เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพศที่สำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเพศชายที่มีชื่อว่า เทสโทสเทอโรน ซึ่งสร้างโดยอัณฑะ และต่อมหมวกไต (ในผู้หญิง) ฮอร์โมนชนิดนี้จะกระตุ้นให้ต่อมไขมัน (sebaceous gland) ที่บริเวณผิวหนังสร้างไขมัน (sebum) ออกมามาก ซึ่งจะระบายออกมาตามรูขุมขน ถ้าหากรูขุมขนเกิดการอุดตันเนื่องจากหนังกำพร้าชั้นนอกตรงบริเวณนั้นมีการหนาตัว (ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองของไขมันจากต่อมไขมัน) ก็จะทำให้เกิดการคั่งของไขมันในรูขุมขน เกิดเป็นหัวสิว หรือคอมีโดน (comedone) เรียกว่า สิวเสี้ยน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสิวหัวขาว (white head/closed comedone) และสิวหัวดำ (back head/open comedone เนื่องจากสีดำของสารเมลานิน (เม็ดสี) ที่อยู่ในหัวสิว เมื่อมีการอุดตันมากขึ้น ไขมันจะสะสมในท่อมากขึ้น จนพองโตและแตกสารที่อยู่ภายในต่อมไขมันกระจายไปยังหนังกำพร้า และหนังแท้บริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดการอักเสบของสิวขึ้น
นอกจากนี้ การอักเสบก็ยังเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในต่อมไขมันชนิดหนึ่งมีชื่อว่า พีแอกเนส์ (Propionibacterium acens/P.acnes) ซึ่งจะย่อยไขมันเป็นกรดไขมันอิสระ ทำให้เกิดการอักเสบของหัวสิว ร่วมกับสารต่าง ๆ ที่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้หลั่งออกมา สิวที่อักเสบจะมีลักษณะเป็นสิวหัวแดง (papule) หรือตุ่มหนอง (pustute)
ถ้าอักเสบรุนแรง หัวสิวอาจปูดโปนเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ (inflamed nodule) เรียกว่า สิวหัวช้าง หรือเป็นถุง (nodulocystic) ขนาดใหญ่และอยู่ลึก
เชื่อว่ากรรมพันธุ์อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดสิว มักพบว่าถ้ามีพ่อแม่เป็นสิว ลูกก็มีโอกาสเป็นสิวมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาเหตุอีกหลายอย่างที่กระตุ้นให้สิวกำเริบ อาทิ
- ความวิตกกังวล หรืออารมณ์เครียด (เช่น เวลาใกล้สอบ)
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ระยะก่อนมีประจำเดือน 2-7 วัน
- การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดกินและฉีดที่เข้าฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน, ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดกินและทา, วิตามินบี 12, ยาเทสโทสเทอโรน, ลิเทียม, ไอเอ็นเอช, ไรแฟมพิซิน, ฟีโนบาร์บิทาล, เฟนิโทอิน, ไทโอยูราซิล เป็นต้น
- อาหาร เช่น อาหารหวาน อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดสิวได้
- การระคายผิว เช่น การนวดหน้า การขัดหน้า การใช้ผ้าถูหน้าแรง ๆ
- การเสียดสี เช่น บริเวณที่สวมหมวกนิรภัย สายรัดคอ ปลอกคอ บริเวณคางของนักไวโอลิน บริเวณที่สัมผัสโทรศัพท์ เป็นต้น
- การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะกอก ลาโนลิน หรือขี้ผึ้งขาว, สบู่ที่มีส่วนผสมของทาร์หรือกำมะถัน, น้ำมันใส่ผมชนิดเหนียวเหนอะหนะหรือพอมเมด ซึ่งจะทำให้สิวขึ้นที่บริเวณหน้าผากและไรผม หรือครีมทาฝ้าลอกฝ้า
- การทำงานอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก
ในระยะเริ่มเป็น จะพบสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (ประมาณ 1 มม.) ขึ้นที่บริเวณหน้าผากและแก้ม บางรายอาจขึ้นที่คอ หน้าอก และหลังด้วย ต่อมาเมื่อมีการอักเสบจะกลายเป็นตุ่มแดง (สิวหัวแดง) และตุ่มหนองขนาด 1-5 มม. บางรายเมื่อหัวสิวยุบแล้วอาจเป็นรอยสีน้ำตาลดำอยู่นานหลายเดือนกว่าจะจางลงไป พบได้บ่อยในคนผิวคล้ำ
ถ้าเป็นมากจะปูดโปนเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซม. คลำได้ลึกและเจ็บ (เรียกว่าสิวหัวช้าง) หรือเป็นถุงใหญ่ขนาด 0.5-1 ซม. อยู่ค่อนข้างลึก คลำได้เป็นก้อนมีหนองปนเลือดอยู่ข้างใน เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นหลุมหรือเป็นแผลเป็น บางรายอาจกลายเป็นคีลอยด์
ถ้าเป็นไม่มาก หัวสิวที่เกิดขึ้นอาจไม่มีการอักเสบและยุบหายไปได้เอง แต่ก็อาจทิ้งรอยแผลเป็นเล็ก
มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง บางรายอาจมีการอักเสบรุนแรง และกลายเป็นแผลเป็นหรือแผลคีลอยด์ หรือผิวหน้าขรุขระ อาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นและเสียบุคลิกภาพ
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา โดยแนะนำข้อปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นสิว และให้ยารักษา ดังนี้
1. ถ้าเป็นเพียงสิวเสี้ยน (สิวหัวขาว หรือหัวดำ) ยังไม่มีการอักเสบเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง ควรให้การรักษาดังนี้
- เทรติโนอิน (tretinoin) ชนิดเจลหรือครีม มีฤทธิ์ละลายขุย ทำให้หัวสิวหลุดลอก และป้องกันมิให้เกิดสิวใหม่ ใช้ทาทั่วใบหน้า ยกเว้นขอบตาและซอกจมูก วันละครั้ง ก่อนนอน จะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้นาน 3-4 เดือน ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หน้าแดง แสบ แห้ง ลอก และเกิดการแพ้แดดได้ (เมื่อใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือทายากันแดดในเวลากลางวัน) ในบางรายอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้นในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกของการใช้ยา
- ไอโซเทรติโนอิน (isotretinoin) ชนิดเจลหรือครีม มีฤทธิ์ทำให้การสร้างเคอราตินกลับสู่สภาพปกติ และลดการอักเสบ ใช้ทาวันละครั้ง ก่อนนอน
- อะดาฟาลีน (adaphalene) ชนิดเจลหรือครีม เป็นกรดเรติโนอิกสังเคราะห์ มีข้อดี คือ นอกจากใช้รักษาสิวเสี้ยนแล้ว ยังใช้กับสิวที่อักเสบได้ด้วย
- ทาซาโรทีน (tazarotene) ชนิดเจลหรือครีม มีข้อดี คือ นอกจากใช้รักษาสิวเสี้ยนแล้ว ยังใช้กับสิวที่อักเสบได้เช่นเดียวกับอะดาฟาลีน
2. ถ้าเป็นสิวหัวแดงหรือตุ่มหนอง ให้การรักษาดังนี้
(1) ใช้ยาทารักษาสิวชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide/BP) ชนิดเจลหรือครีม ยานี้ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อพีแอกเนส์ ลดการอักเสบ และลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง แต่อาจทำให้หน้าแดง แสบ แห้งเป็นขุย ทาทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
- ไอโซเทรติโนอิน ใช้ทาเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือร่วมกับยาปฏิชีวนะ
- ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา เช่น คลินดาไมซิน (clindamycin) หรืออีริโทรไมซินชนิดน้ำ หรือชนิดเจล ทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น นาน 8-12 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะชนิดทาดังกล่าวไม่ควรใช้เดี่ยว ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ควรใช้ร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือกรดเรติโนอิก
3. ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบรุนแรง (เช่น มีสิวหัวช้างขึ้นหลายแห่ง) หรือมีแผลเป็นหรือแผลปูด (คีลอยด์) หรือผิวหน้าขรุขระมาก แพทย์อาจใช้วิธีปรับยารักษาใหม่ ในผู้หญิงอาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีตัวยาไซโพรเทโรนอะเซเทต (cyproterone acetate) เช่น ไดแอน-35 (Diane-35) นาน 6-12 เดือน (เริ่มเห็นผลหลังใช้ยา 3-4 เดือน) ยานี้ออกฤทธิ์เป็นตัวต้านฮอร์โมนเพศชาย (anti-androgen) ช่วยลดขนาดของต่อมไขมันและปริมาณของไขมัน ยานี้เหมาะสำหรับผู้หญิงที่หน้ามันมาก ๆ หรือมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
ในรายที่เป็นสิวเสี้ยนขนาดใหญ่ที่ไม่ตอบสนองด้วยยาทา แพทย์อาจรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า (gentle light cautery)
ในรายที่เป็นสิวหัวช้างหรือเป็นหนอง แพทย์อาจทำการเจาะระบายหนองออก ซึ่งจะช่วยให้รอยโรคยุบเร็วขึ้น
