ตาแห้ง หมายถึง ภาวะที่น้ำตาที่มาหล่อเลี้ยงดวงตาให้มีความชุ่มชื้นมีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการไม่สบายตา เช่น เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ตามัว เป็นต้น
ภาวะนี้พบในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 50 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยหมดประจำเดือน
ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอายุมาก และการทำงานที่เกี่ยวกับสายตา ภาวะนี้มักสร้างความรำคาญ และมีผลต่อการใช้สายตาชั่วคราว แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ส่วนน้อยอาจเกิดจากโรคประจำตัวบางชนิด
น้ำตาซึ่งทำหน้าที่หล่อลื่นผิวตาและป้องกันการติดเชื้อที่ผิวตา ประกอบไปด้วย (1) ไขมัน ซึ่งอยู่ชั้นบน ผลิตโดยต่อมไขมัน (meibomian gland) ที่เปลือกตา (2) น้ำ ซึ่งอยู่ชั้นกลาง ผลิตโดยต่อมน้ำตา (lacrimal gland) และ (3) เมือก ซึ่งอยู่ชั้นล่าง ผลิตโดยเยื่อตาขาวและกระจกตา หากส่วนประกอบในน้ำตามีปัญหา อาจทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะน้ำตาแห้ง ได้แก่
1. ต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาได้น้อยลง จากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ
- อายุ ยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งมีการผลิตน้ำตาน้อยลง ภาวะนี้จึงพบมากในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- เพศ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน
- การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้น้ำตาลดลง เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้คัดจมูกหรือยาหดหลอดเลือด (decongestant) ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยากล่อมประสาท ยาต้านซึมเศร้า ยาเม็ดคุมกำเนิด ยารักษาสิว เป็นต้น
- โรคบางชนิด เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s syndrome)* ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี เบาหวาน ภาวะพิษจากไทรอยด์ (Graves’ disease) เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ ภาวะขาดวิตามินเอ ภาวะขาดโอเมกา-3
- กระจกตาได้รับการกระทบกระเทือน เช่น การผ่าตัดตาโดยวิธีเลสิก (Lasik) การใส่เลนส์สัมผัส (contact lens) มาเป็นระยะนาน ทำให้การรับรู้ความรู้สึกปวดลดลง ส่งผลให้ผลิตน้ำตาลดลง
2. น้ำตามีการระเหยมากกว่าปกติ จากสาเหตุต่าง ๆ อาทิ
- การสัมผัสถูกอากาศร้อน อากาศแห้ง ลมแรง ลมจากเครื่องปรับอากาศ ควันบุหรี่ เขม่าควัน
- ภาวะกะพริบตาน้อยครั้งกว่าปกติ เช่น การเพ่งมองอะไรนาน ๆ (เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ หรือการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน) ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (ซึ่งมีการกะพริบตาน้อยครั้งกว่าคนปกติ)
- เปลือกตาผิดปกติ เช่น ภาวะเปลือกตาม้วนออก (ectropion) ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (entropion)
- ต่อมไขมันที่เปลือกตาผิดปกติ (meibomian gland dysfunction) เช่น ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน ต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบ (ซึ่งพบในโรคเปลือกตาส่วนหลังอักเสบ หรือ posterior blepharitis) ทำให้ผลิตไขมัน (ซึ่งมาเคลือบส่วนผิวบนของน้ำตา) น้อยลง ทำให้น้ำตาระเหยมากกว่าปกติ
- สารกันเสียในยาหยอดตา
- ภาวะขาดวิตามินเอ
*กลุ่มอาการโจเกรน เป็นโรคภูมิต้านตนเอง (ออโตอิมมูน) ชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอาจพบร่วมกับโรคภูมิต้านตนเองอื่น ๆ (เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี) พบว่าร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำตาและต่อมน้ำลายอย่างเรื้อรัง ส่งผลให้มีน้ำตาและน้ำลายหลั่งน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการตาแห้ง (รู้สึกแสบ คัน หรือระคายเคืองในดวงตา) และปากแห้ง (รู้สึกคล้ายมีสำลีอยู่ในปาก อาจทำให้มีปัญหาในการพูดหรือกลืนอาหาร) เป็นหลัก
