ไส้เลื่อน แบ่งออกเป็นหลายชนิดตามสาเหตุและตำแหน่งที่พบ อาทิ
- ไส้เลื่อนสะดือ (umbilical hernia) หรือ สะดือจุ่น พบบ่อยในทารก มักมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้จะเห็นสะดือโป่ง ส่วนใหญ่จะหายได้เองก่อนอายุได้ 1-2 ปี ส่วนน้อยจะหายเมื่ออายุได้ 2-5 ปี
ไส้เลื่อนสะดือ ก็อาจพบในผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้หน้าท้องบริเวณรอบสะดืออ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง มักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ไส้เลื่อนขาหนีบ (inguinal hernia) นับเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด (ประมาณร้อยละ 70 ของไส้เลื่อนทั้งหมด) พบในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า (พบว่าในชั่วชีวิตของทุกคนมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนประมาณร้อยละ 27 สำหรับผู้ชาย ร้อยละ 3 สำหรับผู้หญิง) จะพบอาการมีก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบ ในผู้ชายบางรายอาจมีลำไส้ไหลเลื่อนลงมาที่ถุงอัณฑะ เรียกว่า "ไส้เลื่อนลงอัณฑะ"
ผู้ป่วยอาจมีหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบอ่อนแอมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาการของไส้เลื่อนมักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน บางรายอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง
- ไส้เลื่อนต้นขา (femoral hernia) พบที่บริเวณต้นขาด้านใน ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าขาหนีบ พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของไส้เลื่อนทั้งหมด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ไส้เลื่อนรอยแผลผ่าตัด (incisional hernia) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของไส้เลื่อนทั้งหมด เนื่องจากผนังหน้าท้องในบริเวณแผลผ่าตัดมีความอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลเลื่อนเป็นก้อนนูนที่บริเวณนั้น
*นอกจากนี้ยังมีไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นภายในช่องท้อง ที่พบบ่อยได้แก่ ไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia/diaphragmatic hernia) ซึ่งเป็นภาวะที่กระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดไส้เลื่อน ได้แก่
- การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน
- การมีประวัติเป็นไส้เลื่อนในวัยเด็กหรือเคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาก่อน
- การมีประวัติผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
- ผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเสื่อมของผนังหน้าท้อง
- ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังยังไม่เจริญแข็งแรงเต็มที่
- ไอเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หรือถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่
- ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
- ต่อมลูกหมากโต ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายปัสสาวะเป็นประจำ
- การมีบุตรหลายคน เนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรบ่อยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ และมีแรงดันในช่องท้องสูง
- ภาวะอ้วน การยกของหนักเป็นประจำ การมีน้ำในช่องท้อง (เช่น ในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง) และการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง) ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูง
ในผู้ใหญ่ หากไส้เลื่อนมีขนาดเล็ก อาจไม่มีอาการชัดเจน เช่น ในผู้หญิงที่เป็นไส้เลื่อนต้นขา มักไม่พบก้อนนูนที่บริเวณต้นขา แต่อาจมีอาการปวดบริเวณต้นขาเป็นครั้งคราวโดยไม่ทราบสาเหตุ จนกว่าก้อนมีขนาดโตขึ้นจึงจะเห็นก้อนนูนได้ชัด
ในรายที่มีไส้เลื่อนขนาดใหญ่ จะมีอาการเป็นก้อนนูนตรงบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน (สะดือ ขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด) สำหรับไส้เลื่อนขาหนีบซึ่งพบมากในผู้ชาย หากมีลำไส้เลื่อนไหลลงมาที่ถุงอัณฑะ จะพบว่ามีก้อนนูนที่ถุงอัณฑะ ทำให้อัณฑะบวมโตกว่าอีกข้างที่ปกติ
ก้อนนูนของไส้เลื่อนมักจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป ก้อนมีลักษณะนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด (นอกจากในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน อาจมีอาการปวดไส้เลื่อนอย่างฉับพลัน หรือปวดท้องรุนแรง)
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งจะตรวจพบสะดือโป่ง หรือก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด
บางรายแพทย์อาจวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
1. สะดือจุ่นในเด็กเล็ก แนะนำให้สังเกตอาการโดยไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขเมื่อสะดือจุ่นมีอาการปวด, มีอาการปวดท้องและอาเจียนรุนแรง (จากภาวะลำไส้อุดกั้นแทรกซ้อน), สะดือจุ่นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1-2 ซม., เมื่อครบอายุ 2 ปีแล้วสะดือจุ่นขนาดยังไม่เล็กลง หรือเมื่ออายุครบ 5 ปีแล้วยังไม่ยุบหายดี
2. สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไส้เลื่อนสะดือ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการปวดหรือก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น
3. ไส้เลื่อนที่พบบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือรอยแผลผ่าตัด ถ้ามีขนาดเล็กและไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ และนัดมาตรวจเป็นระยะ หากพบว่าก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีอาการปวด หรือผู้ป่วยมีความวิตกกังวล แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วน คือ นัดให้มารับการผ่าตัดเมื่อสะดวกและมีความพร้อม
4. ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง หรือก้อนติดคา แพทย์จะทำการผ่าตัดแบบเร่งด่วน
ผลการรักษา สำหรับไส้เลื่อนที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัดช่วยให้หายเป็นปกติได้เป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีไส้เลื่อนเกิดขึ้นใหม่ในเวลาต่อมาได้
ในรายที่ปล่อยไว้จนกลายเป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา และเกิดภาวะลำไส้อุดกั้น และ/หรือเป็นไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด ถ้าได้รับการผ่าตัดอย่างทันท่วงทีก็จะปลอดภัยและหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้
หากสงสัย เช่น มีอาการก้อนนูนที่บริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ หรือต้นขาเป็นครั้งคราวขณะลุกขึ้นยืน ยกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไส้เลื่อน ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด สำหรับกรณีต่อไปนี้
- ในรายที่ยังไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัด และแพทย์แนะนำให้สังเกตอาการ หรือรอนัดผ่าตัด หากมีอาการไส้เลื่อนติดค้างอยู่ข้างนอก ไม่ไหลกลับเข้าไปในช่องท้องอย่างที่เคย ก้อนไส้เลื่อนมีอาการปวดเจ็บ หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียนมาก ควรไปพบแพทย์โดยด่วน
- ในรายที่แพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด และกลับมาพักฟื้นที่บ้าน หากมีอาการผิดปกติ (เช่น มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ แผลอักเสบ เป็นต้น) มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา หรือมีความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ส่วนใหญ่ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากผู้ป่วยไส้เลื่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนสะดือ) มักเกิดจากการมีความอ่อนแอของผนังหน้าท้องมาแต่กำเนิด
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไส้เลื่อนและการกำเริบซ้ำของโรคนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง (ซึ่งทำให้มีอาการไอเรื้อรัง)
- ป้องกันท้องผูกด้วยการกินอาหารที่มีกากใยมาก และดื่มน้ำมาก ๆ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หากมีอาการไอเรื้อรัง ท้องผูก ต่อมลูกหมากโต ควรรีบดูแลรักษาให้อาการทุเลาลง