- ความเครียด เช่น ขณะคร่ำเคร่งกับงาน หรืออ่านหนังสือสอบ อดนอน
- การได้รับบาดเจ็บในช่องปาก เช่น เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดหรือถูกแปรงสีฟัน ฟันปลอม หรืออาหารแข็ง ๆ กระทบกระแทก
- การมีประจำเดือน
- การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่เจือปนสารลดแรงตึงผิว (มีคุณสมบัติในการทำความสะอาดและเกิดฟอง) เช่น sodium lauryl sulfate, sodium lauroyl sarcosinate
- การแพ้อาหาร เช่น แป้งข้าวสาลี ไข่ นมวัว เนยแข็ง กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต อาหารที่มีรสเค็ม รสเผ็ด ของเปรี้ยวหรือผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด (เช่น ส้ม ส้มโอ สับปะรด สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ เป็นต้น)
- การแพ้แบคทีเรียบางชนิดที่มีอยู่ในช่องปาก
- การใช้ยา เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยารักษาโรคกระดูกพรุน-อะเลนโดรเนต (alendronate)
- ภาวะขาดธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก หรือวิตามินบี 12
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- การป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease/IBD)*
- การเลิกบุหรี่ อาจกระตุ้นให้เกิดแผลแอฟทัสในบางรายที่เลิกบุหรี่ใหม่ ๆ
*โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease/IBD) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
โรคนี้พบว่ามีการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองหรือออโตอิมมูน (autoimmune) ถ้ามีการอักเสบจำกัดอยู่เฉพาะในลำไส้ใหญ่ เรียกว่า "โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (ulcerative colitis)" ถ้ามีการอักเสบที่จุดใดจุดหนึ่งหรือหลายจุดของทางเดินอาหารตลอดแนวตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก เรียกว่า "โรคโครห์น (Crohn’s disease)"
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรัง ด้วยอาการปวดท้อง ท้องเดิน อุจจาระมีเลือดหรือมูกปน และอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด (เนื่องจากมีแผลที่ลำไส้ ทำให้มีเลือดออก) ซีด (จากการเสียเลือด) มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
ในรายที่มีแผลที่บริเวณผนังคอหอย/ทอนซิล จะมีอาการเจ็บคอเพียงจุดเดียวหรือข้างเดียว (ซึ่งผู้ป่วยสามารถระบุตำแหน่งได้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรู้สึกเจ็บมากเวลากลืนหรือพูด ทำให้กลืนหรือพูดลำบาก และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หูข้างเดียวกันเวลากลืน
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายอะไร นอกจากสร้างความเจ็บปวด กินและพูดลำบากชั่วคราว
สำหรับผู้ที่มีแผลแอฟทัสขนาดใหญ่ อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. แนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย ในการดูแลตนเอง และการป้องกันไม่ให้แผลกำเริบบ่อย ในรายที่มีอาการปวดมากให้ยาบรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล และแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้ ป้ายแผลวันละ 2-4 ครั้ง จนกว่าจะทุเลา
- ครีมสเตียรอยด์ชนิดป้ายปาก เช่น ครีมป้ายปากไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ (บรรเทาปวดและช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น)
- ยาชา เช่น เจลลิโดเคน (lidocaine) ชนิด 2% (บรรเทาปวด)
2. ในรายที่ให้ดูแลรักษาข้างต้นไม่ได้ผล มีอาการรุนแรง แผลไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย (เช่น ซีดหรือโลหิตจาง ปวดท้องบ่อย ท้องเดินเรื้อรัง มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลดฮวบ) แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหาร ตรวจชิ้นเนื้อ (โดยตัดเนื้อเยื่อจากแผลไปส่งตรวจ) เป็นต้น ให้การรักษาตามสาเหตุและความรุนแรง เช่น ให้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน, ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีโลหิตจางจากภาวะขาดเหล็ก, ให้กรดโฟลิกหรือวิตามินบี 12 หรือสังกะสีในรายที่ขาด, รักษาโรคที่ตรวจพบ (เช่น เอดส์ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง) เป็นต้น
