กระดูกหัก
กระดูกหัก ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมเบอร์ฉุกเฉินเรียกรถพยาบาล
กระดูกหัก
วิธีการปฐมพยาบาล มีดังนี้
สำหรับกระดูกหักแบบปิด คือ กระดูกหักอยู่ภายใน โดยไม่มีบาดแผลที่ผิวหนัง
- ทำการดามกระดูกส่วนที่หัก โดยใช้แผ่นไม้ กระดาษแข็ง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับทบหลาย ๆ ชั้น ทำเป็นเฝือกวางแนบส่วนที่หัก โดยให้ปลายทั้ง 2 ข้างครอบคลุมถึงข้อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก ใช้ผ้าพันยึดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหว
- ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือ ให้ใช้ผ้าคล้องคอ
- ถ้าเป็นที่ขา อาจใช้ขาข้างที่ดีทำเป็นเฝือกแทน โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหนา ๆ วางคั่นตรงกลางขาทั้ง 2 ข้าง แล้วใช้ผ้าพันรอบขาทั้ง 2 ข้างหลาย ๆ เปลาะ
สำหรับกระดูกหักแบบเปิด คือ มีบาดแผลที่ผิวหนัง และกระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ
- ห้ามดึงกระดูกให้กลับเข้าที่ เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในบาดแผล ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เจ็บปวดมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่ใต้ผิวหนัง (เช่น กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาท) ได้
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (น้ำต้มสุก หรือน้ำขวดที่ใช้ดื่ม) หรือน้ำเกลือ (ที่ใช้ทางการแพทย์) ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปิดคลุมกระดูกที่โผล่ออกมาไว้
- ใช้ไม้หรือกระดาษแข็งดามแขนหรือขาที่มีกระดูกหัก (ในท่าที่แขนหรือขาคดงออยู่แต่แรกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องดามในท่าเหยียดตรง) หรือพยายามพยุงให้ส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่กับที่ ไม่ขยับเขยื้อน
- ถอดเครื่องประดับ (เช่น แหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่มีกระดูกหัก หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้
- ยกแขนหรือขาที่มีกระดูกหักให้สูงกว่าลำตัว และใช้ความเย็น (เช่นน้ำแข็งใส่ถุงสะอาด) ประคบบริเวณใกล้บาดแผลเพื่อบรรเทาปวด
- ถ้ามีเลือดออก ให้ทำการห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าสะอาดกดแรง ๆ บริเวณรอบ ๆ บาดแผล อย่ากดโดนกระดูกที่โผล่ออกมา หรือกรณีที่มีเลือดออกมาก ใช้วิธีขันชะเนาะเหนือบาดแผลประมาณ 1 ฝ่ามือให้แน่นจนห้ามเลือดได้
นอกจากข้อมูลข้างต้นโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ แล้วยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบวิดีโอที่จัดทำโดย Mahidol Channel ซึ่งผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่าง ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Mahidol Channel