
ปกติ หัวใจของคนเรา (ชีพจร) จะเต้นประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที (ส่วนใหญ่ 72-80 ครั้ง/นาที) จังหวะสม่ำเสมอ และแรงเท่ากันทุกครั้ง
ภายหลังการออกกำลังกาย ตื่นเต้นตกใจ ดื่มชากาแฟ เครื่องดื่มเข้ากาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินยากระตุ้น (เช่น ยาแก้หืด ยาแก้หวัด หรือสูโดเอฟีดรีน แอมเฟตามีน ยาลดความอ้วน) หรือเป็นไข้ ชีพจรอาจเต้นเร็ว (> 100 ครั้ง/นาที) ได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติธรรมดา นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะช็อกก็มักมีชีพจรเต้นเร็วแต่เบา
ผู้ที่ออกกำลังสม่ำเสมอ ชีพจรอาจเต้นช้า (< 60 ครั้ง/นาที) ได้ แสดงว่าร่างกายอยู่ในภาวะแข็งแรง (ฟิต) เต็มที่
แต่ในผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจก็อาจมีชีพจรผิดปกติ เช่น เต้นช้าไป เร็วไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ หรือไม่เป็นจังหวะ จึงเรียกรวม ๆ ว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจแสดงอาการได้หลายอย่างด้วยกัน
สาเหตุ
ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า (bradycardia) อาจพบเป็นปกติในนักกีฬาหรือคนที่ร่างกายฟิต อาจเกิดจากภาวะกระตุ้นประสาทเวกัส (vagus) ซึ่งทำให้ชีพจรเต้นช้า เช่น อาการเจ็บปวด หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า การกลืน อาการอาเจียนหรือท้องเดิน เป็นต้น อาจพบเป็นภาวะผิดปกติในผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรืออาจเกิดจากพิษของยา (เช่น ไดจอกซิน ยาปิดกั้นบีตา ยาอนุพันธ์ฝิ่น ยานอนหลับ ยาฆ่าแมลงออร์แกโนฟอสเฟต) พิษปลาปักเป้า พิษคางคก ภาวะตัวเย็นเกิน
ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจปกติหรืออาจไม่สม่ำเสมอและแรงไม่เท่ากัน* อาจพบในผู้ที่เป็นโรคหัวใจรูมาติก โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน พิษยาไดจอกซิน
ถ้าหัวใจเต้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60-100 ครั้ง/นาที) แต่มีบางจังหวะที่เต้นรัว** หรือวูบหายไป*** ก็อาจพบเป็นปกติในคนบางคน แต่ก็อาจพบในคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หรือเกิดจากบุหรี่ ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ยากระตุ้น หรือเกิดจากพิษของยา (เช่น ไดจอกซิน)

*หัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) มีภาวะที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (atrial fibrillation/AF) มักมีชีพจรเต้น > 120 ครั้ง/นาที (อาจพบระหว่าง 80-180 ครั้ง/นาที) จังหวะไม่สม่ำเสมอ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมาก อาจมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก หัวใจอักเสบ (carditis) กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) หัวใจวาย ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เนื้องอกต่อมหมวกไต-ฟีโอโครโมไซโตมา ภาวะพิษแอลกอฮอล์ (alcohol intoxication) สิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism)
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน (paroxysmal atrial tachycardia/PAT) ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ ส่วนน้อยอาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด หรือพิษยาไดจอกซิน มักมีชีพจรเต้น 160-220 ครั้ง/นาที และเต้นสม่ำเสมอโดยเกิดขึ้นฉับพลัน และหายฉับพลัน นานครั้งละไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง มีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำงานหนักหรือออกกำลังหักโหม ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่นอย่างมาก อ่อนเพลีย ศีรษะโหวง ๆ เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และอาการหัวใจเต้นเร็วจะทุเลาไปได้เอง มักทำให้ผู้ป่วยและญาติตกใจและไม่สุขสบายขณะมีอาการ และอาจทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นโรควิตกกังวลเนื่องจากเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์มักจะเป็นช่วงอาการสงบแล้ว ซึ่งจะตรวจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ
**หัวใจห้องบนเต้นก่อนกำหนด(atrial premature contraction/APC หรือ premature atrial contraction/PAC)
ทำให้การเต้นของหัวใจบางจังหวะเร็วกว่าปกติ คลำได้ชีพจรเต้นรัวติดกัน 2 จังหวะ มักพบในผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง (นอกจากตรวจพบจากการคลำชีพจรหรือฟังเสียงหัวใจ) ยาหรือสารกระตุ้น เช่น กาเฟอีน บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาสูโดเอฟีดรีน ยาแก้หืด ยาลดความอ้วน อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น น้อยรายที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) จากโรคทางปอดหรือหัวใจ
***หัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด (ventricular premature contraction/VPC หรือ premature ventricular contraction/PVC) ทำให้การเต้นของหัวใจ (ชีพจร) วูบหายหรือเว้นวรรคไปเป็นบางจังหวะ มักพบในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความเครียดทางร่างกายหรือจิตใจ ยาหรือสารกระตุ้น หรืออาจพบร่วมกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย หรือโรคลิ้นหัวใจพิการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นถ้าพบร่วมกับโรคหัวใจ
อาการ
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง มักไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด บางรายอาจเพียงรู้สึกใจเต้นรัวหรือใจวูบหายไปบางจังหวะ โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย และยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
ในรายที่ชีพจรเต้นช้ามาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย สับสน เวียนศีรษะ เป็นลม
ในรายที่ชีพจรเต้นเร็วมาก อาจมีอาการอ่อนเพลีย ใจสั่น หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ศีรษะโหวง ๆ เป็นลม
นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เจ็บหน้าอกในโรคหัวใจขาดเลือด มือสั่น เหงื่อออก น้ำหนักลด ในภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่แข็งแรงและไม่มีโรคหัวใจร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีชีพจรเต้นช้าหรือเร็วมากและต่อเนื่องนาน ๆ เช่น หัวใจวาย ความดันโลหิตตก เป็นลม
ในรายที่หัวใจเต้นช้ามาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากทางเดินประจุไฟฟ้าหัวใจติดขัด (heart block) เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย ก็อาจขาดเลือดไปเลี้ยงสมองทำให้หมดสติและชักได้
ที่สำคัญในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (ชีพจร 80-180 ครั้ง/นาที จังหวะไม่สม่ำเสมอและชีพจรแรงบ้างค่อยบ้าง) อาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดสมอง ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีกแทรกซ้อนได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากให้การรักษาภาวะนี้จนการเต้นของหัวใจกลับเป็นปกติ ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง (อ่านเพิ่มเติมที่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วขณะ อัมพาตครึ่งซีก) มากกว่าคนทั่วไป 5-8 เท่า
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง (มีสาเหตุจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนด) อัตราการเต้นของชีพจรมักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ 60-100 ครั้ง/นาที แต่จะพบว่ามีบางจังหวะที่เต้นรัวหรือวูบหาย อาจพบ 1-2 ครั้ง/นาที ถ้าเป็นมากก็อาจพบได้ถี่กว่านี้
ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า มักจะพบชีพจรเต้น < 50 ครั้ง/นาที ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วจะพบชีพจรเต้น > 120 ครั้ง/นาที จังหวะอาจเป็นปกติหรืออาจเต้นไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นจังหวะ ชีพจรแรงบ้างค่อยบ้าง ฟังเสียงหัวใจอาจพบเสียงดังไม่เท่ากันและไม่เป็นจังหวะ อาจพบความดันโลหิตต่ำ บางครั้งอาจตรวจพบอาการของโรคที่เป็นสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจมีเสียงฟู่ในโรคหัวใจรูมาติก เท้าบวม และฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบในภาวะหัวใจวาย แขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่งในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองแทรกซ้อน เป็นต้น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่อัตราชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ (60-100 ครั้ง/นาที) เพียงแต่ตรวจพบว่าชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายเป็นบางจังหวะ และผู้ป่วยรู้สึกสบายดี น่าจะเกิดจากภาวะหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นก่อนกำหนด ก็ไม่ต้องให้ยารักษา เพียงแต่แนะนำให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงยาและสารกระตุ้น (งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ กาเฟอีน ยาแก้หืด ยาแก้หวัด ยาลดความอ้วน เป็นต้น)
แต่ถ้ามีอาการชีพจรเต้นรัวหรือวูบหายแบบถี่ ๆ นาทีละหลายครั้ง หรือชีพจรเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอและแรงไม่เท่ากันตลอด (อาจเป็นภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โดยมีอัตราชีพจร < 100 ครั้ง/นาที ก็ได้) หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือฟังหัวใจได้ยินเสียงฟู่ แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ
สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นก่อนกำหนด อาจพบว่ามีโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือลิ้นหัวใจพิการร่วมด้วย ถ้าตรวจพบ แพทย์ก็จะทำการรักษาโรคเหล่านี้ ในรายที่มีโรคลิ้นหัวใจพิการ (ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและอาจทำให้เสียชีวิตฉับพลันได้) แพทย์จะให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอลกินควบคุมอาการ
2. ในรายที่ชีพจร < 50 ครั้ง/นาที หรือ > 120 ครั้ง/นาที หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และแรงไม่เท่ากันตลอด ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก หายใจหอบเหนื่อย แขนขาอ่อนแรงข้างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันเป็นลมหมดสติ หรือชัก แพทย์จะรีบแก้ไขภาวะแทรกซ้อนและให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจรูมาติก พิษจากยา (เช่น ไดจอกซิน) พร้อมทั้งให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ ดังนี้
- ในรายที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า แพทย์อาจให้ยากระตุ้น ได้แก่ อะโทรพีน ถ้าไม่ได้ผลหรือเป็นรุนแรง อาจจำเป็นต้องผ่าตัดใส่ตัวคุมจังหวะหัวใจ (cardiac pacemaker) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตประจุไฟฟ้ากระตุ้นการเต้นของหัวใจ
- ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว จะต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้ามีภาวะฉุกเฉินรุนแรงก็รีบให้การแก้ไข และพิจารณาให้การรักษาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับเป็นปกติ (cardioversion) โดยการใช้เครื่องช็อกหัวใจ (defibrillator) หรือการใช้ยา ร่วมกับการให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (เช่น เฮพาริน วาร์ฟาริน) ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาและให้ยาตามระยะของโรคที่เป็น และความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง
หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (antiarrhythmic) และสารกันเลือดเป็นลิ่ม (โดยให้กินวาร์ฟารินในรายที่มีความเสี่ยงสูงหรือแอสไพรินในรายที่มีความเสี่ยงต่ำ) อย่างต่อเนื่อง
บางรายแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีตัดปมประจุไฟฟ้าเอวี (atrioventricular/AV node ablation) โดยการแยงสายอิเล็กโทรดเข้าไปสร้างความร้อนทำลายเนื้อเยื่อ (catheter radiofrequency ablation) และถ้าการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล ก็จะทำการผ่าตัดเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เป็นต้นตอของโรค
- ในรายที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดโรคกลับฉับพลัน (PAT) แพทย์จะให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะควบคุมอาการ เช่น ยาปิดกั้นบีตา ผู้ป่วยส่วนน้อยที่ใช้ยาไม่ได้ผล อาจต้องทำการรักษาด้วยเครื่องช็อกหัวใจ หรือตัดปมประจุไฟฟ้าเอวีด้วยการใส่สายอิเล็กโทรด
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการหัวใจเต้นรัว เต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ เต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ หรือมีจังหวะเต้นกระตุก หรือวูบหายเป็นบางจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรดูแลรักษา ดังนี้
1. ดูแลรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
3. ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
- งดการบริโภคสุรา ยาสูบ ชา กาแฟ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- หลีกเลี่ยงการทำงานหรือการออกกำลังที่หักโหม
- หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะอาจมีผลทำให้โรคกำเริบ
4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเจ็บจุกหน้าอกกำเริบ หรือ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือเท้าบวม
- มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะ และกินยารักษาโรคกระเพาะไม่ทุเลา
- กินยาแล้วไม่ทุเลา หรือ กลับมีอาการกำเริบใหม่
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
อาจป้องกันโรคนี้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- หาทางป้องกันไมให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการบริโภคสุรา ยาสูบ ชา กาแฟ สารกระตุ้นหัวใจ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ข้อแนะนำ
ผู้ป่วยที่บ่นว่ามีอาการใจสั่น ใจหวิว อาจเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือสาเหตุอื่น ๆ แพทย์จะซักถามอาการ ตรวจชีพจร (ควรจับชีพจรนาน 1-2 นาที เป็นอย่างน้อย) และใช้เครื่องฟังตรวจหัวใจ ถ้าชีพจรช้าหรือเร็วกว่าปกติหรือไม่สม่ำเสมอ ก็แสดงว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจริง ถ้าชีพจร 60-100 ครั้ง/นาที และเต้นปกติ อาจเกิดจากโรควิตกกังวล หรือโรคแพนิก สาเหตุของอาการใจสั่น (ตรวจอาการใจสั่น)