ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก

ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมเบอร์ฉุกเฉินเรียกรถพยาบาล

ไฟไหม้/น้ำร้อนลวก
น้ำร้อนลวก
วิธีการปฐมพยาบาล มีดังนี้

สำหรับบาดแผลเล็กน้อย หมายถึง บาดแผลที่มีลักษณะเป็นรอยแดงคล้ายถูกแดดเผา มีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือเป็นตุ่มพองขนาดเล็กน้อย และมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 8 เซนติเมตร

  • รีบใช้น้ำเย็น หรือน้ำก๊อก ประคบบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน และป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น

อาจใช้วิธีเปิดน้ำก๊อกให้ไหลชะรอยแผลอย่างต่อเนื่อง หรือแช่ในน้ำเย็น หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น หรือใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำเย็นวางตรงบริเวณที่มีบาดแผล อย่างน้อย 20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนทุเลาลง 

  • ถ้าเป็นรอยแดง ปวดแสบปวดร้อน หลังซับให้แห้งแล้วใช้วุ้นจากใบหางจระเข้ (เช่น เจลว่านหางจระเข้) หรือวาสลีนทา วันละ 2-3 ครั้ง (ควรทาเบา ๆ ระวังอย่าลูบหรือถูแรง ๆ อาจกระทบต่อผิวหนังที่บาดเจ็บอยู่ได้) ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลหรือผ้าก๊อซที่สะอาด

  • ถ้าเป็นตุ่มพอง ไม่ควรเจาะออก ควรปล่อยให้แห้งและหลุดล่อนไปเอง (ถ้าตุ่มแตกเองให้ทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผลหรือน้ำสะอาด) หลังซับให้แห้ง ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ปิดแผลหรือผ้าก๊อซที่สะอาด แต่อย่าให้แน่นมาก  

  • ถอดเครื่องประดับ (เช่น แหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้

  • ถ้าปวดแผล กินพาราเซตามอล

  • ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. มีอาการปวดมาก หรือกินยาแก้ปวดไม่บรรเทา 
2. รอยแดงมีขนาดกว้างมาก หรือเป็นที่บริเวณใบหน้า หู ตา หรือตามข้อพับต่าง ๆ หรือพบในทารกหรือผู้สูงอายุ
3. ตุ่มพองมีขนาดใหญ่ หรือกินบริเวณกว้าง (มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 8 เซนติเมตร) หรือเกิดขึ้นที่บริเวณหู ตา ใบหน้า มือ เท้า ขาหนีบ ตามข้อพับต่าง ๆ  อวัยวะเพศ หรือก้น 
4. บาดแผลไม่หายใน 1 สัปดาห์ หรือตุ่มพองมีการอักเสบหรือเป็นหนอง
5. มีความวิตกว่าบาดแผลมีความรุนแรงเกินกว่าจะดูแลรักษาด้วยตนเอง
 

สำหรับบาดแผลที่รุนแรง หมายถึง บาดแผลลึก ผิวหนังทั้งชั้นหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ หรือแดงสลับขาว หรือเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม หรือเป็นตุ่มพอง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 8 เซนติเมตร หรือมีตุ่มพองเกิดขึ้นที่บริเวณหู ตา ใบหน้า มือ เท้า ขาหนีบ ตามข้อพับต่าง ๆ อวัยวะเพศ หรือก้น ควรรีบไปโรงพยาบาล 

ควรให้การปฐมพยาบาลก่อนไปโรงพยาบาล ดังนี้

  • เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก หรือตัดออกเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่นก็ไม่ต้องดึงออกเพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม
  • ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
  • ถอดเครื่องประดับ (เช่น แหวน กำไล) ออกจากปลายแขนหรือขาที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก หากปล่อยไว้จนมีอาการบวมแล้วจะถอดได้ยาก หรือทำให้เกิดอันตรายได้
  • ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึงสถานพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรืออาจให้กินน้ำส้มคั้นใส่เกลือก็ได้ ควรให้ดื่มครั้งละ 1/4-1/2 แก้ว ทุก ๆ 15 นาที
  • ควรใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูงเล็กน้อย
  • ถ้าปวด ให้กินพาราเซตามอล
  • ถ้ามีภาวะช็อก (หน้าซีด เหงื่ออก ตัวเย็น หน้ามืด จะเป็นลม) ให้ทำการปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนราบศีรษะต่ำ หาอะไรมารองที่ใต้เท้าหรือยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ ใช้ผ้าหนา ๆ หรือผ้าห่มคลุมหรือห่อตัวให้อบอุ่น รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือติดต่อรถพยาบาลมารับ 

 

นอกจากข้อมูลข้างต้นโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ แล้วยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบวิดีโอที่จัดทำโดย Siriraj Channel ซึ่งผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่าง ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Siriraj Channel