ในรายที่เป็นรุนแรง ขึ้นเป็นถุง อาจรักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์ ได้แก่ ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์เข้าที่หัวสิว หรือให้กินไอโซเทรติโนอิน (กรดเรติโนอิก) ชนิดเม็ด ยากินชนิดนี้มีฤทธิ์ในการทำให้ต่อมไขมันมีขนาดเล็กลง ลดปริมาณไขมันในต่อมไขมัน ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบ ใช้ได้ผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาอื่น ๆ แต่ยานี้มีผลข้างเคียง เช่น ริมฝีปากอักเสบ ตาอักเสบ ตาแห้ง สู้แสงไม่ได้ ปากแห้ง จมูกแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภาวะไขมันในเลือดสูง เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง ไม่ควรใช้ร่วมกับเตตราไซคลีน อาจทำให้เกิดภาวะความดันของน้ำในสมองสูงได้ และข้อสำคัญหญิงตั้งครรภ์ที่กินยานี้อาจทำให้ทารกพิการได้ (ควรระวังการใช้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ก่อนใช้ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และระหว่างที่ใช้ก็ต้องหาวิธีคุมกำเนิด และควรหยุดกินยาก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 เดือน) ดังนั้นยาชนิดนี้จึงควรสั่งใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ในรายที่เป็นถุง อาจใช้ไนโตรเจนเหลว (liquid nitrogen) แตะหัวสิวที่เป็นถุง เพื่อช่วยลดการอักเสบ และใช้ความเย็นจากสารชนิดน้ำ ทำลายผนังของถุง
บางกรณีแพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสง (phototherapy) หรือแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาและยากินรักษาสิว
ในรายที่เป็นแผลเป็น ผิวหนังขรุขระมาก อาจต้องแก้ไขด้วยการใช้เครื่องมือขัดผิวหน้า (dermabrasion) ใช้สารเคมีกัดส่วนที่เป็นริ้วรอยแผลเป็นออกไป (chemosurgery) หรือการฉีดสารแก้ไขหลุมรอยแผลเป็น (filler injection) ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
หากมั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสิว ควรดูแลตนเองดังนี้
1. ปฏิบัติตัว ดังนี้
- หมั่นสังเกตว่ามีสาเหตุกระตุ้นอะไร (อ่านเพิ่มเติมที่หัวข้อ "สาเหตุ" ด้านบน) เช่น ความเครียด อดนอน อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก เครื่องสำอาง ยาบางชนิด อาหารบางชนิด การระคายผิว การเสียดสี แล้วหลีกเลี่ยงเสียก็อาจช่วยให้สิวทุเลาได้
- ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด (น้ำก๊อกธรรมดา) วันละ 1-2 ครั้ง อาจใช้สบู่ฟอกหน้าเพียงวันละครั้ง โดยใช้สบู่เด็ก (สบู่อ่อน) หรือโฟมล้างหน้าแบบอ่อน ฟอกให้เกิดเป็นฟองบนฝ่ามือแล้วลูบไล้ผิวหน้า แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ใช้ผ้าขนหนูซับเบา ๆ ห้ามล้างหน้านาน ๆ ถูแรง ๆ หรือล้างบ่อยเกินไป อาจทำให้สิวกำเริบมากขึ้นได้
- ออกกำลังกาย และผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ
- หลีกเลี่ยงการออกกลางแดดจ้า ๆ และการถูกแดดนาน ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ควรทายากันแดดชนิดไม่ก่อให้เกิดสิว (noncomedogenic sunscreen)
- หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล (ของหวาน น้ำอัดลม) นมและผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแลต เนย ครีม) ซึ่งอาจทำให้สิวกำเริบ เนื่องจากน้ำตาลและนมมีสารที่กระตุ้นให้เกิดสิวได้
- อย่าบีบ เค้น กด หรือแกะสิวเอง อาจทำให้ติดเชื้อลุกลามได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีผลต่อผิวหนังและต่อมไขมัน เช่น ครีมบำรุงผม ครีมนวดหน้า ครีมแก้รอยเหี่ยวย่นที่มีสเตียรอยด์ผสม ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรเลือกครีมที่มีความชุ่มชื้น ซึ่งมีสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดสิว หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า "ไม่ก่อให้เกิดสิว" (โดยทั่วไปชุดแต่งหน้า เช่น ลิปสติก แป้ง ชุดรองพื้น บรัชออน มาสคารา อายแชโดว์ จะไม่ก่อให้เกิดสิว)
2. ถ้าเป็นสิวเสี้ยน (สิวหัวขาวหรือหัวดำ) ใช้ยาทารักษาสิวตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
3. ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลตนเอง 2-3 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา
- ถ้าเป็นสิวหัวแดงหรือตุ่มหนอง มีอาการอักเสบมาก หรือหัวสิวปูดโปนเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ (สิวหัวช้าง) หรือเป็นถุงขนาดใหญ่และอยู่ลึก
