อย่าชะล่าใจ "โควิดลงปอด" อาการแบบไหน และวิธีรับมือก่อนเข้า รพ.

ตอนนี้ทั่วโลกได้รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุดกันไปแล้ว นั่นก็คือ "โอมิครอน" Omicron (หรือโอไมครอน) ที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วที่สุด มากกว่าเดิม 2-5 เท่า แต่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเบากว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่เราได้พบกันมา ผู้ที่ติดเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ หรือบางคนอาการน้อยเหมือนหวัดธรรมดา มาดูกันว่าอาการของโอมิครอนที่พบมากในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

อย่าชะล่าใจ "โควิดลงปอด" อาการแบบไหน และวิธีรับมือก่อนเข้า รพ.

โควิดลงปอด

ตอนนี้ทั่วโลกได้รู้จักโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุดกันไปแล้ว นั่นก็คือ "โอมิครอน" Omicron (หรือโอไมครอน) ที่อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วที่สุด มากกว่าเดิม 2-5 เท่า แต่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเบากว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ที่เราได้พบกันมา ผู้ที่ติดเชื้อบางคนไม่แสดงอาการ หรือบางคนอาการน้อยเหมือนหวัดธรรมดา มาดูกันว่าอาการของโอมิครอนที่พบมากในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

 

ไอ 54%
เจ็บคอ 37%
มีไข้ 29%
ปวดกล้ามเนื้อ 15%
มีน้ำมูก 12%
ปวดศีรษะ 10%
หายใจลำบาก 5%
ได้กลิ่นลดลง 2%

 

นอกจากนี้ยังมีอาการใหม่เพิ่มขึ้นมาจากสายพันธุ์อื่น ๆ คือ เหงื่อออกตอนกลางคืน ถึงจะนอนหลับในห้องแอร์ แต่เหงื่อจะออกจนเปียกโชกให้เราต้องลุกขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้ากันเลยทีเดียว

 

เนื่องด้วยตอนนี้ได้มีการปรับกฎเกณฑ์การเข้ารักษาตัวใหม่ โดยผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ เช่น ไม่เป็นโรคเรื้อรัง ความดันโลหิตไม่สูง เป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว เน้นให้รักษาตัวแบบ home isolation ถึงแม้ผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องระวัง ก็อาจมีอาการหนักขึ้นได้ โดยอาการที่อันตรายต้องเฝ้าระวังก็คือ "อาการโควิดลงปอด" ยังเป็นอาการสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม

 

โควิด-19 ลงปอดอาการแบบไหน

 

โดยทั่วไปแล้ว การที่โควิดลงปอดส่วนใหญ่จะจัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง มีอาการดังนี้

  • มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  • มีอาการไอ ทั้งไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ เป็นสัญญาณที่บอกว่าปอดเริ่มอักเสบ
  • หายใจลำบากขึ้น รู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด แน่นหน้าอก
  • รู้สึกเหนื่อยหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น จากที่ปกติไม่เหนื่อยกลับเหนื่อย
  • สำหรับผู้ที่มีเครื่องวัดออกซิเจน วัดค่าออกซิเจนได้ต่ำกว่า 94% ลงไป

 

แต่สำหรับบางคนอาการอาจจะไม่ชัดเจน มาดูวิธีทดสอบว่าโควิดลงปอดหรือไม่กัน

 

เบื้องต้นอาจลองเดินไปมา ซึ่งโดยปกติจะไม่เหนื่อย ลุกยืนหรือลุกนั่ง 3 ครั้ง หรือกลั้นหายใจ 10-15 วินาที หากทำแล้ว "เหนื่อย" และวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% ลงไป ให้สงสัยว่าโควิดลงปอดไว้ก่อน

 

หรือทดสอบอาการเหนื่อยด้วยวิธี Sit-to-Stand Test 

 

อุปกรณ์ เก้าอี้ที่แข็งแรงชนิดมีพนักพิงหลัง แต่ไม่มีที่เท้าแขน และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

 

1. สวมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเอาไว้ ดูค่าที่วัดได้แล้วจำไว้ ยืนเท้าเอวทั้งสองข้างหน้าเก้าอี้ 

 

2. จากนั้นนั่งลงให้เต็มก้นแล้วลุกขึ้นยืนตรงทันที โดยไม่ใช้มือดันหรือจับเก้าอี้ แล้วกลับไปนั่งให้เต็มก้นอีกครั้ง ทำซ้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ใน  1 นาที โดยใช้ความเร็วแบบปลอดภัยและไม่หักโหม (ควรทำได้ 20-30 ครั้ง ใน 1 นาที) หากเกิดอาการเหนื่อยอย่างมากให้หยุดทันที ไม่ต้องรอให้ครบ 1 นาที

