กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบรุนแรงของผิวหนังและเยื่อเมือก (mucosa) ซึ่งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและการตายค่อนข้างสูง
สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกา พบโรคนี้ประมาณ 2.7-7.1 รายต่อ 1 ล้านคน-ปี (person-year) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า พบได้ในคนทุกวัย ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 10-40 ปี
กว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเกิดโรคขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชักนำใด ๆ
ส่วนกลุ่มที่ทราบสาเหตุชักนำนั้นมักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- การแพ้ยา ที่พบบ่อยได้แก่ ยาปฏิชีวนะ (กลุ่มซัลฟา เพนิซิลลิน) ยากันชัก (บาร์บิทูเรต เฟนิโทอิน คาร์บามาซีพีน) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เฟนิลบูทาโซน ไพร็อกซิแคม) ยารักษาโรคเกาต์ (อัลโลพูรินอล)
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากยาอื่น ๆ เช่น กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก) ยาปฏิชีวนะ (เซฟาโลสปอริน ไรแฟมพิซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน อีแทมบูทาล) ยาต้านไวรัส
- การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อไวรัส (เชื้อเริม เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ คางทูม ไข้หวัดใหญ่) เชื้อแบคทีเรีย (บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ คอตีบ ไทฟอยด์ ไมโคพลาสมา) เชื้อรา และโปรโตซัว
- โรคมะเร็ง มีโรคมะเร็งหลายชนิด รวมทั้งมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่ชักนำให้เกิดกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน
โดยทั่วไป ผู้ป่วยเด็กมักเกิดจากโรคติดเชื้อมากกว่าการแพ้ยาและมะเร็ง ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักเกิดจากการแพ้ยาและมะเร็งมากกว่าโรคติดเชื้อ
ที่สำคัญคือ มีอาการผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อเมือก
โดยก่อนมีผื่นขึ้น 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ เป็นหวัด ไอ ปวดข้อ อาเจียน ถ่ายเหลว เป็นอาการนำมาก่อน
ผื่นที่ผิวหนังเริ่มที่หน้า คอ คาง ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย เริ่มแรกมีลักษณะเป็นผื่นแดงและตุ่มนูน ไม่คัน ต่อมาผื่นตุ่มบางส่วนจะมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นตรงกลาง ตุ่มน้ำบางส่วนจะมีขนาดใหญ่คล้ายตุ่มพองจากน้ำร้อนลวก ซึ่งต่อมาจะแตกและหลุดออกเป็นรอยแผลสีแดง มีอาการเจ็บ ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายมาก และมีไข้ หนาวสั่น
ผื่นมักเป็นอยู่นาน 2-6 สัปดาห์ และเมื่อหายจะเหลือให้เห็นเป็นรอยคล้ำ
ส่วนผื่นที่เยื่อเมือกอาจเกิดพร้อมกับผื่นที่ผิวหนังหรือเกิดตามมาทีหลังก็ได้ พบได้ทั้งที่เยื่อบุตา จมูก ปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก
เยื่อบุปากจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำ แล้วแตกเป็นแผลไปทั่วปาก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปากมากจนกินอาหาร ดื่มน้ำได้น้อยหรือไม่ได้เลย และมีกลิ่นปากรุนแรง
การอักเสบที่เยื่อบุตาทำให้เจ็บตา ตาบวมแดง น้ำตาไหล มีสะเก็ดจับเกรอะทำให้ลืมตาไม่ได้
การอักเสบที่บริเวณอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก ทำให้ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระลำบาก ปัสสาวะแสบขัด ท้องผูก
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
ตา อาจเกิดแผลที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ หนังตาติดกัน ตาแห้ง (ไม่มีน้ำตา) และอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอด ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 3-10
ผิวหนัง เป็นแผลเป็น
ทางเดินหายใจ ถ้ามีเยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบร่วมด้วยอาจทำให้ปอดอักเสบ ภาวะการหายใจล้มเหลว
ทางเดินอาหาร ถ้ามีเยื่อบุหลอดอาหารอักเสบรุนแรงร่วมด้วยก็อาจทำให้หลอดอาหารตีบ
ทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ท่อปัสสาวะตีบ
อวัยวะเพศ ถ้ามีการอักเสบของเยื่อเมือกภายในอวัยวะเพศร่วมด้วย อาจทำให้ช่องคลอดตีบ หนังหุ้มปลายองคชาตติดกัน
นอกจากนี้ อาจมีการสูญเสียน้ำออกไปทางรอยแผลที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากการหลุดออกของตุ่มน้ำขนาดใหญ่ และถ้าร่างกายมีการติดเชื้อแทรกซ้อนรุนแรง ก็อาจกลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษได้
ภาวะแทรกซ้อนที่ตาของกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้ ผื่นและตุ่มน้ำตามผิวหนัง ตาบวมแดง ตาแฉะ ลืมตาลำบาก ปากเปื่อย เยื่อเมือกบริเวณอวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ และทวารหนักอักเสบ
มักพบรอยหลุดลอกของตุ่มน้ำขนาดใหญ่ มักกินพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 10 (ไม่เกิน 30) ของพื้นผิวกาย
