หงอนไก่ คือหูดที่เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ มีลักษณะคล้ายหงอนไก่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี มักเกิดกับผู้ที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด หรือสุขนิสัยไม่ดี อาจติดต่อโดยเพศสัมพันธ์
ผู้ป่วยเอดส์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ซึ่งมักจะขึ้นหลายแห่งและเป็นเรื้อรัง
ระยะฟักตัว 1-6 เดือน
หูดที่อวัยวะเพศจะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ สีชมพู ซึ่งลุกลามอย่างรวดเร็ว จนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำ จึงเรียกว่า โรคหงอนไก่
หูดชนิดนี้ชอบขึ้นตรงบริเวณที่อับชื้นและอุ่น ในผู้ชายมักพบขึ้นที่บริเวณรอบ ๆ ปลายองคชาต ส่วนน้อยอาจขึ้นตรงปลายท่อปัสสาวะ ส่วนในผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ในช่องคลอด หรือปากมดลูก
หากปล่อยไว้ อาจลุกลามเข้าไปที่ง่ามขา ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ (ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้)
ระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีอาการตกขาว หงอนไก่อาจเจริญงอกงามและแพร่กระจายรวดเร็ว
ในหญิงตั้งครรภ์ หงอนไก่อาจโตขวางทางคลอดทำให้เด็กคลอดลำบาก หรือเชื้ออาจเข้าไปในปากหรือคอเด็กขณะคลอด ทำให้เกิดหูดในกล่องเสียง เป็นเหตุให้เด็กออกเสียงหรือหายใจไม่ได้ (อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนหูดออก)
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เป็นหงอนไก่ที่บริเวณปากมดลูก อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเอดส์ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้น ผู้หญิงกลุ่มนี้ควรหาทางหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ และควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่มอย่างน้อยปีละครั้ง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการตรวจพบรอยโรคของหงอนไก่ และการนำเนื้อเยื่อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ในรายเห็นรอยโรคไม่ชัดเจน แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยใช้กรดอะซีติก (acetic acid) ขนาด 5% ทาตรงตำแหน่งที่ติดเชื้อจะเห็นเป็นบริเวณสีขาวๆ แล้วใช้กล้องส่องตรวจ
สำหรับผู้หญิงที่ตรวจพบว่าเป็นหงอนไก่ (มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก) แพทย์จะทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะแรก (ด้วยวิธีแพ็บสเมียร์)
ในรายที่มีอาการเล็กน้อยจะให้สังเกตดูอาการ บางรายอาจหายเองได้ภายใน 2 ปี
แต่ถ้ามีรอยโรคมาก หรือมีอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บปวด แพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
- ทายาโพโดฟิลลิน (podophyllin) ชนิด 25% แต่จะต้องระวังไม่ให้ถูกเนื้อดี โดยใช้วาสลินทาปิดเนื้อดีโดยรอบไว้ก่อน หลังทายา 4-6 ชั่วโมงควรล้างออก ทาซ้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย ถ้าเกิน 1-2 เดือนแล้วยังไม่หายควรเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น วิธีนี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือขึ้นบริเวณปากมดลูก หรือในท่อปัสสาวะ
- ใช้ครีมอิมิควิมด (imiquimod) ชนิด 5% ซึ่งเป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทาก่อนนอนวันเว้นวัน นาน 16 สัปดาห์ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือขึ้นบริเวณปากมดลูก หรือภายในช่องคลอด
- ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติกชนิด 50-70% ซึ่งสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- จี้ด้วยไฟฟ้าหรือไนโตรเจนเหลว
- รักษาด้วยแสงเลเซอร์
- รักษาด้วยการผ่าตัด ในรายที่เป็นหงอนไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์
- ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว แพทย์อาจให้การรักษาโดยให้ผู้ป่วยกินไซเมทิดีนในขนาดสูง (30-40 มก./กก./วัน) ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยให้นาน 6-8 สัปดาห์ จะช่วยให้หูดยุบหายหมดได้
หากสงสัย เช่น มีติ่งเนื้องอกอ่อน ๆ สีชมพู ลักษณะคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำที่บริเวณอวัยวะเพศ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหงอนไก่ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- หลังการรักษาแล้ว หากมีอาการปวด แสบ คัน พุเป็นตุ่มน้ำ หรือบวมที่บริเวณรอยโรคไม่ทุเลา ใน 1-2 สัปดาห์
- มีหงอนไก่เกิดขึ้นใหม่
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคลคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง
- หากมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรใช้ถุงยางอนามัย
- สำหรับผู้หญิงควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine) ชนิดที่ป้องกันได้ทั้งโรคหงอนไก่ และมะเร็งปากมดลูก
1. สามีหรือภรรยาของผู้ที่มีหงอนไก่ควรให้แพทย์ตรวจ ถ้ามีหงอนไก่ควรรักษาพร้อม ๆ กันไป เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อระหว่างกัน
2. ถ้าพบว่ามีหงอนไก่ขึ้นหลายแห่ง หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่