หากไม่มีภาวะผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย และให้การรักษาดังข้อที่ 1 ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) กินระยะสั้น ๆ เพื่อลดการอักเสบ ยานี้แพทย์จะใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องเพราะใช้พร่ำเพรื่อหรือนาน ๆ มีผลข้างเคียงมากและอาจเกิดอันตรายได้
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ต้องใช้ยา (นอกจากยาบรรเทาปวดในรายที่ปวดมาก) แต่มักจะมีอาการกำเริบได้บ่อย โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
ส่วนน้อยที่อาจมีความรุนแรง (ซึ่งการให้ยาบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล) หรือมีโรค/ภาวะผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่ไปด้วย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายแผล เช่น อาหารเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด อาหารแข็ง
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำ 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
- ถ้าปวดให้อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำเย็น
- ถ้าปวดมากให้กินพาราเซตามอล* และ/หรือใช้ยาป้ายแผลในปากตามที่แพทย์แนะนำ
- มีไข้สูง อ่อนล้า ซีด หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย หรือมีอาการปวดท้องและท้องเดิน เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
- ปวดแผลรุนแรง กินยาบรรเทาปวดไม่ได้ผล
- กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ
- แผลมีขนาดใหญ่ หรือขึ้นพร้อมกันหลายแผล
- มีอาการเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
- มีประวัติการแพ้ยา สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือมีโรคตับ โรคไต หรือประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยา หรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- ดูแลตนเอง 3-4 วันแล้วอาการปวดไม่ทุเลา
- มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
- กินยาตามและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัด
- ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
- กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำ
- ใช้ยาที่แพทย์แนะนำ 3-4 วันแล้วอาการปวดไม่ทุเลา หรือกลับมีอาการปวดมากขึ้น หรือมีไข้ขึ้น
- มีอาการที่สงสัยว่าแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ
2. ควรแยกแผลแอฟทัสออกจากเริมในช่องปากชนิดกำเริบซ้ำ ซึ่งมักจะขึ้นเป็นแผลเดียวที่เหงือกหรือเพดานแข็ง และอาจมีไข้ร่วมด้วย ทั้ง 2 โรคนี้สามารถให้การรักษาตามอาการก็หายได้เอง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสเตียรอยด์ที่ใช้ป้ายแผลแอฟทัสในปาก เพราะถ้าเป็นเริมอาจทำให้โรคลุกลามได้
3. ในผู้หญิง แผลแอฟทัสมักกำเริบเวลามีประจำเดือน (ซึ่งอาจป้องกันได้ด้วยการกินยาเม็ดคุมกำเนิด) และขณะตั้งครรภ์มักจะไม่มีอาการกำเริบจนกว่าจะคลอด
4. ผู้ป่วยแผลแอฟทัสส่วนใหญ่มักมีอาการเพียงเล็กน้อย และหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรเฝ้าสังเกตตัวเอง หากมีอาการผิดสังเกต รู้สึกมีอาการที่รุนแรง หรือรักษาตัวเองแล้วไม่ทุเลา ก็ควรไปพบแพทย์
5. ในรายที่เป็นแผลแอฟทัสใหญ่ (มากกว่า 1 ซม.) หรือเป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรตรวจหาสาเหตุ บางรายอาจพบร่วมกับโรคเอดส์ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ในรายที่เป็นแผลนานเกิน 3 สัปดาห์ อาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งช่องปากระยะแรกก็ได้
6. ผู้ที่เป็นแผลแอฟทัสบ่อย บางรายอาจมีโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune diseases) เกิดขึ้นในเวลาต่อมาได้ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง เอสแอลอี คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดฮวบ ไข้เรื้อรัง ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเรื้อรัง ปวดหลังเรื้อรัง เป็นต้น ก็ควรไปพบแพทย์