บางรายแพทย์อาจทำการวินิจฉัยโดยการนำชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (skin biopsy)
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าติดตามอาการจนกว่าจะปลอดภัย โดยให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ในรายที่ทราบสาเหตุชักนำ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าสงสัยว่าเกิดจากการแพ้ยา ก็จะหยุดยาทุกชนิดที่สงสัยว่าแพ้ การแพ้ยาอาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติการแพ้ยาชนิดนั้น ๆ มาก่อนก็ได้
2. ให้การดูแลรักษาตามอาการหรือภาวะที่พบร่วม เช่น การให้สารน้ำ เกลือแร่ และสารอาหารบำรุงร่างกายให้เพียงพอ ให้ยาบรรเทาปวด ลดไข้ ดูแลผื่นตุ่มแผลที่ผิวหนังและในช่องปาก
ถ้ามีอาการทางตา ก็จะปรึกษาจักษุแพทย์ให้มาดูแลรักษาเพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนทางตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อาการตาบอด (เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้บ่อย และบางครั้งถ้าเป็นรุนแรงก็หาทางป้องกันไม่ได้) ซึ่งต้องติดตามดูแลกันนานเป็นแรมปี
ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร อวัยวะเพศ ก็จะปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันดูแลรักษา
3. ในรายที่มีโรคติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แพทย์ก็จะเลือกให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อชนิดนั้น ๆ
4. การใช้ยาสเตียรอยด์ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบและลดการแพ้ แพทย์อาจพิจารณาให้เป็นบางกรณี และจะให้ยาในขนาดสูงในช่วงสั้น ๆ เฉพาะในระยะแรกของโรค การใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรคนี้ยังเป็นที่ถกเถียงหาข้อสรุปไม่ได้ เท่าที่มีรายงานพบว่ามีทั้งที่รายงานว่าได้ผลดี และรายงานว่ากลับทำให้ผู้ป่วยแย่ลงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง มักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมา
ถ้าผิวหนังมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจใช้เวลารักษานาน 2-6 สัปดาห์
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา
หากสงสัย เช่น มีอาการผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อเมือก มีตุ่มน้ำหรือตุ่มพองคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น มีอาการหนังตาติด ตามัว หายใจลำบาก กลืนลำบาก ถ่ายปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. สำหรับคนทั่วไป พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยาที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย
2. ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วห้ามใช้ยาที่แพ้อีกต่อไป
1. โรคนี้อาจมีอาการแสดงคล้ายกับโรคผิวหนังอีก 2 ชนิด ได้แก่
โรคอีเอ็ม (erythema multiforme/EM) ผู้ป่วยจะมีผื่นแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ขึ้นตามผิวหนัง มักมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า target หรือ iris lesion (มีลักษณะเป็นวงแดงซ้อนกันหลายวง โดยตรงกลางเป็นรอยแดงคล้ำหรือเป็นตุ่มน้ำ วงถัดมาเป็นบริเวณที่มีการบวมเห็นเป็นสีซีด และวงนอกสุดเป็นสีแดง) พบมากที่บริเวณด้านนอกของแขนขามากกว่าลำตัว มักเป็นทั้ง 2 ข้างสมมาตรกัน อาจมีผื่นที่เยื่อเมือกเพียง 1 แห่ง (มักขึ้นในเยื่อบุปาก) หรือไม่มีเลยก็ได้ อาจมีสาเหตุจากการแพ้ยา การติดเชื้อ โรคภูมิต้านตนเองหรือมะเร็ง โรคนี้มักเป็นไม่รุนแรง ผื่นมักจะเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์
โรคทีอีเอ็น (toxic epidermal necrolysis/TEN) จัดเป็นโรคในกลุ่มเดียวกับกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน มีอาการของผิวหนังร่วมกับเยื่อเมือกหลายแห่งแบบเดียวกัน แต่มีความรุนแรงมากกว่ากัน ผิวหนังจะมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่ขึ้นทั่วร่างกาย และลอกออกคล้ายแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก มักกินพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นผิวกาย เยื่อบุผิวจะมีการอักเสบเป็นตุ่ม เป็นแผลเปื่อยรุนแรง โรคทีอีเอ็นนี้มักเกิดจากการแพ้ยาและมีอัตราตายสูง
กลุ่มสตีเวนส์จอห์นสัน มักจะมีผิวหนังพุพองและลอกออกกินพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นผิวกาย
ถ้าผิวหนังลอกกินพื้นที่ระหว่างร้อยละ 10-30 ก็อาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งก็ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะแยกโรคไม่ได้ชัดเจน แต่ถ้าพบว่ามีผื่นหรือแผลเปื่อยที่เยื่อเมือกร่วมกับผื่นตุ่มที่ผิวหนัง ก็ควรจะรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
2. ควรค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร กว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนที่มีสาเหตุชักนำ ก็อาจเกิดจากยา การติดเชื้อ หรือมะเร็งก็ได้
ถ้ามีสาเหตุจากยา ต่อไปควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนั้น ๆ อีก เพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้