งูกัด

งูกัด ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมเบอร์ฉุกเฉินเรียกรถพยาบาล

งูกัด
งูกัด
การปฐมพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังถูกงูกัดทันทีก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาล มีดังนี้

เมื่อถูกงูพิษหรือสงสัยว่าเป็นงูพิษกัด ผู้ป่วยควรตั้งสติ ลดความตื่นเต้นตกใจ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด อย่ารีรอจนพิษงูซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก หรือรอให้มีอาการเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้

  • ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์, โพวิโดนไอโอดีน) ถ้ารู้สึกปวดแผลให้กินพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพรินเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • พยายามเคลื่อนไหวแขนหรือขาส่วนที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ควรจัดตำแหน่งของส่วนที่ถูกงูกัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ (เช่น ห้อยเท้าหรือมือส่วนที่ถูกงูกัดลงต่ำ) ระหว่างเดินทางไปยังสถานพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยเดิน ควรให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในรถหรือแคร่หาม ทั้งนี้เพื่อชะลอไม่ให้พิษงูแล่นเข้าหัวใจ
  • ควรดูให้รู้แน่ว่าเป็นงูอะไร แต่ถ้าไม่แน่ใจควรรีบถ่ายภาพงูไว้ หรือบอกให้คนอื่นที่อยู่ในที่เกิดเหตุช่วยตีงูให้ตายและนำไปยังสถานพยาบาลด้วย  (อย่าตีให้เละจนจำลักษณะไม่ได้) แต่ถ้างูหลบหายไปก็ไม่ควรเสียเวลาในการตามหา
  • ถอดเครื่องประดับ (เช่น แหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่ถูกงูกัด หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้
  • อย่าทำการขันชะเนาะหรือใช้เชือกหรือยางรัดเหนือบาดแผล เพื่อป้องกันพิษแล่นเข้าหัวใจตามความเชื่อเดิม เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว หากรัดแน่นและนานเกินไปอาจทำให้แขนหรือขาข้างที่รัดนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเนื้อตายได้
  • อย่าพยายามบีบเลือด รีดหรือดูดพิษออกจากบาดแผล เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้วยังอาจทำให้แผลอักเสบได้
  • อย่าใช้ไฟ บุหรี่ ธูป หรือเหล็กร้อน จี้ที่แผลงูกัด และอย่าใช้มีดกรีดแผลเป็นอันขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกงูที่มีพิษต่อเลือดกัด เช่น งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้) หรืออาจตัดถูกเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • อย่าให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาดองเหล้า หรือกินยากระตุ้นประสาท รวมทั้งชา กาแฟ
  • ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการหยุดหายใจ (จากงูที่มีพิษต่อประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม) ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจไปตลอดทางจนกว่าจะถึงสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด

 

นอกจากข้อมูลข้างต้นโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ แล้วยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบวิดีโอที่จัดทำโดย RAMA Channel ซึ่งผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่าง ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก RAMA Channel