ลมพิษ เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว มีพลาสมา (น้ำเลือด) ซึมออกมาในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดง
มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร* (เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว มะเขือเทศ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เป็นต้น) สารที่ผสมในอาหาร (เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหาร) เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยา (เช่น แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อีนาลาพริล เพนิซิลลิน ซัลฟา เป็นต้น) เซรุ่ม วัคซีน พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (เช่น ผึ้ง ต่อ มด ยุง เป็นต้น) ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น (ที่นอน หมอน) ไหม หรือสารเคมี (เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น)
บางรายที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ เป็นต้น ก็อาจมีอาการของลมพิษเกิดขึ้นได้
แต่บางรายก็อาจตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน
ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง (เป็นติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน) ส่วนมากจะไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนน้อยที่อาจพบว่ามีสาเหตุ ซึ่งนอกจากเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว (โดยเฉพาะแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) แล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการแพ้ความร้อน ความเย็น (น้ำเย็น น้ำแข็ง อากาศเย็น ห้องปรับอากาศ) แสงแดด เหงื่อ (เช่น หลังจากออกกำลังกาย) น้ำ แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดกับผิวหนัง การยกน้ำหนัก โรคติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น ฟันผุ โรคพยาธิลำไส้ ตัวจี๊ด หูน้ำหนวก)
บางรายอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น เอสแอลอี มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนน้อย
นอกจากนี้ ความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ รวมทั้งทำให้อาการลมพิษกำเริบในรายที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
มักเกิดขึ้นฉับพลัน ด้วยอาการขึ้นเป็นวงนูนแดงมีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก เนื้อภายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นขอบแดง ๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้ ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหน ก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น บางรายอาจมีไข้ขึ้นเล็กน้อย หรือรู้สึกร้อนผ่าวตามผิวกาย
ลมพิษอาจเกิดขึ้นที่หน้า แขนขา ลำตัว หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็ได้ มักขึ้นกระจายตัวไม่เหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย
วงนูนแดงจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ได้อีกภายในวันเดียวกันหรือวันต่อมา หรือในเดือนต่อ ๆ มาก็ได้ บางรายอาจขึ้นติดต่อกันเป็นวัน ๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะยุบหายได้เองภายใน 1-7 วัน
ในรายที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า ลมพิษยักษ์ หรือแองจิโอเอดิมา (angioedema/angioneuroticedema) จะมีอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนังมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 นิ้ว หรือมากกว่า กดไม่บุ๋ม มักขึ้นที่ริมฝีปาก หนังตา หู ลิ้น หน้า มือ แขน หรือส่วนอื่น ๆ มักเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงร่วมด้วย อาจทำให้หายใจลำบาก ตัวเขียว เป็นอันตรายได้ อาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือแพ้ยา เช่น กลุ่มยาต้านเอซ แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักมีลมพิษขึ้นเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันแทบทุกวันเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน และอาจเป็นอยู่เป็นปี ๆ กว่าจะหายขาดไปได้เอง
อาการของลมพิษ
โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ อาจทำให้หายใจลำบาก ตัวเขียว เป็นอันตรายได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ตรวจพบลมพิษ ลักษณะเป็นวงนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ บางครั้งอาจพบรอยเการ่วมด้วย
ในรายที่เป็นลมพิษยักษ์ อาจพบอาการหายใจลำบาก ตัวเขียว
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้ยาแก้แพ้ (เช่น คลอร์เฟนิรามีน, ไดเฟนไฮดรามีน, ไฮดรอกไซซีน) ในรายที่เป็นมาก แพทย์อาจให้สเตียรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลนร่วมด้วย
พยายามหาสาเหตุ แล้วกำจัดหรือหลีกเลี่ยงเสีย เช่น ถ้าแพ้ยาหรืออาหาร ก็หยุดยาหรือเลิกกินอาหารชนิดนั้น
2. ถ้าเป็นลมพิษยักษ์และมีอาการหายใจลำบาก ตัวเขียว แพทย์จะให้ยาฉีดอะดรีนาลิน ร่วมกับยาแก้แพ้ สเตียรอยด์ และรานิทิดีน ชนิดฉีด
3. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ให้ยาแก้แพ้ เช่น ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine)
แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ นอกจากการซักถามประวัติและการตรวจร่างกายย่างละเอียดแล้ว อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามแต่สาเหตุที่สงสัย
ถ้าตรวจพบสาเหตุ ก็ให้การแก้ไขตามสาเหตุ
ในรายที่แพ้ความเย็นหรือน้ำ อาจให้ยาแก้แพ้ที่มีชื่อว่า ไซโพรเฮปตาดีน (cyproheptadine) ถ้าเป็นอยู่ประจำ ควรให้กินก่อนจะสัมผัสถูกความเย็นหรือน้ำประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ
ในรายที่จำเป็นต้องกินยาแก้แพ้เป็นประจำ และจำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถ แพทย์จะให้ยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วงแทน
เมื่อกินยาแก้แพ้สักระยะหนึ่งแล้วอาการทุเลา ลองหยุดยา ถ้ากำเริบใหม่ ก็กินยาใหม่ บางรายอาจต้องกินยานานเป็นแรมปี บางรายอาจนาน 3-5 ปี กว่าจะหายขาด และหยุดยาได้
กรณีที่ให้ยาแก้แพ้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาต้านเอช 2 (H2 antagonists) เช่น รานิทิดีน ร่วมกับยาแก้แพ้ ยานี้จะช่วยเสริมฤทธิ์ยาแก้แพ้ โดยการระงับอาการบวมแดงของลมพิษ
4. ถ้าตรวจพบโรคที่เป็นร่วมด้วย เช่น เอสแอลอี โรคติดเชื้อ โรคพยาธิ มะเร็ง เป็นต้น ก็ให้การรักษาโรคเหล่านี้ร่วมกับการรักษาอาการลมพิษ
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นลมพิษ ควรดูแลตนเองดังนี้
- กินยาแก้แพ้ (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
- ทาคาลาไมน์บรรเทาอาการคัน
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ฝุ่น ความเย็น อาหารทะเล เป็นต้น
- ในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง หรือได้ไปพบแพทย์ตรวจรักษา ควรรักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ควรปรึกษาแพทย์
- ถ้าสงสัยเกิดจากการแพ้ยา ควรหยุดยา แล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว
- มีอาการหน้าบวม ตาบวม ปากบวม หรือหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง ปวดข้อเรื้อรัง น้ำหนักลด ผมร่วง หูน้ำหนวก ถ่ายเป็นตัวพยาธิ เป็นต้น
- มีประวัติแพ้ยาแก้แพ้ ที่จะใช้
- ดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการกำเริบใหม่
- หลังกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
1. ผู้ป่วยควรสังเกตสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ อาจเป็นอาหาร ยา สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย จะช่วยให้หายขาดได้
2. ควรออกกำลังกายและพยายามหลีกเลี่ยงภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทำใจให้สบาย อย่าวิตกกังวล
1. ลมพิษเรื้อรังส่วนมากจะไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีอันตรายร้ายแรง อาจเป็นอยู่เป็นแรมปีแล้วหายไปได้เอง ผู้ป่วยควรกินยาแก้แพ้เป็นประจำจนกว่าจะหาย ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีโรคร้ายแรงร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นลมพิษเรื้อรังควรตรวจหาสาเหตุให้แน่นอนเสียก่อน
2. ผู้ที่เป็นลมพิษบ่อยหรือมีโรคภูมิแพ้อยู่ประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้โรคภูมิแพ้กำเริบได้