สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อราที่มีชื่อว่ามาลัสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งอยู่ตามไขมันของผิวหนัง
การเกิดอาการและความรุนแรงของโรค เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สภาพอากาศซึ่งเป็นได้ทั้งในหน้าร้อน (ต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าสร้างไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้มากขึ้น) และหน้าหนาว (อากาศแห้ง ซึ่งก็กระตุ้นให้โรคกำเริบ) การอยู่ในห้องปรับอากาศนาน ๆ หรือการถูกแสงแดดจัด
นอกจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง (เช่น dasatinib, 5-FU, cetuximab), ยาทางจิตเวช (เช่น lithium, phenothiazines), ยาฆ่าเชื้อรา-กริซีโอฟุลวิน, ยารักษาความดัน-เมทิลโดพา, ยารักษาโรคกระเพาะ-ไซเมทิดีน, ยาทาสิว-กรดเรติโนอิก (retinoic acid) เป็นต้น
โรคนี้ยังอาจพบในผู้ที่เป็นโรคระบบประสาท (เช่น พาร์กินสัน โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น) โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง สิว โซริอาซิส (สะเก็ดเงิน)
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี มักจะมีอาการแสดงของโรคนี้แบบรุนแรงได้
มีลักษณะเด่น คือ มีเกล็ดรังแค ลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือเหลือง มีมันเยิ้ม หรือเป็นผื่นแดง คัน หรือพบอาการดังกล่าวร่วมกันในรายที่มีการอักเสบมากขึ้น
ตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หนังศีรษะ ถ้าเป็นเล็กน้อยจะพบเฉพาะเกล็ดรังแค แต่ถ้ามีการอักเสบมากจะเห็นเป็นผื่นแดง ซึ่งผื่นมักจะไม่เลยไรผมลงมาที่ต้นคอหรือหน้าผาก ในรายที่เป็นไม่มากมักมีอาการเกิดขึ้นที่บริเวณศีรษะเพียงอย่างเดียว
หากเป็นมากขึ้นก็จะพบผื่นที่ใบหน้า ได้แก่ บริเวณหัวคิ้ว ร่องจมูก ใบหู เปลือกตา (หนังตา) อาจพบหนังตาอักเสบ หนังตาแดงและมีเกล็ดสีขาวที่ขอบตาซึ่งเขี่ยออกได้ง่าย
ในรายที่เป็นรุนแรง จะเกิดผื่นที่หน้าอก กลางหลัง สะดือ หัวหน่าว ก้น และบริเวณข้อพับต่าง ๆ ร่วมด้วย
ในทารก อาจมีอาการตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน มักมีอาการเป็นสะเก็ดหนาสีเหลืองขึ้นที่หนังศีรษะ (เรียกว่า cradle cap) ซึ่งมักจะไม่คัน บางรายอาจมีร่องแตก หรือขุยสีเหลืองที่หลังหู ผื่นแดงที่ใบหน้า และผื่นผ้าอ้อม และอาการมักจะหายไปก่อนอายุ 1 ปี พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อาจมีอาการกำเริบขึ้นใหม่
ในเด็กโต อาจมีอาการเป็นแผ่นเกล็ดหนา ๆ เหนียว ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ที่หนังศีรษะ
อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ มักกำเริบเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนล้า อยู่ในห้องปรับอากาศ เจออากาศเย็น อากาศร้อน หรืออากาศแห้งนาน ๆ ถูกแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน นอกจากในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือมีเลือดออกได้
เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และรอยโรคอาจแลดูน่าเกลียด อาจส่งผลต่อจิตใจโดยตรง ทำให้รู้สึกเป็นปมด้อย หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
บางรายแพทย์อาจทำการขูดเอาเซลล์ผิวหนังจากรอยโรคไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น โซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) โรคเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ในรายที่มีรังแคและผื่นแดงที่หนังศีรษะ สระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแค เช่น ซิลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide), ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione), คีโตโคนาโซล, น้ำมันดิน (coal tar) เป็นต้น วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน แต่ละครั้งควรฟอกทิ้งไว้นาน 5-15 นาที จนกว่ารังแคจะดีขึ้น หลังจากนั้นใช้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ส่วนรอยโรคที่บริเวณอื่น เช่น ใบหน้า หู หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น ใช้ครีมคีโตโคนาโซล ชนิด 2% ทาวันละ 2-3 ครั้ง
