เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 หรือเส้นประสาทใบหน้า (facial nerve) ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราวโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักเกิดกับเส้นประสาทใบหน้าเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าข้างนั้นมีอาการอ่อนแรงไปชั่วระยะหนึ่ง
บางรายอาจพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเริมชนิด 1 (HSV-1) และเชื้อไวรัสงูสวัด (herpes zoster virus) ทำให้ประสาทสมองเส้นที่ 7 อักเสบ เกิดอาการอัมพาตของใบหน้า โดยอาจไม่พบผื่นตุ่มของโรคเริมหรืองูสวัดขึ้นที่ผิวหนังร่วมด้วย
บางรายอาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัด (ไวรัสอะดีโน) เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ คางทูม หัดเยอรมัน โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นต้น
บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, เคืองตา, พูดไม่ชัด, ดื่มน้ำหรือเคี้ยวอาหารค่อนข้างลำบาก
แต่ผู้ป่วยมีความรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงดีและทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และถ้าอยู่เฉย ๆ (ไม่พูด ไม่ยิ้ม ไม่หลับตา หรือยักคิ้ว) ก็จะดูไม่ออกว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติ
บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณหน้า ขากรรไกร หรือหลังใบหูข้างที่เป็นอัมพาต ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่ก่อนมีอาการอัมพาตปากเบี้ยว 2-3 วัน
บางรายอาจมีอาการกำเริบเมื่อร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำเนื่องมาจากความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่พอ ร่างกายไม่สบายหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อนมีอาการอัมพาตของใบหน้าประมาณ 1 สัปดาห์
ส่วนใหญ่อาการอัมพาตของใบหน้าเกิดเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น มีน้อยรายมากที่อาจเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
ตาข้างที่ปิดไม่มิดอาจเกิดสายพิการ (ตาบอด ตามัว) แทรกซ้อน เนื่องเพราะมีอาการตาแห้ง และมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือผู้ป่วยเผลอใช้นิ้วมือถูหรือขยี้ตา ทำให้กระจกตาอักเสบเป็นแผล
บางรายอาจมีการงอกผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้า ทำให้ใบหน้าเกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติ (facial synkinesis) เช่น หนังตาปิดเวลายิ้ม คอเกร็งเวลายิ้มหรือผิวปาก ปากกระตุกเวลาหลับตา น้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็ง (ทำให้ปวดหน้าและศีรษะ) เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการรุนแรงและได้รับการรักษาล่าช้าไป อาจมีอาการหน้าเบี้ยวอย่างถาวร
1. หากตรวจพบว่ามีอาการแขนขาซีกใดซีกหนึ่งมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย และตรวจพบว่าเป็นสโตรก (โรคลมอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน) แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล
2. หากตรวจพบว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก แพทย์จะทำการประเมินสาเหตุและความรุนแรง และให้การรักษา ดังนี้
- แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น ยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน) เพื่อลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทใบหน้าที่ผิดปกติ ช่วยให้อาการทุเลาได้เร็วขึ้น ซึ่งควรให้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการจะได้ผลดี ยานี้ต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้น เพราะมีวิธีใช้และข้อควรระวังมาก หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้
- ในรายที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเริมหรืองูสวัด แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) ร่วมด้วย ซึ่งควรให้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการเช่นกัน
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนของตาข้างที่มีอาการปิดไม่มิด โดยให้ผู้ป่วยใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ป้องกันไม่ให้ตาแห้ง (หยอดทุก 1-2 ชั่วโมง ระหว่างทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ), ใช้ยาหยอดตาปฏิชีวนะหยอดตาในเวลากลางวันทุก 2-4 ชั่วโมง และใช้ยาป้ายตาปฏิชีวนะป้ายก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตาอักเสบเป็นแผล, ควรสวมแว่นตา หรือใช้ฝาครอบตา (eye shield) เพื่อป้องกันฝุ่นหรือแมลงเข้าตา
- ให้ยาบรรเทาปวด (เช่น พาราเซตามอล) ถ้ามีอาการปวดบริเวณใบหน้า
- บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการสัมผัส (tactile stimulation), การกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยไฟฟ้า (electrical stimulation), การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าและการฝึกการแสดงสีหน้า, การประคบด้วยความร้อน ประมาณ 15-20 นาที (เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณเส้นประสาทที่ผิดปกติ ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น)
ถ้าแขนขาแข็งแรงเป็นปกติดี พบว่าเวลายิ้มกว้างเห็นมุมปากข้างนั้นตก ร่วมกับตาข้างเดียวกันนั้นปิดไม่มิด และคิ้วข้างเดียวกันนั้นยักไม่ได้ และมั่นใจว่าไม่ได้เป็นสโตรก ควรปรึกษาแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (เบลล์พัลซี) นอกจากติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องแล้ว ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- กินยา ปฏิบัติตัว และดูแลรักษาตาข้างที่ปิดไม่มิดไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ด้วยการใช้น้ำตาเทียม ยาหยอดตาและยาป้ายตาปฏิชีวนะ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตา) ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ
- ประคบน้ำอุ่น โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ ประคบใบหน้า นานครั้งละ 15-20 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
- นวดและบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า วันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้ปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลางนวดใบหน้าเบา ๆ วนจากหน้าผากผ่านแก้มลงมาที่คาง ประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นทำการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าที่หน้ากระจก โดยทำท่าทางยักคิ้ว ขมวดคิ้ว หลับตาปี๋ ย่นจูมก ทำแก้มป่อง (พยายามไม่ให้ลมลอดออกมา) ไม่ทำปากจู๋ ยิ้มไม่เห็นฟัน ท่าละ 20-30 ครั้ง
- กินอาหารที่ย่อยง่าย (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ผักต้มเปื่อย หมูหยอง เนื้อปลานุ่ม ๆ ที่เอาก้างออก เป็นต้น) และเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียด
- จิบน้ำ นม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ทีละน้อยบ่อย ๆ ป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ทำความสะอาดช่องปาก อย่าให้มีเศษอาหารค้างในช่องปาก ทำการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันหลังกินอาหารทุกครั้ง
ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- มีภาวะขาดน้ำ (เนื่องจากดื่มน้ำไม่ได้) หรือกินอาหารไม่ได้
- มีอาการเจ็บตา ตาแดง หรือตามัว
- หลังดูแลรักษานาน 3 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการสงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (เบลล์พัลซี) จำเป็นต้องแยกออกจากโรคสโตรก (โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน) ให้ชัดเจน เนื่องจากทั้ง 2 โรคนี้มีอาการปากเบี้ยวอย่างฉับพลันเหมือนกัน เนื่องจากมุมปากข้างหนึ่งอ่อนแรงไม่ขยับ เห็นชัดเวลายิ้มกว้าง
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้าที่อยู่นอกกะโหลกศีรษะ จึงมีอาการผิดปกติเฉพาะที่ใบหน้าเท่านั้น แขนขาจะแข็งแรง สามารถเดินเหินและทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้เป็นปกติ เนื่องจากไม่มีความผิดปกติในสมองแต่อย่างใด
ส่วนโรคสโตรกมีความผิดปกติเกิดขึ้นในสมอง (ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตัน) จึงทำให้มีอาการอ่อนแรงของใบหน้าและแขนขา เช่น มุมปากตก (ปากเบี้ยว) พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก แขนขาชาหรืออ่อนแรงข้างหนึ่ง เป็นต้น โรคนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันที และรับยาละลายลิ่มเลือด (ที่อุดตันในสมอง) ให้ได้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง (270 นาที) นับแต่เริ่มมีอาการเกิดขึ้น จึงจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะรุนแรงได้ (ดูเรื่อง "โรคหลอดเลือดสมอง" เพิ่มเติม)
ข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก นอกจากไม่มีอาการทางสมองดังที่พบในโรคสโตรกแล้ว อาการที่ใบหน้ายังมีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โรคสโตรกจะมีอาการอ่อนแรงเฉพาะที่ส่วนล่างของหน้า คือ ปากเบี้ยว (มุมปากตกข้างหนึ่ง) เพียงอย่างเดียว ส่วนบนของใบหน้ายังเป็นปกติ คือยักคิ้ว และปิดตาได้ทั้ง 2 ข้าง ส่วนโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งส่วนบนและส่วนล่าง จึงมีอาการปากเบี้ยว (มุมปากตกข้างหนึ่ง) ร่วมกับอาการคิ้วข้างเดียวกันนั้นยักขึ้นไม่ได้ และตาข้างเดียวกันนั้นปิดไม่ได้สนิท
2. โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกพบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายได้เป็นปกติเป็นส่วนใหญ่ แต่จำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาด้วยยาลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาทใบหน้าที่ผิดปกติ (รวมทั้งอาจต้องให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสบางชนิด) ให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลดี
ส่วนน้อยอาจมีอาการหน้าเบี้ยวอย่างถาวร หรือมีอาการที่เกิดจากการงอกผิดปกติของเส้นประสาทใบหน้า (facial synkinesis) แทรกซ้อน แพทย์อาจทำการแก้ไขด้วยการฉีดสารโบทูลินัม (botulinum toxin) หรือโบท็อกซ์ (Botox) หรือบางรายอาจทำการแก้ไขด้วยการผ่าตัด
3. โรคนี้จะค่อย ๆ ทุเลาจนดีขึ้นชัดเจนใน 2-3 สัปดาห์ โดยกล้ามเนื้อใบหน้าตอนบนจะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อนตอนล่าง กล่าวคือ ผู้ป่วยจะยักคิ้วและปิดตาได้ก่อนที่จะหายปากเบี้ยว ดังนั้น ผู้ป่วยควรเฝ้าสังเกต โดยยักคิ้วและหลับตาทุกวัน ถ้าพบว่าเริ่มทำได้ก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้เร็ว
4. การรักษาหลัก ๆ คือวิธีที่กล่าวไว้ในหัวข้อ "การรักษาโดยแพทย์" ส่วนวิธีรักษาอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม (กระตุ้นเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยให้อาการทุเลาลง), การฝึกควบคุมร่างกายด้วย "เทคนิคไบโอฟีดแบก (Biofeedback ซึ่งช่วยให้ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ดีขึ้น) ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาถึงความจำเป็น และเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย
5. อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หากมีผื่นงูสวัดปรากฏในบริเวณรอบ ๆ หูข้างเดียวกับใบหน้าซีกนั้น มักเกิดจากการติดเชื้องูสวัด ทำให้มีการอักเสบของประสาทใบหน้าและประสาทหู นอกจากอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีกแล้ว ยังมีอาการปวดหู มีเสียงดังในหู วิงเวียน บ้านหมุน คลื่นไส้ หูอื้อ หูตึง ตากระตุก เรียกว่า "กลุ่มอาการแรมเซย์ฮันต์ (Ramsay-Hunt syndrome)" แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส (เช่น อะไซโคลเวียร์) และยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน เพื่อลดการอักเสบและความรุนแรงของโรค