- มีประวัติการแพ้ยา เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้มีโรคตับ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยา หรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
- หลังใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
การป้องกันไม่ให้เกิดสิวเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก แต่อาจลดความเสี่ยงลงและป้องกันไม่ให้สิวกำเริบด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด (น้ำก๊อกธรรมดา) วันละ 1-2 ครั้ง อาจใช้สบู่ฟอกหน้าเพียงวันละครั้ง โดยใช้สบู่เด็ก (สบู่อ่อน) หรือโฟมล้างหน้าแบบอ่อน ฟอกให้เกิดเป็นฟองบนฝ่ามือแล้วลูบไล้ผิวหน้า แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ใช้ผ้าขนหนูซับเบา ๆ ห้ามล้างหน้านาน ๆ ถูแรง ๆ ไม่ควรล้างเกินวันละ 2 ครั้ง อาจทำให้สิวกำเริบได้
- หมั่นอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายทุกวัน และทุกครั้งหลังทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก
- ใช้ครีมบำรุงผิวหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว ปราศจากน้ำมันและไม่ก่อให้เกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการออกกลางแดดจ้า ๆ และการถูกแดดนาน ๆ หากเลี่ยงไม่ได้ควรทายากันแดดชนิดไม่ก่อให้เกิดสิว (noncomedogenic sunscreen)
- ก่อนเข้านอน ควรล้างเครื่องสำอางออกให้หมดด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าหรือล้างเครื่องสำอางที่อ่อนโยน เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
- เลือกใช้เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมกันแดด ที่ระบุว่า "ไม่ก่อให้เกิดสิว (non-comedogenic)" และ "ไม่ทำให้เกิดการแพ้ (hypoallergenic)"
- ใส่เสื้อผ้าที่หลวมพอดีตัว อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ซึ่งทำให้มีเหงื่อและอับชื้น อาจระคายเคืองผิวและทำให้เกิดสิว
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยไม่ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนเกิดการเสียดสี หรือระคายผิว และควรอาบน้ำชำระเหงื่อหลังออกกำลังกาย
- หมั่นผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ
- ดื่มน้ำอย่างน้อยประมาณวันละ 8 แก้ว (2 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำอาจกระตุ้นให้ร่างกายขับไขมันออกมาทางผิวหนังมากขึ้นทำให้เกิดสิวได้
- หมั่นล้างมือให้สะอาด และระวังอย่าใช้มือสัมผัสผิวหน้า
- บริโภคผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นประจำ และหากมีสิวขึ้นควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนม
1. สิวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติในคนที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นแทบทุกคน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในวัยนี้ อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์และอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักจะทุเลาหรือหายไปเองเมื่ออายุมากขึ้น
2. ยาและเครื่องสำอาง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิว ควรซักถามประวัติทางด้านนี้ ถ้าพบว่าเกิดจากยาหรือเครื่องสำอาง ควรงดการใช้ยาหรือเครื่องสำอางนั้น ๆ เสีย อาจช่วยให้อาการดีขึ้น
3. การเกิดสิวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกทางเพศ หรือกิจกรรมทางเพศ
4. การรักษาสิวจะเริ่มเห็นผลต้องใช้เวลา 3-6 สัปดาห์ และกว่าจะได้ผลจริงจังก็อาจเป็นเวลาหลายเดือน และมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยจะควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และรู้จักดูแลตนเองอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็น
5. ในรายที่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีอาการตกขาวจากเชื้อราได้ ถ้าพบควรหยุดยาแล้วกลับไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่เดิม
6. ผู้หญิงที่เป็นสิวมากหรือรักษาไม่ค่อยได้ผล ถ้ามีลักษณะหน้ามัน มีหนวดหรือขนขึ้นผิดปกติ มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง