เป็นการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตเป็นก้อนและเจ็บ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตค็อกคัส และสแตฟีโลค็อกคัส ซึ่งลุกลามมาจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียของผิวหนังในบริเวณใกล้เคียง เช่น บาดแผลอักเสบ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น
ในรายที่ต่อมน้ำเหลืองอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโตและเจ็บ มักพบอาการอักเสบของผิวหนังหรืออวัยวะในบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) อักเสบ มักจะเป็นผลมาจากการอักเสบในบริเวณเท้า หรือต่อมน้ำเหลืองที่ใต้คางอักเสบ มักเป็นผลมาจากทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
ถ้ามีอาการอักเสบของท่อน้ำเหลืองร่วมด้วย ก็จะพบเป็นรอยแดงเป็นเส้นยาววิ่งจากบริเวณผิวหนังที่อักเสบไปจนถึงต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ร่วมด้วย
ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองจะมีอาการบวมโตเล็กน้อย (ขนาดไม่เกิน 1 ซม.) ลักษณะค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ และจับโยกไปมาได้ ไม่ยึดติดกับผิวหนังหรือเนื้อเยื่อข้างใต้ มักพบที่บริเวณใต้คาง (ซึ่งเป็นผลมาจากฟันผุหรือเจ็บคอบ่อย) และขาหนีบ (เป็นผลจากการอักเสบที่เท้าบ่อย ๆ)
ต่อมน้ำเหลืองจะบวมโตคลำได้เป็นก้อนเล็ก ๆ นานเป็นแรมเดือนแรมปี หรือตลอดไป โดยไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่เกิดอันตรายแต่อย่างใด
ถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้กลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเฉียบพลัน ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน หรือโคอะม็อกซิคลาฟ
แนะนำให้ผู้ป่วยใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ และยกแขนขาส่วนที่อักเสบให้สูง
ในรายที่เป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบเรื้อรัง ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด ยกเว้นให้การรักษาโรคติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียงที่เป็นต้นเหตุ เช่น แก้ไขปัญหาฟันผุหรือคออักเสบ เป็นต้น
หากสงสัย เช่น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ก้อนโตขึ้น หรือมีอาการเจ็บมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ช่องปาก และผิวหนัง
ถ้าพบอาการต่อมน้ำเหลืองโตขนาดเกิน 1 ซม. ลักษณะค่อนข้างแข็ง ไม่เจ็บ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณคอ ไหปลาร้า รักแร้ อาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และถ้าพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตในลักษณะเดียวกันที่บริเวณอื่นร่วมด้วย อาจเป็นอาการของโรคเอดส์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเรื้อรังนานเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