 

3. เมื่อครบ 1 นาที เช็กดูที่เครื่องวัดออกซิเจนอีกครั้ง ถ้าออกซิเจนลดลงจากเดิม 3% ขึ้นไป หายใจเหนื่อย หอบมาก พูดเป็นคำไม่ได้ แสดงว่าปอดมีปัญหา เป็นสัญญาณของเชื้อลงปอด

 

4. ถ้าหากไม่มีเครื่องวัดออกซิเจน อาจจะใช้วิธีจับชีพจร โดยต้องไม่เกิน 120 ครั้งต่อนาที
 

ผู้ที่ไม่ควรทดสอบวิธีนี้ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทรงตัวไม่ดี ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่มีชีพจรช้าหรือเร็วผิดปกติ ผู้ที่มีสัญญาณชีพไม่คงที่ หรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำจนเกินไป

 

 

เมื่อโควิด-19 ลงปอดแล้วมีวิธีรับมือตอนรอเตียงอย่างไร

 

เมื่อโควิดลงปอดจะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากผิดปกติ ดังนั้นต้องช่วยให้ปอดทำงานได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการ "นอนคว่ำ" เนื่องจากปอด 2 ใน 3 จะอยู่ด้านหลัง เพื่อให้ปอดไม่มีการกดทับ เมื่อปอดทำงานได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนในร่างกายก็จะสูงขึ้น

 

  • นอนคว่ำ และกอดหมอนไว้ที่หน้าอก เพื่อให้นอนสบายขึ้น โดยตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง
  • ถ้านอนคว่ำไม่ได้ หรือหายใจไม่ออก ให้นอนตะแคงกึ่งคว่ำ หรือเอียงตัวประมาณ 45 องศา
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ให้นอนโดยตะแคงด้านซ้ายลง และเฉียงตัวประมาณ 45 องศา จะทำให้น้ำหนักของมดลูกไม่ไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก
  • ระหว่างนอนให้ขยับขาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน เช่น งอเข่าเข้าออก หรือเหยียดปลายเท้าแล้วดึงเข้าหาตัว ให้เกิดการเคลื่อนไหวบริเวณกล้ามเนื้อส่วนน่องและส่วนขา ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

 

การดูแลตัวเองเบื้องต้นระหว่างรอเตียง

  • เตรียมยาที่ควรมีติดบ้านช่วงโควิดเอาไว้ เช่น พาราเซตามอล, ยาโรคประจำตัว, ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำมูก, ยาแก้ไอ, ยาละลายเสมหะ, ฟ้าทะลายโจร, ผงเกลือแร่ และยาสามัญประจำบ้านตัวอื่น ๆ
  • ถ้ายังรับประทานอาหารได้ ให้พยายามทานให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ เลือดไม่ข้น หรือหนืด โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดก็จะลดลง และช่วยให้ไม่รู้สึกเพลีย หรือมีอาการหน้ามืด แต่อย่าดื่มน้ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจาง
  • ถ้าหากรับประทานอาหารไม่ได้ ควรดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน หากหาซื้อเกลือแร่ไม่ได้ ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่น ½ ช้อนชา ผสมลงในน้ำ 1 ขวด (750 มิลลิลิตร) แล้วดื่มแทน
  • หากมียาที่ต้องกินประจำ แนะนำให้กินยาให้ต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนงดยา อย่าหยุดยาเองหากไม่มีความจำเป็น ป้องกันการกำเริบของโรคประจำตัวที่มีอยู่
  • อย่าลุกไปเข้าห้องน้ำเองคนเดียว ถ้าเหนื่อยมาก การเบ่งถ่ายอาจทำให้หมดสติได้ ให้เตรียมที่สำหรับถ่ายไว้ข้างเตียง เช่น กระโถน
  • หากท้องผูก ให้กินยาระบายอ่อน ๆ

 

แม้โอมิครอนจะมีอาการรุนแรงน้อย แต่ก็อย่าชะล่าใจกัน ระวังให้ไม่ติดโควิดดีที่สุดแล้ว ส่วนวิธีป้องกันโควิดที่ได้ผลยังคงเป็นการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่คนเยอะหรือไปอยู่ในพื้นที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท รักษาระยะห่าง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างคุมกันให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา

 

 

 

อ้างอิง :

https://www.thoracicsocietythai.org/2021/04/24/sit-to-stand-test-for-patients-with-covid/

www.vichaivej-nongkhaem.com/health-info/เชื้อลงปอดดูแลตัวเอง/

 

ข้อมูลล่าสุด : 17 พ.ค. 2565