2. ถ้าให้การรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล ใช้ครีมสเตียรอยด์ทา ถ้าเป็นที่หนังศีรษะและบริเวณที่มีขน ใช้โลชั่นไตรแอมซิโนโลนชนิด 0.01% ทาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะดีขึ้น ส่วนบริเวณใบหน้า ใช้สเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์อ่อน ได้แก่ ครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% ทาวันละ 2-3 ครั้ง เมื่อดีขึ้นให้ทาต่อไปวันละครั้ง
3. ในรายที่มีหนังตาอักเสบจากโรคนี้ ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือเช็ดชำระเอาเกล็ดรังแคออก และใช้แชมพูรักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione) หรือโคลทาร์ (coal tar) สระผมและบริเวณที่เป็นรังแคทุกวัน ถ้าหนังตามีอาการคันหรือบวมแดงมาก ให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ทาตรงบริเวณขอบตาวันละ 3-4 ครั้ง
4. ในทารกและเด็กเล็ก ใช้แชมพูชนิดอ่อน (mild baby shampoo) สระผมวันละครั้ง และทาด้วยครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% วันละ 2 ครั้ง ในรายที่มีแผ่นเกล็ดหนาที่หนังศีรษะ ใช้ยาละลายขุย เช่น โลชั่นกรดไซลิไซลิกทาก่อนนอนทุกวันจนกว่าจะดีขึ้น
5. ถ้าให้การรักษา 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยเป็นโรคอื่น เช่น โซริอาซิส เอดส์ เป็นต้น แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ในผู้ป่วยเอดส์ แพทย์จะให้กินยาคีโตโคนาโซล 400 มก. วันละครั้ง นาน 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาโรคนี้ควบคู่กับการใช้ยารักษาโรคเอดส์
หากสงสัย เช่น มีเกล็ดรังแคลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือเหลือง มีมันเยิ้ม หรือเป็นผื่นแดง คันตามหนังศีรษะ หัวคิ้ว ร่องจมูก ใบหู เปลือกตา หน้าอก กลางหลัง สะดือ หัวหน่าว ก้น หรือบริเวณข้อพับต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อเรียบนุ่มซึ่งทำจากผ้าฝ้าย เพื่อให้อากาศระบายได้ดี ลดการระคายเคือง
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด เย็นจัด แห้งจัด การออกกลางแดดจัด และการดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด ครีมใส่ผม สเปรย์ผม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสบู่ที่มีฤทธิ์แรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
- หลีกเลี่ยงการแกะเกาผื่นที่คัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการกำเริบใหม่
- ผื่นกลายเป็นตุ่มหนอง แผลพุพอง หรือมีน้ำเหลืองไหล
- ขาดยา หรือยาหาย
- ใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ
ผู้ป่วยควรดูแลรักษา ใช้ยา ตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ และหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
1. โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะที่ทำให้หายขาด ถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรังประจำตัว แต่สามารถปฏิบัติตัวหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และใช้แชมพูสระผมและยาทาควบคุมอาการได้ ซึ่งช่วยให้อาการทุเลาลงเป็นระยะ ๆ (อาจนานเป็นปี ๆ)
เมื่อเริ่มมีอาการกำเริบขึ้นใหม่ หรือในกรณีที่มีความเครียด หรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็สามารถรีบใช้แชมพูรักษารังแคและทายาเพื่อควบคุมไม่ให้อาการเป็นมากหรือลุกลามได้
2. โรคนี้อาจมีลักษณะไม่น่าดู โดยเฉพาะถ้าขึ้นที่บริเวณศีรษะและใบหน้า บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นปมด้อย ความจริงแล้วถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ (สามารถอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อเป็นโรค) ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และทุเลาได้เมื่อมีการดูแลการรักษาอย่างจริงจัง หากผู้ป่วยมีความเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้อย่างแท้จริง ก็จะช่วยให้ทำใจเป็นปกติได้
3. โรคนี้อาจมีอาการคล้ายโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ รังแค และโซริอาซิส และอาจเป็นอาการแสดงที่พบร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หากให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าเป็นโซริอาซิสหรือโรคเอดส์ก็ควรปรึกษาแพทย์