วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก และแผ่นแปะผิวหนัง ความหวังใหม่ของคนกลัวเข็ม ใกล้ได้ใช้แล้วรึยัง

เมื่อการระบาดของโควิด-19 นั้นยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด การพัฒนาวัคซีนจึงยังต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่แค่วัคซีนแบบฉีดเท่านั้น แต่ยังมีวัคซีนความหวังใหม่รอเราอยู่อีกหลายรูปแบบ เช่น การฉีดแบบไม่ใช้เข็ม แบบพ่น แบบแปะ แบบผง หรือแม้กระทั่งแบบเม็ด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน ใช้เวลาสั้นลงในการรับวัคซีน เก็บง่าย หรือขนส่งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง และลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังเพื่อผู้ใช้หลากหลายช่วงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป ให้เข้าถึงวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังลดขยะทางการแพทย์ได้อีกด้วย

วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก และแผ่นแปะผิวหนัง ความหวังใหม่ของคนกลัวเข็ม ใกล้ได้ใช้แล้วรึยัง

วัคซีนโควิด

เมื่อการระบาดของโควิด-19 นั้นยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด การพัฒนาวัคซีนจึงยังต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่แค่วัคซีนแบบฉีดเท่านั้น แต่ยังมีวัคซีนความหวังใหม่รอเราอยู่อีกหลายรูปแบบ เช่น การฉีดแบบไม่ใช้เข็ม แบบพ่น แบบแปะ แบบผง หรือแม้กระทั่งแบบเม็ด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน ใช้เวลาสั้นลงในการรับวัคซีน เก็บง่าย หรือขนส่งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง และลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังเพื่อผู้ใช้หลากหลายช่วงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ กันไป ให้เข้าถึงวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังลดขยะทางการแพทย์ได้อีกด้วย

 

วัคซีนแบบพ่นจมูก และแผ่นแปะผิวหนัง ความหวังใหม่ที่น่าจับตามอง

 

นอกจากยารักษาไวรัสโควิด-19 แบบยาเม็ดรับประทาน Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ที่เป็นความหวังไปก่อนหน้านี้แล้ว ในส่วนของวัคซีน มีที่น่าจับตามองอยู่สองแบบคือ แบบพ่นและแปะ ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ซึ่งทั้งสองแบบนั้นไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ทำไมสถาบันวิจัยหลายแห่งสนใจทำการทดลองเพื่อผลิต มาทำความรู้จักกันค่ะ

 

วัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูก เป็นวัคซีนที่ใช้การพ่นละอองฝอยเข้าทางจมูกเพื่อส่งวัคซีนไปสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง ซึ่งไวรัสนั้นมักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกแล้วแพร่ไปยังปอดและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากการทดสอบพบว่าวิธีนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและดีกว่าแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบฆ่าเชื้อเพื่อต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อ สกัดกั้นไวรัส และลดการแพร่เชื้อต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนได้ จึงถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

 

ส่วนวัคซีนโควิด-19 แบบแผ่นแปะนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัย นอร์ธแคโรไลนา ร่วมกันคิดวัคซีนโควิดชนิดใหม่นี้ ประกอบด้วยโพลีเมอร์ที่มีไมโครนีดส์ ที่ทำหน้าที่เป็นวัคซีนกึ่งแข็งที่จะละลายตามอุณภูมิของร่างกาย และซึมเข้าสู่ผิวหนังผ่านเข็มขนาดเล็ก หรือไมโครนีดเดิล โดยผลิตแบบแผ่นแปะโพลีเมอร์มีขนาด 1 ตารางเซนติเมตร มีไมโครนีดเดิลพิมพ์ 3 มิติ 100 ชิ้น ความยาว 700 ไมโครเมตร เพื่อส่งวัคซีนให้ซึมเข้าสู่ผิวหนัง

 

วัคซีน 2 รูปแบบนี้ ผู้ใช้ยังสามารถทำได้เองที่บ้าน และไม่มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวดและความกังวลต่าง ๆ โดยผลการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดจากแผ่นแปะวัคซีนนั้นมากกว่าวัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนถึง 10 เท่า ซึ่งที่วัคซีนแบบแผ่นแปะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพราะในกล้ามเนื้อไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ แต่เมื่อวัคซีนนี้ถูกแปะลงบนผิวหนังจะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งขึ้น เพราะผิวหนังมีกลไลการป้องกันโรค โดยเมื่อได้รับวัคซีนเข้าไปก็จะสามารถกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ซึ่งวัคซีนแบบแปะ 3 มิติยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา

 

ขอบคุณภาพ : University of North Carolina at Chapel Hill

 

มีหลายประเทศทำการทดลองเพื่อผลิตวัคซีนโควิดความหวังใหม่แบบต่าง ๆ นี้ เช่น วัคซีนแบบพ่นจมูก มีทั้งประเทศจีน อินเดีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองไปแล้ว ซึ่งได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกกับอาสาสมัครระยะที่ 1 เพื่อการผลิตใช้ต่อไป

 

ส่วนวัคซีนหรือยาต้านไวรัสแบบเม็ด มีประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอิสราเอล ได้ทำการทดลองกันอยู่ โดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ Merck & Co ได้นำยาโมลนูพิราเวียร์เข้าทดลองระยะที่ 3 แล้ว หากทดลองสำเร็จจะยื่นขออนุญาตใช้ในกรณีฉุกเฉินต่อไป

 

นอกจากนี้ สวีเดนได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนรูปแบบผง สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่ต้องใช้ระบบขนส่งแบบความเย็น กระจายวัคซีนได้สะดวกและง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถให้วัคซีนได้โดยไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ลดการใช้คนและลดความเสี่ยง

 

ของไทยก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ เช่นกัน สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูก เป็นผลสำเร็จ และผ่านการทดสอบในหนูทดลองแล้ว ผลการทดสอบพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเลือกใช้ Influenza virus และ Adenovirus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางโพรงจมูกมาดัดแปลงให้ไม่มีความสามารถในการก่อโรค และใช้คุณสมบัติของไวรัส 2 ตัวนี้นำโปรตีนของโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ร่างกายรู้จักเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา การทดลองนี้เป็นการจำลองการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีและกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย

 

ในการวิจัยได้แบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับวัคซีนโดยการพ่นเข้าจมูก ส่วนกลุ่มที่สองได้รับการฉีดวัคซีนเข้าทางกล้ามเนื้อ ผลออกมาแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าการพ่นวัคซีนเข้าทางจมูกนั้น สามารถสร้างแอนติบอดีหรือเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายในปอดได้มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และเมื่อตรวจเลือด ก็พบว่ามีแอนติบอดีในผลเลือดสูงเช่นกัน แสดงว่าวัคซีนแบบพ่นจมูก และแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อนั้นสร้างแอนติบอดีได้เหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันตรงที่วัคซีนแบบพ่นจมูกจะทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งจมูก โพรงจมูก และคอหอย ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

 

โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบในผู้ทดลองเป็นเฟสแรกในปลายปี 2564 นี้ และในเฟส 2 เดือนมีนาคม ปี 2565 ซึ่งหากผลออกมาดีก็จะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565

 

 

 

อ้างอิง :

https://uncnews.unc.edu/2021/09/23/a-3d-printed-vaccine-patch-offers-vaccination-without-a-shot/
https://www.nstda.or.th/home/news_post/adenovirus-based/

ข้อมูลล่าสุด : 16 มิ.ย. 2565