ฮีลใจในสถานการณ์โควิด ใช้ชีวิตยังไงไม่ให้เครียด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กินระยะยาวนานต่อเนื่องหลายปี เป็นสาเหตุให้คนจำนวนมากเกิดความเครียด กังวล ท้อแท้ หรือรู้สึกเหงา โดยอาการเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลเสียกับสุขภาพใจแล้วยังกระทบไปถึงสุขภาพกาย เพราะความเครียดสะสม มีผลกับการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง

ฮีลใจในสถานการณ์โควิด ใช้ชีวิตยังไงไม่ให้เครียด

ความเครียด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กินระยะยาวนานต่อเนื่องหลายปี เป็นสาเหตุให้คนจำนวนมากเกิดความเครียด กังวล ท้อแท้ หรือรู้สึกเหงา โดยอาการเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลเสียกับสุขภาพใจแล้วยังกระทบไปถึงสุขภาพกาย เพราะความเครียดสะสม มีผลกับการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายนั่นเอง

 

หากรู้สึกเครียด ไม่มีความสุข หงุดหงิดง่าย เป็นอยู่แทบทั้งวันและหลายวันติดต่อกัน คงถึงเวลาที่จะต้องบำบัดจิตใจ จัดการความคิดและอารมณ์ของตัวเองก่อนอาการจะหนักขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

 

วิธีบำบัดจิตใจเมื่อเกิดความเครียด

 

  • หมั่นสังเกตจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง ว่าช่วงนี้หงุดหงิดบ่อยไหม รู้สึกเครียด กังวลตลอดเวลา หรืออยู่ ๆ ก็รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเปล่า เมื่อรับรู้ได้ว่ามีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้น ต้องรีบรู้สึกตัว อย่าปล่อยใจให้จมอยู่กับความรู้สึกนั้น พยายามหันเหความสนใจไปคิดเรื่องที่จะทำให้จิตใจสบายและมีความสุข เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ที่ Feel Good คลายเครียด และหลีกเลี่ยงหนังหรือเพลงที่จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง
  • ฝึกมีความสุขกับเรื่องเล็กน้อยรอบตัว เช่น มีความสุขที่วันนี้กับข้าวอร่อยเป็นพิเศษ วันนี้ท้องฟ้าสวยดูแล้วสดชื่น หรือขณะอาบน้ำรู้สึกถึงความสบายเมื่อน้ำกระทบตัว รับรู้ถึงกลิ่นหอมของแชมพูและสบู่ และใช้ช่วงเวลานี้ผ่อนคลายความเครียด
  • ฝึกคิดในแง่บวก การมีทัศนคติที่ดี รู้จักให้อภัย ไม่วกวนอยู่แต่กับความรู้สึกด้านลบ พยายามทำใจให้เป็นกลางและเปิดใจให้กว้างเวลารับฟังเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงการพูดและฟังอย่างมีสติจะช่วยให้เราแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างสร้างสรรค์ เช่น แทนที่จะสั่งให้ผู้อื่นไปล้างมือก่อนทานข้าว ก็เปลี่ยนคำพูดด้วยการแสดงความเป็นห่วงแทนการสั่ง เพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างอารมณ์ด้านบวกให้คนใกล้ชิดได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้จะอยู่บ้านแต่ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หากไม่มีอุปกรณ์ สามารถออกกำลังกายง่าย ๆ ด้วยการเต้นแอโรบิก หรือการเล่นโยคะ เป็นต้น เพื่อช่วยให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข (Endrophine) ออกมา ทำให้ร่างกายรู้สึกสบายและมีความสุข
  • หาช่องทางสื่อสารกับผู้อื่น แม้จะออกไปไหนได้ไม่บ่อยนักก็ต้องติดต่อกับโลกภายนอกบ้าง พูดคุยกับเพื่อน หรือผู้คนใหม่ ๆ จะโทรหาหรือติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียก็ได้ โดยหัวข้อสนทนาควรเป็นเรื่องที่เพิ่มความรู้สึกด้านบวก ได้หัวเราะ มีความสุข และหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือใช้โซเชียลมีเดียที่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบ เพราะการพูดคุยเรื่องที่เครียด ซ้ำ ๆ กันนาน ๆ จะทำให้เกิดความเครียดสะสมได้
  • หางานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจอยากทำ การทำงานอดิเรกที่ชอบ ถือเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เหมือนเราได้ออกกำลังกายสมอง ทั้งยังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เรามีไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานอีกด้วย งานอดิเรกที่ทำอาจจะเป็น การวาดรูป ทำขนมหรือทำอาหาร แต่งเพลง เล่นดนตรี เล่นโยคะ หรือการเรียนภาษาใหม่ ๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรนอนหลับให้เพียงพอและเป็นเวลา โดยควรนอนไม่เกิน 5 ทุ่มจะเป็นผลดีที่สุด ในกรณี Work from Home เมื่อตื่นนอนควรกำหนดเวลาเริ่มงาน และเลิกงานให้ชัดเจน แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวให้ร่างกายได้พักด้วย
  • ฝึกสมาธิและฝึกอยู่กับปัจจุบัน ควรหาโอกาสฝึกสมาธิ หมั่นรู้สึกตัวและเตือนตัวเองไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน และฝึกอยู่กับปัจจุบัน เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันความเครียดจะน้อยลง หากทำเป็นประจำจะช่วยให้ความคิด การเรียนรู้ และการตัดสินใจดีขึ้น การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

 

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดความเครียด แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะบรรเทาความเครียดนั้นได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ลองมองหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว ค่อย ๆ ปรับตัวและยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวต่อไป อีกไม่นานเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่อีกครั้งแน่นอน

ข้อมูลล่าสุด : 17 พ.ค. 2565