เกิดจากเชื้อโรคเรื้อน ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไมโคแบคทีเรียมเลเพร (Mycobacterium leprae) เชื่อว่าติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือสูดเข้าทางเดินหายใจ โรคนี้ติดต่อกันได้ยาก จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนระยะติดต่อเป็นเวลานาน ๆ จึงจะรับเชื้อเข้าร่างกาย
ระยะฟักตัว เฉลี่ย 3-5 ปี (ต่ำสุด 6 เดือน และนานสุดเป็นเวลาหลายสิบปี)
ผู้ที่รับเชื้อโรคเรื้อน ไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็นโรคเรื้อนทุกราย ทั้งนี้ขึ้นกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้าภูมิคุ้มกันเป็นปกติ มักจะหายได้เองหรือมีอาการอย่างอ่อน (ไม่ร้ายแรง) แต่ถ้าภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็อาจเป็นโรคชนิดร้ายแรงได้
ระยะแรก (โรคเรื้อนไม่ทราบชนิด) ผิวหนังจะเป็นวงขาวหรือสีจาง ขอบไม่ชัดเจน ผิวหนังในบริเวณนี้จะมีขนร่วงและเหงื่อออกน้อยกว่าปกติ แต่ยังไม่ค่อยรู้สึกชาและเส้นประสาทเป็นปกติ มักจะพบที่หลัง ก้น แขนและขา ระยะนี้อาจหายได้เอง หรืออาจมีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นโรคเรื้อนชนิดอื่น
โรคเรื้อนชนิดทูเบอร์คูลอยด์ ส่วนมากจะมีผื่นเดียวเป็นวงขาว หรือสีจางขอบชัดเจน หรือเป็นวงขาว มีขอบแดงนูนเล็กน้อย หรือเป็นวงขาว ขอบนูนแดงหนาเป็นปื้น อาจมีสะเก็ดเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-10 ซม. ตรงกลางผื่นจะไม่มีขน ไม่มีเหงื่อ และชา (หยิกหรือใช้เข็มแทงไม่เจ็บ หรือใช้สำลีแตะไม่มีความรู้สึก) พบบ่อยที่บริเวณหน้า ลำตัวและก้น โรคเรื้อนชนิดนี้จะตรวจไม่พบเชื้อ
บางครั้งอาจตรวจพบเส้นประสาทบวมโตที่ใต้ผิวหนังในบริเวณที่เป็นโรค หรืออาจคลำได้เส้น ประสาทอัลนา (ulnar nerve) ที่บริเวณด้านในของข้อศอก หรือเส้นประสาทที่ขาพับ (peroneal nerve) ตรงบริเวณใต้หัวเข่าด้านนอก หรือเส้นประสาทใหญ่ใต้หู (great auricular nerve) ตรงด้านข้างของคอ จะมีลักษณะเป็นเส้นแข็ง ๆ และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ส่วนมากจะตรวจพบเส้นประสาทบวมโตเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น
โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง-ทูเบอร์คูลอยด์ อาการทางผิวหนังคล้ายกับชนิดทูเบอร์คูลอยด์ แต่จะมีจำนวนผื่นมากกว่า การตรวจเชื้อจากผิวหนังพบได้บ้าง แต่ไม่มากนัก
โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง ผิวหนังขึ้นผื่นเป็นวงแหวนหรือวงรี ขอบนูนแดงหนาเป็นมัน ขอบในชัดเจนกว่าขอบนอก ตรงกลางผื่นจะไม่มีขน ไม่มีเหงื่อแบบเดียวกับชนิดทูเบอร์คูลอยด์ และจะชาน้อยกว่าชนิดทูเบอร์คูลอยด์ การตรวจเชื้อจากผิวหนังพบได้บ้างแต่ไม่มากนัก
โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง-เลโพรมาตัส และชนิดเลโพรมาตัส จะมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่จำนวนและการกระจายของรอยโรค และจำนวนเชื้อที่ตรวจพบจากผิวหนังหรือเยื่อบุจมูก
ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง ขอบเขตไม่ชัดเจนแล้วต่อมาจะหนาเป็นเม็ด เป็นตุ่มหรือเป็นแผ่น ผิวมักแดงเป็นมันเลื่อม ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่ชา ผื่นตุ่มเหล่านี้จะขึ้นกระจายทั้ง 2 ข้างของร่างกาย พบบ่อยตามใบหน้า ใบหู ข้อศอก ข้อเข่า ลำตัว และก้น ขนคิ้วส่วนนอก (ส่วนหางคิ้ว) มักจะร่วง และขาบวม
