หนังตาอักเสบ แบ่งออกเป็นชนิดหลัก ๆ ได้ 2 ชนิด ได้แก่ หนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย (staphylococcal blepharitis ซึ่งสัมพันธ์กับเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส พบมากในคนอายุน้อย) และหนังตาอักเสบชนิดเป็นเกล็ดรังแค (seborrheic blepharitis ซึ่งไม่ทราบสาเหตุ พบมากในคนวัยกลางคน)
โรคนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ไม่ติดต่อให้ผู้อื่น
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกันต่อไปนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัส ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนขึ้นที่บริเวณหนังตาโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคหรือโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) อาจจะพบร่วมกับภาวะมีรังแคที่หนังศีรษะ ใบหู และคิ้ว (ดู “โรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค” เพิ่มเติม)
- ต่อมไขมันใกล้ฐานขนตามีการอุดตัน หรือผลิตน้ำมันมากเกิน
- เป็นโรคภูมิแพ้ รวมทั้งการแพ้สารบางชนิด เช่น เครื่องสำอางแต่งตา น้ำยาคอนแทคเลนส์ ยารักษาโรคตา เป็นต้น
- เป็นโรคโรซาเซีย (rosacea ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดภายใต้ผิวหนัง มีอาการหน้าแดง)
- มีเหา โลน หรือตัวไรที่ขนตา
สำหรับหนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกเคืองตา แสบตา คล้ายมีอะไรเข้าตา ซึ่งมักจะเป็นมากตอนเช้าและจะทุเลาลงตอนสาย
อาจมีอาการหนังตาคัน หนังตาบวมแดง มีอาการตาแดง น้ำตาไหล และกลัวแสง
อาจมีคราบหนองติดที่ขอบตา เมื่อเขี่ยออกอาจมีเลือดซึม ต่อมขนตาที่ขอบตาจะเป็นตุ่มหนองแล้วแตกเป็นแผล เวลาตื่นนอนตาจะติดเพราะมีคราบหนอง ผู้ป่วยอาจมีประวัติเป็นกุ้งยิง เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
สำหรับหนังตาอักเสบชนิดเป็นเกล็ดรังแค มีอาการคล้ายกับชนิดแผลเปื่อยแต่น้อยกว่า มักพบใบหน้ามัน มีสะเก็ดเป็นเกล็ดมัน ๆ ที่ขนคิ้ว ขนตา และหนังตา
อาจทำให้ขนตาร่วง เกิดแผลเป็นตรงขอบตา ขนตาเกเข้าข้างในตา ตาแห้ง เป็นกุ้งยิงหรือเยื่อตาขาวอักเสบบ่อย กระจกตาอักเสบ หรือแผลกระจกตา
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
หนังตาอักเสบชนิดเป็นแผลเปื่อย มีอาการหนังตาบวมแดง ตาแดง พบคราบหนองที่ขอบตา มีสะเก็ดรอบ ๆ ขนตาเป็นวง ๆ อาจพบขนตาเปลี่ยนเป็นสีขาว ขนตาร่วง ขนตาเกเข้าข้างในตา ผิวหนังของเปลือกตาอาจเป็นแผลถลอก หรือมีเนื้อเยื่อหลุดลอกเป็นแผล
หนังตาอักเสบชนิดเกล็ดรังแค มีอาการหนังตาบวมแดงเล็กน้อย ตาแดงเล็กน้อย มักพบใบหน้ามัน มีเกล็ดมัน ๆ ที่ขนตา ขนคิ้ว และหนังตา ซึ่งเขี่ยออกได้ง่าย อาจพบรังแคที่หนังศีรษะ ใบหู และคิ้วร่วมด้วย
บางรายแพทย์อาจใช้สำลีเช็ดเปลือกตา เก็บตัวอย่างน้ำมันหรือสะเก็ดรอบเปลือกตาไปตรวจหาสาเหตุ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่เป็นแผลเปื่อยและมีคราบหนอง ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระให้สะอาด ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ แล้วใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะอีริโทรไมซิน ป้ายที่ขอบหนังตา วันละ 3-4 ครั้ง ในรายที่มีการอักเสบมาก ให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน 5-7 วัน
2. ในรายที่ไม่มีแผลเปื่อย มีเพียงเกล็ดสีขาวของรังแค ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระออก และใช้แชมพูรักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione) หรือโคลทาร์ (coal tar) สระผมและบริเวณที่เป็นรังแคทุกวัน ถ้ามีอาการคันหรือบวมแดงมากให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ทาตรงบริเวณขอบตาวันละ 3-4 ครั้ง
3. ในรายที่มีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์หยอดตาลดการอักเสบ
4. ในรายที่มีอาการตาแห้ง ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา
5. ทำการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค โรคโรซาเซีย
หากสงสัย เช่น หนังตาบวมแดง คัน เคืองตา ตาแดง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็น ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หากมีคราบหนอง ให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือเช็ดชำระให้สะอาด
- ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นจัดประคบหนังตา โดยหลับตาข้างที่ประคบ
- งดใช้เครื่องสำอางแต่งตาจนกว่าโรคจะหาย
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
- มีอาการปวดตา หนังตาบวมแดงมากขึ้น ตาแดง มีขี้ตาแฉะ หรือเป็นกุ้งยิง
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ลงได้โดย
- หมั่นรักษาความสะอาดใบหน้า เปลือกตา และผิวหนังรอบ ๆ ตา รวมทั้งหมั่นสระผมบ่อย ๆ
- หากมีการใช้เครื่องสำอาง ควรต้องล้างออกให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง
- พยายามอย่าให้ตาและเปลือกตาสัมผัสถูกสารที่แพ้
- รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหนังตาอักเสบ
โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หากได้รับการดูแลรักษาและรู้จักดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง จะไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเรียนรู้วิธีดูแลรักษาตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจัง