CPR (การปั๊มหัวใจ) กรณีหมดสติ

CPR (การปั๊มหัวใจ) กรณีหมดสติ ขั้นตอนที่ถูกต้องในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมเบอร์ฉุกเฉินเรียกรถพยาบาล

CPR (การปั๊มหัวใจ) กรณีหมดสติ
ปฐมพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ

1. ตรวจสอบถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือในที่เกิดเหตุ (เช่น กรณีผู้ป่วยถูกไฟฟ้าช็อต ให้ทำการตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ) เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังจุดที่ปลอดภัยตามความจำเป็น (เช่น ย้ายจากกลางถนนไปที่ริมถนน) จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ๆ เช่น พื้นห้องหรือกระดานแข็ง แล้วปลดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้หลวม

2. ใช้มือตบที่บ่า 2 ข้าง 3 ครั้ง และปลุกเรียกดัง ๆ ถ้าไม่ตอบสนอง ให้รีบประเมินว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ (โดยดูการขยับขึ้นลงของหน้าอกและท้อง ใช้หลังมือวางชิดรูจมูก สัมผัสดูว่ามีลมหายใจหรือไม่) ถ้าไม่หายใจ หายใจพะงาบ ๆ หรือไม่แน่ใจว่ามีการหายใจ ให้ทำการกู้ชีพ (CPR) ทันที โดยรีบตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ โทรแจ้ง 1669 เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที (ให้เปิดสัญญาณมือถือและลำโพงไว้ติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา)
 
3. ทำการกู้ชีพ (CPR) ด้วยการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) โดยปฏิบัติ ดังนี้

  • นั่งคุกเข่าข้างตัวผู้ป่วย ทำการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) ด้วยอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที โดยมีวิธีกดหน้าอกแตกต่างตามอายุ ดังนี้

- อายุมากกว่า 8 ปี วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางอก (ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหัวนม 2 ข้าง) มืออีกข้างวางทาบหรือประสานไปบนมือแรก เหยียดแขนตรง (อย่างอแขน) ตั้งฉากกับผู้ป่วย โน้มตัวให้หัวไหล่อยู่เหนือตัวผู้ป่วย ทำการกดหน้าอกโดยการทิ้งน้ำหนักในทิศทางที่แรงกดดิ่งตรงลงไปที่กระดูกหน้าอก ทำให้กระดูกหน้าอกยุบลงอย่างน้อย 5-6 ซม. แล้วคลายมือให้สุดเพื่อให้หน้าอกคืนตัวสู่ตำแหน่งปกติ แล้วจึงค่อยกดครั้งต่อไป ทุกครั้งที่กดและคลายมือ ให้มือแตะอยู่กับหน้าอก และไม่ให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
- อายุ 1-8 ปี ทำการกดหน้าอกในทำนองเดียวกับข้างต้น แต่ให้ใช้ส้นมือเพียงข้างเดียว โดยขณะกดให้แขนเหยียดตรง ให้มีแรงกดที่ทำให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก ส่วนมือที่ว่างอีกมือหนึ่งวางบริเวณหน้าผากของเด็ก ดันหน้าผากให้หน้าของเด็กเชยคางขึ้นเพื่อให้เปิดทางเดินหายใจ
- ทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ให้ใช้นิ้ว 2 นิ้ว (นิ้วชี้กับนิ้วกลาง) กดตรงกลางหน้าอกแทนการใช้มือ กดให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1 ใน 3 ของความลึกของหน้าอก

 

4. ทำการกดหน้าอกต่อเนื่องไปไม่หยุด นาน 2 นาที ก็เปลี่ยนให้คนใหม่ทำต่อ อย่าหยุดกดหน้าอกเกิน 10 วินาที ผู้ช่วยเหลือสลับกันกดหน้าอกไปเรื่อย จนกระทั่งทีมกู้ชีพมาถึง หรือสังเกตเห็นผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวแขนขาและหายใจได้เอง (ในกรณีหลังควรจับผู้ป่วยนอนในท่าพักฟื้น และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากหยุดหายใจให้ทำการกดหน้าอกต่อ)

5. หากมีเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (automatic external defibrillator/AED) เมื่อนำมาเปิดเครื่องพร้อมใช้งาน ให้หยุดกดหน้าอก แล้วรีบใช้เครื่องนี้กระตุ้นหัวใจทันที เสร็จแล้วจึงค่อยทำการกดหน้าอก (นวดหัวใจ) ต่อไป 

หมายเหตุ
1. เมื่อพบว่าผู้ป่วยหมดสติและไม่หายใจ จะต้องลงมือทำการกดหน้าอกทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจชีพจรดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการกู้ชีพ ให้ทำการกู้ชีพด้วยการกดหน้าอกเพียงอย่างเดียว
 
2. สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการกู้ชีพ ให้ทำการกดหน้าอกสลับกับการเป่าปาก โดยกดหน้าอก 30 ครั้งในอัตรา 2 ครั้งต่อวินาที (30 ครั้งในเวลา 15-17 วินาที) แล้วทำการเป่าปาก 2 ครั้งในเวลา 3 วินาที

 

 

นอกจากข้อมูลข้างต้นโดย รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ แล้วยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในรูปแบบวิดีโอที่จัดทำโดย Mahidol Channel ซึ่งผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตามลิงก์ด้านล่าง ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก Mahidol Channel