
ยาบางชนิดที่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อสุขภาพของผู้เป็นมารดาโดยตรง หรืออาจผ่านรกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ บางชนิดที่ใช้ในหญิงที่ให้นมบุตรสามารถผ่านไปเจือปนอยู่ในน้ำนมของมารดา มีผลต่อสุขภาพของทารกที่กินนมมารดาได้ และบางชนิดถ้าใช้ในทารกโดยตรง ก็อาจมีโทษต่อทารกได้
ดังนั้น ในการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และในทารก จึงต้องระมัดระวังอย่างพิเศษ
ในที่นี้จะขอสรุปเฉพาะยาที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคทั่วไปเท่านั้น คงไม่ครอบคลุมถึงยาทุกชนิดที่มีผลต่อสุขภาพของมารดาและเด็ก
1. ยา/สารที่อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ซึ่งไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น
- ฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ เอสโทรเจน โพรเจสเทอโรน
- ฮอร์โมนเพศชาย (androgen) ได้แก่ เทสโทสเทอโรน ดานาซอล (danazol) ซึ่งใช้รักษาโรคเยื่อบุมดลูกต่างที่
- ยารักษามะเร็ง (เคมีบำบัด) เช่น คลอแรมบูซิล (chlorambucil) บิวซัลแฟน (busulphan) ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) เมโทเทรกเซต (methotrexate)*
- ยารักษาโรคลมชัก ได้แก่ เฟนิโทอิน กรดวาลโพรอิก (valproic acid) คาร์บามาซีพีน (carbamazepine)
- สารเรตินอยด์ (retinoids) ได้แก่ ไอโซเทรติโนอิน (isotretinoin) ซึ่งเป็นยารักษาสิว
- สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ วาร์ฟาริน (warfarin)
- ยารักษามาลาเรีย ได้แก่ ควินิน ขนาดสูง
- ยาต้านไวรัส ได้แก่ ไรบาไวริน (ribavirin)
- ยารักษาภาวะอารมณ์แปรปรวน ได้แก่ ลิเทียม (lithium)
- ยารักษาต่อมลูกหมากโต/ผมร่วงกรรมพันธุ์ ได้แก่ ไฟนาสเตอไรด์ (finasteride)
- ยาลดความดัน กลุ่มยาต้านเอซ ได้แก่ อีนาลาพริล (enalapril) แคปโทพริล (captopril)
- ยาอื่น ๆ เช่น ทาลิโดไมด์ (thalidomide)
- สารปรอท
- แอลกอฮอล์
- สารเสพติด ได้แก่ โคเคน
--------------------------------
*ยานี้มีฤทธิ์ต้านโฟเลต (antifolate) นอกจากใช้รักษามะเร็งแล้ว ยังใช้รักษาโรคปวดข้อรูมาตอยด์ และโซริอาซิส
2. ยา/สารที่อาจมีพิษหรือผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ ซึ่งไม่ควรใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น
- แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้ากินในระยะไตรมาสที่ 3 อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีภาวะเลือดออกง่าย
- เตตราไซคลีน ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 2 และ 3 อาจทำให้ทารกฟันเหลืองดำ กระดูกเจริญไม่ดี
- ยาประเภทซัลฟา (sulfonamides) ถ้าใช้ในหญิงระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกเกิดอาการดีซ่านและสมองพิการได้ (kernicterus)
- คลอแรมเฟนิคอล ถ้าใช้ในหญิงระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ตัวเย็น หมดสติดังที่เรียกว่า เกรย์ซินโดรม (Gray syndrome)
- สเตรปโตไมซิน คาน่าไมซิน (kanamycin) เจนตาไมซิน (gentamicin) ถ้าใช้นาน ๆ อาจทำให้ทารกหูพิการได้
- ยาเสพติด เช่น (มอร์ฟีน เฮโรอีน) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้กดศูนย์ควบคุมการหายใจของทารก (ทำให้ทารกเกิดมาหยุดหายใจ) หรือมีอาการขาดยา (withdrawal symptom) ทำให้ทารกชักได้
- ฟีโนบาร์บิทาล ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจกดศูนย์ควบคุมการหายใจของทารก (ทำให้ทารกเกิดมาหยุดหายใจ) มีอาการขาดยา หรือมีเลือดออกได้
- เฟนิโทอิน อาจทำให้ทารกเลือดออกง่าย
- ยาต้านไทรอยด์ ได้แก่ เมทิมาโซล (methimazole) อาจทำให้ทารกเกิดภาวะขาดไทรอยด์
- ยารักษาเบาหวานชนิดกิน เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย ไบกัวไนด์ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเด็กแรกเกิดได้
- คลอโรควีน ถ้าใช้ในขนาดสูง อาจทำให้มีพิษต่อหูและจอประสาทตาของทารก
- ไมโซพรอสตอล (misoprostol) ซึ่งเป็นพรอสตาแกลนดินสังเคราะห์ อาจทำให้แท้งบุตร
