังถอดหน้ากาก และเวลาเผลอไปแตะถูกด้านนอกของหน้ากาก (4) ไม่ควรนำหน้ากากที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ นอกจากหน้ากากผ้าที่ผ่านการซักให้สะอาดแล้ว (5) ควรเปลี่ยนหน้ากากเมื่อเปียกชื้น (6) ควรทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
3. การฉีดวัคซีนป้องกัน
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับคนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับหญิงตั้งครรภ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงหลังอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ โดยใช้วัคซีนได้แบบเดียวกับที่ใช้กับคนทั่วไป
วัคซีนมีอยู่หลายชนิด* ซึ่งมีวิธีการผลิตและวิธีใช้ที่แตกต่างกัน วัคซีนแม้จะมีประสิทธิผลในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ไม่ได้ 100% แต่มีประสิทธิผลในการลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90 กล่าวคือ ผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนจนครบบางคนอาจติดเชื้อป่วยเป็นโรคโควิด-19 ได้ แต่จะมีอาการไม่รุนแรง และปลอดภัยได้เป็นส่วนใหญ่
วัคซีนโควิดอาจมีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับวัคซีนอื่น ๆ อาการเล็กน้อยที่พบได้บ่อย เช่น มีรอยบวมแดงหรือปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด หรือมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะเป็นอยู่ราว 2-3 วัน
อาการรุนแรงซึ่งพบได้น้อยมาก คือ มีอาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นภายในครึ่งชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน ดังนั้น หลังฉีดจะต้องเฝ้าสังเกตอาการนานครึ่งชั่วโมง
นอกจากนี้ หากผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง มีจุดแดงจ้ำเขียวขึ้นตามตัว มีผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก ปากเบี้ยว แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น รู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ หอบเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกหรือหายใจไม่ออก แขนขาอ่อนแรง ชัก หรือหมดสติ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สำหรับข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางฉีดวัคซีน เมื่อธันวาคม 2566 ดังนี้
1. สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน
- เด็กและวัยรุ่นที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว (ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง) ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน
- ผู้ใหญ่ทุกคน หญิงตั้งครรภ์ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย เด็กและวัยรุ่นที่มีโรคประจำตัว (ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง) ให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องให้ฉีดวัคซีน 2-3 เข็ม
2. สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วตั้งแต่ 1 เข็มขึ้นไป
- เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ (ไม่รวมผู้สูงอายุ) ที่แข็งแรงดีและไม่มีโรคประจำตัว (ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง) ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
- ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคประจำตัว (ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง) และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมาเกินกว่า 12 เดือน
- ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว (ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 รุนแรง) ผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไปที่แข็งแรงดี และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมาเกินกว่า 6 เดือน
- หญิงตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็มเวลาตั้งครรภ์แต่ละครั้ง
อ้างอิง : COVID-19 advice for the public: Getting vaccinated (https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/covid-19-vaccines/advice)
*ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวัคซีนที่นำเข้ามาใช้ 5 ชนิด ได้แก่
วัคซีน Sinovac (SV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย (ผลิตจากไวรัสที่ไม่มีชีวิตแล้ว)
วัคซีน AstraZeneca (AZ) ซึ่งเป็น “Viral vector vaccine” (โดยใช้ไวรัสอะดิโนที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซีเป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกาย)
วัคซีน Sinopharm (SP) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย (ผลิตจากไวรัสที่ไม่มีชีวิตแล้ว)
วัคซีน Pfizer (PF) ซึ่งเป็น “mRNA vaccine” เป็นวัคซีนซึ่งใช้สารพันธุกรรมที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA หรือ messenger RNA) เพื่อก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
วัคซีน Moderna (MDN) ซึ่งเป็น “mRNA vaccine”
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา บ้านเรามีวัคซีน mRNA (Pfizer และ Moderna) ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์โอไมครอน)
1. ผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ เพียงดูแลรักษาตามอาการก็หายได้เอง แต่เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการผันแปรสูง แม้ระยะแรกจะมีอาการเล็กน้อย ต่อมาไม่กี่วันก็อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดตามมาได้ ดังนั้น ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้หรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ควรไปปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านโดยเร็ว (หรือทำการตรวจเชื้อด้วยตนเองโดยใช้ชุดตรวจแอนติเจนหรือ ATK หากพบว่าผลเป็นบวก ควรไปปรึกษาแพทย์) เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด และทำการแยกตัวออกห่าง ไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น
2. เด็กและคนหนุ่มสาวซึ่งมีร่างกายแข็งแรง ก็อย่าได้ประมาทหรือชะล่าใจ ควรใส่ใจป้องกันตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ เนื่องเพราะถึงแม้ติดเชื้อแล้วจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง หรืออาจกลายเป็นกลุ่มอาการหลังเป็นโควิด-19 (โควิดยาว) ได้เช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่าผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก็ตาม
นอกจากนี้ เมื่อติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ไปตรวจรักษากับแพทย์ ด้วยไม่มีอาการหรือนึกว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา แล้วไม่ได้แยกตัวออกห่างจากคนอื่น ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ทำให้เกิดอันตรายต่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติมิตรผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ทารก และกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง
3. ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะเป็นเหมือนคนปกติ คือ ไม่มีอาการใด ๆ เลย ซึ่งสามารถผ่านด่านการตรวจกรองโรคที่มีอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ (เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ห้องประชุม โรงพยาบาล โรงเรียน รถโดยสารสาธารณะ) ได้ ด้วยตรวจไม่พบมีไข้และอาการไม่สบายอื่น ๆ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น ในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ ทุกคนเมื่อเข้าไปในสถานที่สาธารณะ ก็จำเป็นต้องป้องกันตัวเอง ด้วยมาตรการ "อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ" อย่างเคร่งครัด
4. สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ที่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโควิดที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้ผู้ป่วยกักตัวและดูแลรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยควรศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของตน คนในบ้านและชุมชน และเฝ้าสังเกตอาการของตนอย่างใกล้ชิด (อ่านเพิ่มที่ หัวข้อ "การดูแลตนเอง" ด้านบน)
5. ในปัจจุบันยังไม่มียาและสมุนไพรที่ใช้ป้องกันโรคโควิด นอกจากวัคซีน ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดตามที่แพทย์แนะนำ
6. ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ มีผลการศึกษาวิจัยในห้องทดลองพบว่า ฟ้าทะลายโจรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 (และมีการวิจัยทดลองใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย ช่วยบรรเทาให้อาการดีขึ้นได้) แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น สำหรับคนปกติทั่วไปที่ยังไม่มีการติดเชื้อ จึงไม่แนะนำให้ใช้กินเพื่อป้องกันโรคโควิด นอกจากไม่ได้ผลแล้ว อาจมีผลข้างเคียงหากใช้พร่ำเพรื่อหรือเกินขนาด
ส่วนการรักษาโรค สำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งมักจะซึ่งหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แพทย์จะให้ยาบรรเทาตามอาการ (เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ แก้ไอ) โดยไม่ให้ยาต้านไวรัส บางรายแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมด้วย
แต่จะไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสเป็นสำคัญ
การใช้ฟ้าทะลายโจร (ในรูปของ "ยาสกัดจากฟ้าทะลายโจร" หรือ "ยาจากผงฟ้าทะลายโจร") ต้องใช้ให้ถูกขนาด (คือในขนาดยาที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ วันละ 180 มก. โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 5 วัน) หากใช้ขนาดน้อยไป (เช่น ขนาดวันละ 60-120 มก. ดังที่ใช้รักษาไข้หวัด) อาจไม่ได้ผล หากใช้ขนาดมากเกินไป หรือระยะเวลานานเกิน 5 วัน ก็อาจเกิดผลข้างเคียง (เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจเต้นเร็ว ผื่นขึ้น ลมพิษ มีผลต่อตับซึ่งทำให้เอนไซม์ตับสูงกว่าปกติ)
นอกจากนี้ การใช้ฟ้าทะลายโจรยังมีข้อห้าม คือ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ยาฟ้าทะลายโจร และข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ร่วมกับยาบางชนิด อาทิ ยาลดความดัน, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล) เป็นต้น เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาเหล่านี้ได้ และควรระมัดระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา
7. ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกหลายระลอก เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ หลายชนิดด้วยกัน ในบ้านเรามีการระบาดใหญ่จากสายพันธุ์เดลตาตั้งแต่กลางปีถึงปลายปี 2564 ซึ่งทำให้มีผู้ที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่าระลอกแรกมากมาย และตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า "โอมิครอน (โอไมครอน)" ซึ่งสามารถแพร่ให้ติดเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อน ๆ แม้จะพบว่ามีความรุนแรงไม่มาก (มีอาการเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ และส่วนหนึ่งไม่มีอาการ) สำหรับคนอายุน้อยและผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2-3 เข็มแล้ว แต่ก็อาจมีอาการรุนแรงสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ อ้วน หรือตั้งครรภ์) ดังนั้น เพื่อลดการแพร่โรคและลดการเสียชีวิต ทุกคนจึงควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการป้องกันโรค และฉีดวัคซีนให้ครบ
8. ตั้งแต่กรกฎาคมปี 2565 เป็นต้นมา การระบาดได้ลดความรุนแรงลง และทางการได้ผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการระบาดลง และถึงแม้ปัจจุบัน (ตุลาคม 2565) จะจัดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (ไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง) ก็ยังแนะนำให้ทุกคนระวังป้องกันตัวเองต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนเบียดเสียดแออัด หรือเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ห้องประชุม โรงพยาบาล โรงเรียน หรือรถโดยสารสาธารณะ ก็ควรสวมหน้ากากไว้ และหมั่นล้างมือเป็นครั้งคราว