ในระยะท้ายของโรค ผิวหนังจะเห่อหนา มีลักษณะหูหนาตาเล่อ และมีเส้นประสาทบวมโตพร้อมกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย เส้นประสาทที่พบได้บ่อย ได้แก่ เส้นประสาทอัลนา และเส้นประสาทใหญ่ใต้หู ทำให้มีอาการชา นิ้วมือนิ้วเท้างอ เหยียดไม่ออก มือหงิก เท้าตก นิ้วกุด หรือตาบอด
เยื่อบุจมูกมักมีอาการอักเสบตั้งแต่ในระยะแรก ๆ (มีอาการคันจมูก น้ำมูกมีเลือดปน) ต่อมาจะมีแผลเปื่อยที่ผนังกั้นจมูก จนทำให้จมูกแหว่ง นอกจากนี้ก็ยังมักจะมีการอักเสบของกระจกตา และเยื่อบุในช่องปากร่วมด้วย
โรคเรื้อนชนิดนี้ มักตรวจพบเชื้อจำนวนมาก แพร่กระจายโรคให้ผู้อื่นได้ง่าย มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจตายภายใน 10-20 ปี
ภาพอาการของโรคเรื้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา เส้นประสาทจะถูกทำลายทำให้มือเท้าชา กล้ามเนื้อมือเท้าอ่อนแรง กล้ามเนื้อฝ่ามือและหลังมือลีบ ข้อมือตก เดินเท้าตก
ถ้าเส้นประสาทที่หน้าเสีย จะทำให้หลับตาไม่ได้ ทำให้ตาอักเสบเป็นแผลกระจกตาและตาบอดได้
ผู้ป่วยมักมีแผลเปื่อยที่มือเท้า เนื่องจากมีอาการชา และอาจทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุดหายไปได้
ในรายที่เป็นโรคเรื้อนชนิดเลโพรมาตัส อาจติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ
นอกจากนี้อาจมีการทำลายของกระดูก เป็นหมัน เนื่องจากอัณฑะฝ่อ หรือมีอาการทางไตร่วมด้วย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ และจะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการขูดผิวหนัง ใส่บนแผ่นกระจกใส และย้อมด้วยสีแอซิดฟาสต์ (acid fast stain) เช่นเดียวกับการตรวจเชื้อวัณโรค ถ้าเป็นชนิดเลโพรมาตัสและชนิดก้ำกึ่ง มักจะพบเชื้อโรคเรื้อน แต่ถ้าเป็นชนิดทูเบอร์คูลอยด์ อาจตรวจไม่พบเชื้อ
นอกจากนี้ อาจทำการผ่าตัดชิ้นเนื้อของผิวหนังและเส้นประสาทที่บวมโตไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เรียกว่า การตรวจชิ้นเนื้อ (biospy)
หรืออาจทำการทดสอบทางผิวหนัง เรียกว่า การทดสอบเลโพรมิน (lepromin test) ซึ่งจะให้ผลบวกในผู้ป่วยชนิดทูเบอร์คูลอยด์ และให้ผลลบในผู้ป่วยชนิดเลโพรมาตัส
แพทย์จะให้ยารักษาโรคเรื้อน ซึ่งมีให้เลือกใช้ 3 ชนิดได้แก่ แดปโซน (dapsone) หรือดีดีเอส (diaminodiphenyl sulphone/DDS) ไรแฟมพิซิน (rifampicin) และโคลฟาซิมีน (clofazimine) โดยเลือกใช้ให้เหมาะกับชนิดและความรุนแรงของโรค ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. ประเภทที่ตรวจไม่พบเชื้อ หรือเชื้อน้อยมากจนตรวจไม่พบ ได้แก่ โรคเรื้อนไม่ทราบชนิด ชนิดทูเบอร์คูลอยด์ และชนิดก้ำกึ่ง-ทูเบอร์คูลอยด์ ให้ยาแดปโซน วันละครั้งทุกวันร่วมกับไรแฟมพิซิน เดือนละครั้ง นาน 6 เดือน ถ้าครบ 6 เดือนแล้วตรวจพบว่ามีอาการกำเริบ ให้การรักษาต่ออีก 6 เดือน
หลังจากนั้นควรตรวจร่างกายและตรวจเชื้ออย่างน้อยปีละครั้ง เป็นเวลา 3 ปี
2. ประเภทเชื้อมาก ได้แก่ โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง ชนิดก้ำกึ่ง-เลโพรมาตัส และชนิดเลโพรมาตัส ให้ไรแฟมพิซิน ร่วมกับโคลฟาซิมีนเดือนละครั้ง และให้แดปโซนร่วมกับโคลฟาซิมีนวันละครั้งทุกวัน อย่างน้อย 2 ปี จนกว่าตรวจไม่พบเชื้อและอาการไม่กำเริบ
