อาจพบเป็นรุนแรงในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานหรือโรคเอดส์
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus aureus) สูโดโมแนส (Pseudomonas aeruginosa ) อาจเป็นฝีเฉพาะที่ หรือมีการอักเสบทั่วไปของผิวหนังที่อยู่ในรูหู
มักจะพบหลังเล่นน้ำ มีน้ำค้างอยู่ในช่องหู หรือเกิดแผลถลอกจากการแคะหู (เนื่องจากคันในรูหู หรือแคะขี้หู) หรือการใส่อุปกรณ์ (เช่น หูฟัง เครื่องช่วยฟัง) ในช่องหู
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการคันหูจากการระคายเคืองหรือการแพ้ที่บริเวณหูจากสารบางอย่าง (เช่น ยาย้อมผม สเปรย์ผม เครื่องประดับ) มักจะมีการแคะหู ทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้
มีอาการปวดและคันในรูหู อาจมีน้ำเหลืองหรือหนองไหล
หากการอักเสบรุนแรงมากขึ้น มักมีอาการปวดหูมาก หูอื้อ มีไข้ และหูชั้นนอกมีอาการบวมแดงมากขึ้น
ส่วนใหญ่เมื่อได้รับการรักษามักจะหายเป็นปกติ ส่วนน้อยอาจกลายเป็นหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากเชื้อโรคที่ดื้อยา มีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับเชื้อรา มีการแพ้ยาหยอดหู หรือมีโรคภูมิแพ้เรื้อรังของผิวหนัง
การอักเสบอาจลุกลาม ทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ
ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์) อาจมีการติดเชื้อรุนแรง เรียกว่า "หูชั้นนอกอักเสบชนิดร้าย (malignant otitis externa)" เชื้ออาจลุกลามเข้ากระดูกของช่องหูชั้นนอก กลายเป็นโรคกระดูกอักเสบ (osteomyelitis) และอาจลุกลามเข้าสมอง (ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) หรือเส้นประสาทข้างเคียง (ทำให้เกิดอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก)
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ลักษณะอาการที่สำคัญ คือ เวลาดึงใบหูแรง ๆ จะทำให้เจ็บในรูหูมากขึ้น (ผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบจะตรวจไม่พบอาการเช่นนี้)
เมื่อใช้เครื่องส่องหู (otoscope) จะเห็นลักษณะการอักเสบหรือฝีอยู่ในช่องหู ส่วนเยื่อแก้วหูมักจะเป็นปกติและไม่มีรูทะลุ (ยกเว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน อาจพบแก้วหูทะลุ)
บางรายอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หน้าหู หลังหู หรือบริเวณคอ
บางกรณี แพทย์จะนำหนองในหูไปตรวจหาเชื้อต้นเหตุ
ในรายที่มีอาการเล็กน้อย แพทย์จะให้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะหยอดหูวันละ 3-4 ครั้ง ถ้ามีหนองไหล ก่อนหยอดยาแพทย์จะใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดช่องหู เพื่อให้ยาหยอดหูออกฤทธิ์ได้
ในรายที่ใช้ยาหยอดหูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบมาก (เช่น ปวดหูมาก หรือมีไข้) แพทย์จะให้กินยาแก้ปวดลดไข้และยาปฏิชีวนะ (เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน, อีริโทรไมซิน) ถ้าดีขึ้นให้ยาปฏิชีวนะสัก 5-7 วัน
ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นบ่อย หรือพบว่าเป็นรุนแรงในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือโรคเอดส์ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือด นำหนองในหูไปตรวจหาเชื้อต้นเหตุ) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดหู มีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหูชั้นนอกอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- งดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
- งดการเดินทางโดยเครื่องบิน
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ใด ๆ สวมใส่หู
- เวลาอาบน้ำ ใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหูป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษา 2-3 วันแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีไข้สูง หรือปวดหูมากขึ้น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการแคะหูด้วยนิ้วมือ ไม้แคะหู ไม้พันสำลี หรือสิ่งอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
- เวลาใช้สเปรย์ผมหรือยาย้อมผม ควรใช้สำลีอุดหู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองหรือการแพ้
- หลังอาบน้ำ สระผม หรือว่ายน้ำ ควรใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบ ๆ ใบหูให้แห้ง และตะแคงหูลงทีละข้างลงด้านล่าง แล้วเคาะที่ศีรษะเบา ๆ เพื่อให้น้ำระบายออกจากหู ป้องกันไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ในช่องหู (ไม่ให้ใช้ไม้พันสำลีแยงหูเพื่อซับน้ำ อาจทำให้เกิดแผลถลอกได้)
- ผู้ที่มีหูอักเสบ หรือหลังได้รับการผ่าตัดหู ก่อนจะลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในสระ ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาว่าสมควรหรือไม่
โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนมากสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 5-7 วัน แต่ถ้ามีอาการกำเริบใหม่ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือพบว่าหูชั้นนอกมีการอักเสบรุนแรง (ปวดหูมาก หนองไหล มีกลิ่นเหม็น หูตึง อาจมีอาการปากเบี้ยว) แพทย์จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ เช่น ตรวจเลือดว่าเป็นเบาหวาน หรือโรคเอดส์หรือไม่