- ยากล่อมประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepine) เช่น ไดอะซีแพม ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกมีอาการขาดยา หรือเนื้อตัวอ่อนปวกเปียก (floppy baby) ได้
- ยาขับปัสสาวะ-ไทอาไซด์ อาจลดปริมาณน้ำเลือด (plasma) ของมารดา และทำให้ทารกขาดเลือดและอาหารที่ไปหล่อเลี้ยง
- รีเซอร์พีน ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการคัดจมูก ตัวเย็น หัวใจเต้นช้า ตัวอ่อนปวกเปียก
- โพรพราโนลอล (propranolol) อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกแรกเกิดมีชีพจรเต้นช้า หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- บุหรี่ ถ้าสูบมากอาจทำให้ทารกตายในครรภ์ แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด หรือทารกอาจเกิดมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
3. ยาที่อาจมีอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์
ยาที่อาจมีโทษหรืออันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์โดยตรง เช่น
- แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้คลอดเกินกำหนด และคลอดยาก
- เตตราไซคลีน ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจมีพิษต่อตับอย่างรุนแรง (acute fatty necrosis of liver) จนเป็นอันตรายได้
- ไนโตรฟูแรนโทอิน (nitrofurantoin) อาจทำให้ตับอักเสบ โลหิตจาง
4. ยา/สารที่ควรหลีกเลี่ยงในระยะให้นมบุตร
มารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่สามารถปนอยู่ในน้ำนม ซึ่งอาจมีโทษต่อทารกได้ เช่น
- เออร์กอตแอลคาลอยด์ อาจเกิดพิษต่อทารก ทำให้มีอาการอาเจียน ท้องเดิน
- เตตราไซคลีน อาจทำให้ฟันเหลืองดำ และกระดูกเจริญไม่ดี
- ซัลฟา อาจทำให้ทารกมีอาการดีซ่าน และสมองพิการ (kernicterus)
- ซัลฟา ไนโตรฟูแรนโทอิน (nitrofurantoin) อาจทำให้ทารกเกิดโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้ามีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี
- คลอแรมเฟนิคอล อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือเกรย์ซินโดรม
- เมโทรไนดาโซล อาจทำให้เด็กเบื่ออาหาร อาเจียน
- แอสไพริน อาจทำให้เกิดผื่นในทารก
- ไอเอ็นเอช อาจมีพิษต่อตับ หรือมีภาวะเลือดออกง่าย
- แอลกอฮอล์ บาร์บิทูเรต อาจทำให้เด็กง่วงซึมได้ และถ้ามารดาดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กได้
- ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโทรเจน (estrogen) โพรเจสเทอโรน (progesterone) แอนโดรเจน (androgen) อาจทำให้น้ำนมลดน้อยลง หรือหยุดไหล
- ยาต้านไทรอยด์ (เมทิมาโซล โพรพิลไทโอยูราซิล) อาจทำให้ทารกเกิดอาการคอพอก ภาวะขาดไทรอยด์ หรือภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ยารักษาเบาหวานชนิดกิน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารก
- ยาปิดกั้นบีตา ทำให้ชีพจรเต้นช้า
- ยาขับปัสสาวะ-ไทอาไซด์ อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- รีเซอร์พีน ทำให้เด็กคัดจมูก มีเสมหะมาก
5. ยาที่ทารกและเด็กเล็กไม่ควรใช้
ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก และเด็กเล็ก เช่น
- แอสไพริน ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจทำให้มีเลือดออกได้
- ยาแก้แพ้ ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้ซึม นอนไม่หลับ หรือชักได้
- เตตราไซคลีน และดอกซีไซคลีน ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี อาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวร และกระดูกเจริญไม่ดี
- คลอแรมเฟนิคอล ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน อาจทำให้เด็กตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก หมดสติ ดังที่เรียกว่า เกรย์ซินโดรม
- ซัลฟา ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน อาจทำให้เกิดอาการดีซ่านและสมองพิการ (kernicterus) ได้
- ยาแก้ท้องเดินประเภทอนุพันธ์ฝิ่น เช่น ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร ไดเฟน็อกไซเลต (เช่น โลโมทิล) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจกดศูนย์ควบคุมการหายใจ เป็นอันตรายได้