นอกจากนี้อาจมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ทำให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ช่องคลอดแห้ง ผิวหนังแห้งหรือมีผื่นขึ้น ต่อมน้ำลายบวม (โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าใบหูและหลังขากรรไกร) ข้ออักเสบ (ข้อบวม) ไอเรื้อรัง อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง เป็นต้น อาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อย ได้แก่ ฟันผุ โรคเชื้อราในช่องปาก มีอาการผิดปกติทางตา (ไวต่อแสง ตาพร่ามัว กระจกตาเสียหาย) ที่พบได้น้อย เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ตับแข็ง ไตเสื่อม ปลายประสาทอักเสบ (ชาปลายมือปลายเท้า) หลอดเลือดอักเสบ ภาวะขาดไทรอยด์ บางรายอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ ตรวจการทำหน้าที่ผลิตน้ำตาของตาและการผลิตน้ำลายของต่อมน้ำลาย การนำชิ้นเนื้อต่อมน้ำลายไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (biopsy) เป็นต้น
การรักษา ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาเพื่อบรรเทาตามอาการ เช่น บรรเทาอาการตาแห้งด้วยน้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาที่มีตัวยาต้านอักเสบเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำตา ในรายที่มีอาการตาแห้งมาก แพทย์อาจใช้วิธีการอุดท่อน้ำตา (punctal occlusion) โดยใช้อุปกรณ์ที่ทำจากซิลิโคน (silicone plug) เพื่อลดการระบายน้ำตาออกจากดวงตา ซึ่งช่วยให้มีน้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตามากขึ้น, สำหรับอาการปากแห้ง ให้จิบน้ำบ่อย ๆ หากไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยาเพิ่มการผลิตน้ำลาย (เช่น ยาเม็ด pilocarpine), ใช้โลชั่นทาผิวบรรเทาอาการผิวแห้ง, ใช้เจลปิโตรเลียมหรือลิปมันบรรเทาอาการริมฝีปากแห้ง, ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สำหรับอาการข้ออักเสบ, ให้ยาต้านเชื้อราในรายที่มีโรคเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น
ในรายที่มีอาการมาก แพทย์จะให้ยาต้านอักเสบ ได้แก่ ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) บางรายอาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เมโทเทรกเซต (methotrexate) เป็นต้น
มีอาการแสบตา เคืองตา หรือรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา ไม่สู้แสง (กลัวแสง) น้ำตาไหลบ่อย ตาพร่ามัว (แต่เมื่อกะพริบตา มองเห็นชัดขึ้น) บางรายอาจมีอาการตาล้า ปวดตา หรือปวดศีรษะร่วมด้วย
หากปล่อยไว้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
- การติดเชื้อที่ตา (เนื่องจากขาดน้ำตาที่ป้องกันไม่ให้ตาติดเชื้อ) เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ กระจกตาอักเสบ
- ภาวะตาแห้งที่รุนแรงอาจทำให้เกิดแผลกระจกตา และสูญเสียการมองเห็น
- มีปัญหาในการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ การขับรถ เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจตาเป็นหลัก ซึ่งจะตรวจพบน้ำตาไหล ตาแดง ขี้ตาเป็นเมือกเหนียว
บางรายจักษุแพทย์อาจทำการตรวจวัดปริมาณน้ำตา ส่วนประกอบ ความเข้มข้น และ/หรือคุณภาพของน้ำตาด้วยวิธีการต่าง ๆ
ในรายที่สงสัยว่ามีโรคอื่นที่เป็นสาเหตุของอาการตาแห้ง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ ตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เป็นต้น
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การรักษา ดังนี้
1. ในรายที่มีอาการเล็กน้อย หรือชั่วครั้งชั่วคราว แพทย์จะให้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา น้ำตาเทียมมีทั้งชนิดน้ำและชนิดเจล ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย
2. ในรายที่มีอาการมาก หรือเรื้อรัง หรือใช้น้ำตาเทียมไม่ได้ผล แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน ดังนี้
- ให้ยากระตุ้นการสร้างน้ำตา เช่น ยาหยอดตาที่มีตัวยา diquafosol
- ในรายที่มีโรคเปลือกตาอักเสบ (ซึ่งทำให้เกิดการอุดกั้นไม่ให้ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันที่เปลือกตาไม่ให้ไหลไปเคลือบส่วนผิวบนน้ำตา) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ (ซึ่งมีชนิดทั้งยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรือยารับประทานให้เลือกใช้) เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ
- ในรายที่มีกระจกตาอักเสบ แพทย์จะให้ยาหยอดตาที่ตัวยาลดการอักเสบ เช่น ไซโคลสปอรีน (cyclosporine) หรือสเตียรอยด์ (สำหรับยาหยอดตาสเตียรอยด์ แพทย์จะใช้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการใช้เป็นเวลานานอาจเกิดผลข้างเคียงได้)
- สำหรับรายที่เป็นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอื่น ๆ แพทย์จะรักษาด้วยน้ำตาเซรั่ม (autologous blood serum drops) ซึ่งสกัดจากเลือดของผู้ป่วยเอง
- การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้เลนส์สัมผัส (contact lens) ชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า scleral lenses หรือ bandage lenses ซึ่งช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นและปกป้องพื้นผิวของดวงตา, การอุดท่อน้ำตาแบบชั่วคราวด้วยอุปกรณ์ที่ทำจากซิลิโคน (silicone plug) หรือการอุดท่อน้ำตาแบบถาวรด้วยการจี้ด้วยความร้อน (thermal cautery) เพื่อไม่ให้น้ำตาระบายออกเร็ว, การประคบเปลือกตาด้วยน้ำอุ่นและการทำความสะอาดเปลือกตาเพื่อลดการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา, การรักษาด้วยแสงความยาวคลื่นเฉพาะ (intense pulsed light treatment)
3. ในรายที่ตรวจพบสาเหตุของภาวะตาแห้ง ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยา ก็จะปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม, ให้ยารักษาโรค (เช่น เยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ โรคโจเกรน ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี เบาหวาน ภาวะพิษจากไทรอยด์), ทำการผ่าตัดแก้ไขภาวะเปลือกตาม้วนออก (ectropion) หรือภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (entropion) เป็นต้น
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ช่วยให้อาการทุเลาได้ดี แต่ต้องให้ยาบรรเทาอาการอย่างต่อเนื่อง
ในรายที่ตรวจพบโรคที่เป็นสาเหตุของตาแห้งก็จะสามารถควบคุมโรคและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
หากแพทย์เคยตรวจพบ หรือมีอาการที่สงสัยเป็นภาวะตาแห้งเล็กน้อย (เช่น มีอาการแสบตา เคืองตา หรือตาพร่ามัวเป็นครั้งคราวหลังใช้สายตาสักพัก เมื่อกะพริบตา มองเห็นชัดขึ้น) ควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา วันละ 3-4 ครั้ง
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- ขณะอ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ให้หยุดพักสายตาและกะพริบตาบ่อย ๆ ถ้ามีอาการตาล้าร่วมด้วย ให้พักสายตาเป็นระยะ โดยพักสายตาทุก 20 นาที พัก (หรือหลับตา) นาน 20 วินาที
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ อากาศแห้ง อากาศร้อน ลมแรง
- เมื่อออกไปข้างนอก ให้สวมแว่นกันแดดเพื่อกันแสงแดดและกันลม
- ทำความสะอาดเปลือกตา และประคบเปลือกตาด้วยน้ำอุ่นตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยลดการอักเสบของเปลือกตา และลดการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา (meibomian gland)
- ใช้เครื่องทำความชื้น ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศที่มีสภาพอากาศแห้งเพื่อลดอาการตาแห้ง
ควรไปพบแพทย์ ถ้าดูแลตนเองดังกล่าวข้างต้น 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดตา ตาล้ามาก ตาพร่ามัวมาก ตาแดงจัด หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่าอาการตาแห้งอาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (มีอาการปากแห้งร่วมด้วย) เบาหวาน (มีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (มีอาการปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้า) เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ อากาศแห้ง อากาศร้อน ลมแรง
- เมื่อออกไปข้างนอก ให้สวมแว่นกันแดดเพื่อกันแสงแดดและกันลม
- ถอดเลนส์สัมผัส (คอนแทกต์เลนส์) เมื่อไม่ใช้งาน
- เมื่อใช้สายตาอ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ให้กะพริบตาบ่อย ๆ และหมั่นพักสายตาและหลับตานาน 2-3 นาที เป็นครั้งคราว
- กินอาหารที่มีวิตามินเอและโอเมกา-3 สูง (วิตามินเอมีมากในตับ ไข่ นม มะเขือเทศ บรอกโคลี แครอต, โอเมกา-3 มีมากในปลา)
1. อาการตาแห้ง แม้ว่าส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถดูแลตนเองได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียมเป็นประจำ แต่หากเป็นรุนแรงหรือปล่อยปละละเลย ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน จนสูญเสียการมองเห็นได้
2. ผู้ที่มีอาการตาแห้งเรื้อรังหรือดูแลตนเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาโรคที่เป็นสาเหตุ และให้การรักษาที่เหมาะสม