หลังจากนั้นควรตรวจร่างกายและตรวจเชื้ออย่างน้อยปีละครั้ง เป็นเวลา 5 ปี
หากสงสัย เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนมานาน และพบว่าผิวหนังเป็นวงขาวหรือสีจาง หรือเป็นวงขาวขอบนูนแดงหนาเป็นปื้น ตรงกลางผื่นไม่มีขนไม่มีเหงื่อ และมีอาการชา ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเรื้อน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ถ้ามีอาการชาของมือเท้า ควรระวังอย่าถูกของร้อน (เช่น บุหรี่ เตาไฟ น้ำร้อน) หรือของมีคม ควรใช้ผ้าพันมือเวลาทำงาน และสวมรองเท้าเวลาออกนอกบ้าน
- ผู้ป่วยควรนอนแยกต่างหากจากผู้อื่น และอย่าใช้เสื้อผ้าและของใช้ร่วมกับผู้อื่น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มือเท้าชา หรืออ่อนแรง
- มีไข้ ไอเรื้อรัง ไอออกเป็นเลือด น้ำหนักลด
- หลับตาไม่ได้ หรือปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล
- เกิดแผลเปื่อยที่มือและเท้า
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีไข้ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว ตาเหลืองตัวเหลือง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. อย่าอยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยระยะติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเด็กอยู่ในบ้านเดียว กับผู้ป่วย ควรแยกเด็กออกต่างหาก อย่าให้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จนพ้นระยะติดโรค (ตรวจไม่พบเชื้อบนผิวหนังของผู้ป่วย)
2. อย่าใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และของใช้ร่วมกับผู้ป่วย
3. หมั่นตรวจดูอาการทางผิวหนังของสมาชิกทุกคนในครอบครัวของผู้ป่วย ถ้ามีอาการน่าสงสัย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล
1. โรคเรื้อนเป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายขาดได้ และถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะสามารถป้องกันมิให้เกิดความพิการได้ ผู้ป่วยควรกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำอย่าหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะบอกให้เลิก และถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นควรรีบหาหมอโดยเร็วอย่าปล่อยให้ลุกลามจนพิการ
2. ถึงแม้จะรักษาให้พ้นระยะติดต่อ (เชื้อในร่างกายหมดไป) แต่ความพิการที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ มักจะเป็นอย่างถาวร แพทย์อาจแก้ไขด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่งหรือวิธีการทางการแพทย์บำบัดต่าง ๆ
3. โรคเรื้อนไม่ใช่โรคกรรมพันธุ์ที่ติดไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่เป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ยากถ้ามีพ่อหรือแม่เป็นโรคเรื้อน หากแยกลูกอย่าให้ใกล้ชิดด้วยจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ ลูกก็จะไม่เป็นโรคนี้
4. โรคเรื้อนไม่ได้ติดจากสุนัขขี้เรื้อน ไม่ได้เกิดจากการร่วมประเวณีกับผู้หญิงที่มีประจำเดือน ไม่ติดต่อทางอาหารและน้ำ หรือเกิดจากการกินของแสลง เช่น หูฉลาม เป็ด ห่าน เป็นต้น