
ฝีมะม่วง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้ประปราย
เกิดจากเชื้อคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis serotype L1-L3) ติดต่อโดยการร่วมเพศ หรือสัมผัสถูกหนองของฝีมะม่วงโดยตรง
ระยะฟักตัว 3-30 วัน (เฉลี่ย 1-2 สัปดาห์)
เริ่มแรกจะมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ และหายไปเองภายใน 2-3 วัน โดยที่ผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกตพบ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะบวมโตติดกันเป็นก้อนฝีขนาดใหญ่และเจ็บมาก ตรงกลางเป็นร่องของพังผืดที่คล้ายร่องมะม่วงอกร่อง จึงเรียกว่า ฝีมะม่วง ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ผิวหนังบริเวณที่เป็นฝีจะมีอาการอักเสบ มีลักษณะบวม แดง ร้อนร่วมด้วย
บางรายอาจปวดฝีมากจนเดินไม่ถนัด
บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อ ตาอักเสบ ผื่นขึ้นตามตัว
ฝีมะม่วงมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะในผู้หญิงน้ำเหลืองจากอวัยวะเพศจะระบายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องเชิงกรานมากกว่ามาที่ขาหนีบ
ถ้าไม่ได้รักษา ฝีอาจยุบหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือเป็นเดือน แต่บางรายฝีอาจแตกเป็นรูหลายรูและมีหนองไหล กลายเป็นแผลเรื้อรัง
โรคนี้อาจลุกลาม เกิดการอักเสบของทวารหนักจนตีบตัน ถ่ายอุจจาระไม่ออก มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
.jpeg)
อาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศภายนอกมีอาการบวมได้ (เช่น ปากช่องคลอดบวม อัณฑะบวม)
บางรายอาจเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ หรือเป็นฝีคัณฑสูตร
ที่สำคัญ คืออาจเกิดการตีบตันของช่องทวารหนัก ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ บางกรณีอาจต้องทำการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ
1. ให้ยาแก้ปวด ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือดอกซีไซคลีน ครั้งละ 100 มก. วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 21 วัน
2. ถ้าฝีไม่ยุบและมีลักษณะนุ่ม ควรใช้เข็มเบอร์ 16-18 ต่อเข้ากับกระบอกฉีดยา แล้วเจาะดูดเอาหนองออก ไม่ควรผ่าเพราะจะทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้มีการอุดกั้นของทางเดินน้ำเหลืองในบริเวณนั้นได้
หากสงสัย เช่น มีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบบวมโตและเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีมะม่วง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- สงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. หลีกเลี่ยงการเที่ยวหรือการสำส่อนทางเพศ
2. ถ้าจะหลับนอนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย
3. ฟอกล้างด้วยสบู่หลังการร่วมเพศทันที
1. หลังการรักษา 3 เดือน ควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลและเชื้อเอชไอวี เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น
2. ความเชื่อเกี่ยวกับของแสลง ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคหนองใน