
สมองอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อสมอง
บางครั้งอาจพบมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย ซึ่งเรียกว่า meningoencephalitis
ถือเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบได้ประปรายตลอดปี (ยกเว้นผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี จะพบมากในฤดูฝน) บางครั้งอาจพบการระบาด
สาเหตุ
มีได้มากมาย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญคือ กลุ่มไวรัสอาร์โบ (arbovirus) ได้แก่ ไวรัสเด็งกี (dengue virus) ซึ่งเป็นต้นเหตุของไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค และไวรัสแจแพนีสบี (Japanese B virus)
สำหรับไวรัสแจแพนีสบี เป็นต้นเหตุของสมองอักเสบชนิดเจอี (Japanese B encephalitis หรือ JE) เชื้อไวรัสชนิดนี้ปกติอาศัยอยู่ในสัตว์ เช่น หมู ม้า วัว แพะ หนู นก เป็นต้น ติดต่อถึงคนโดยมียุงประเภทคิวเล็กซ์ (Culex) และเอดีส (Aedes) บางชนิด ซึ่งเป็นยุงรำคาญที่อยู่ตามบ้านเป็นพาหะนำโรค
ส่วนไวรัสกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ก็มี
- ไวรัสเริม (herpes simplex virus) ไวรัสอีสุกอีใส-งูสวัด (varicella-zoster virus) ไวรัสพิษสุนัขบ้า (rabies virus) ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองทางเส้นประสาท (peripheral nerve)
- ไวรัสหัด (rubeola virus) หัดเยอรมัน (rubella virus) คางทูม ไข้ผื่นดอกกุหลาบในทารก โปลิโอ ไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองโดยผ่านทางกระแสเลือด
- ไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์
- ไวรัสนิพาห์ (Nipah virus) ซึ่งอยู่ในหมู ติดต่อสู่คนโดยการสัมผัสโดยตรง โรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพเลี้ยงหมู มีรายงานโรคนี้ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ. 2541 มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 32
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ไทฟอยด์ สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส ซิฟิลิส วัณโรค) เชื้อรา (เช่น แคนดิดา คริปโตค็อกคัส Pseudoallescheria boydii) เชื้ออะมีบา (เช่น Naegleria fowleria) เชื้อเหล่านี้มักทำให้มีการอักเสบของเนื้อสมองร่วมกับเยื่อหุ้มสมอง (ดู โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
โรคนี้ยังอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรีย เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria)
บางครั้งอาจเกิดเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันหัด คางทูม ไข้หวัดใหญ่ และสมองอักเสบชนิดเจอี ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
อาการ
มักเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังมีอาการ บางรายอาจมีอาการชักหรือมีอาการสับสน พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนแปลงคล้ายอาการโรคจิต
ในเด็กเล็กอาจมีอาการไข้สูง ซึม ไม่ดูดนม อาเจียน
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นโรคลมชัก ความจำเสื่อม แขนขาเป็นอัมพาต สมองพิการ หูหนวก พูดไม่ได้ สายตาพิการ
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้หยุดหายใจ หมดสติ และตายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะตรวจพบไข้สูง ซึม หรือหมดสติ รีเฟล็กซ์ของข้อ (deep tendon reflex) ไวกว่าปกติ
อาจมีอาการอัมพาตของแขนขา มือสั่น เดินเซ
อาการคอแข็ง อาจพบได้ในรายที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย
ในเด็กเล็กอาจพบกระหม่อมโป่งตึง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะหลัง (lumbar puncture) เพื่อนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหาชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว ตรวจหาเชื้อต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนและน้ำตาล
นอกจากนี้ยังอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด ทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
หากสงสัยจะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล
ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ยากันชัก ปรับดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ ให้อาหารทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ เป็นต้น) และให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ เช่น
- ถ้าเกิดจากเชื้อเริม หรือเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด ให้ยาต้านไวรัส
- ถ้าเกิดจากเชื้อเอชไอวี ให้ยาต้านไวรัสเอดส์
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ให้ยาต้านจุลชีพตามชนิดของเชื้อต้นเหตุ
นอกจากนี้ บางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้ารุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ) อาจตายได้ ถ้าเกิดจากเชื้อแจแพนีสบี อาจตายถึงประมาณร้อยละ 25 ถ้าไม่ตายก็อาจพิการ ส่วนในรายที่ไม่รุนแรง อาจหายขาดเป็นปกติได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้ร่วมกับอาการชัก แขนขาอ่อนแรง ไม่ค่อยรู้ตัว หรือหมดสติ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน
เมื่อพบว่าเป็นสมองอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
สำหรับสมองอักเสบบางชนิด อาจป้องกันได้โดย
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และอีสุกอีใส
2. สำหรับสมองอักเสบจากเชื้อแจแพนีสบี ควรหาทางกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และระวังอย่าให้ถูกยุงกัด ส่วนวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้ แนะนำให้เริ่มฉีดในเด็กอายุ 1 1/2-2 ปี ควรฉีด 3 เข็ม โดย 2 เข็มแรกห่างกัน 1-2 สัปดาห์ (นานกว่านี้ก็ได้ถ้าไม่มาตามกำหนดนัด) อีก 1 ปีต่อมาฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้น
ข้อแนะนำ
โรคนี้อาจมีสาเหตุจากมาลาเรียดังที่เรียกว่ามาลาเรียขึ้นสมอง ถ้าพบอาการสมองอักเสบในคนที่อยู่ในเขตป่าเขาหรือเคยเดินทางไปเที่ยวเขตป่าเขาในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียและให้การรักษาแบบมาลาเรียขึ้นสมอง