โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หมายถึง อาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 หรือเส้นประสาทไทรเจมินัล (trigeminal nerve) ซึ่งเลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการเคี้ยวอาหาร และรับความรู้สึกที่ตาและใบหน้า
พบได้ประมาณปีละ 4-5 คน ต่อประชากร 100,000 คน พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจพบได้น้อยในเด็กและวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
แขนงบน หรือแขนงตา ครอบคลุมบริเวณหน้าผาก ตา จมูก
แขนงกลาง หรือแขนงแก้ม ครอบคลุมบริเวณ เปลือกตาล่าง ข้างจมูก แก้ม เหงือก ริมฝีปาก ฟันบน
แขนงล่าง หรือแขนงขากรรไกร ครอบคลุมบริเวณ ขากรรไกร ฟันล่าง เหงือก ริมฝีปากล่าง
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาจเกิดอาการปวดในบริเวณใบหน้าที่มีแขนงเส้นประสาทไปเลี้ยงเพียงแขนงเดียว หรือมากกว่า 1 แขนงได้
ส่วนใหญ่ เกิดจากหลอดเลือดที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาทไทรเจมินัลที่อยู่ตรงฐานของสมอง เคลื่อนเข้ามาสัมผัสหรือกดทับเส้นประสาทดังกล่าว ทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ
ส่วนน้อยอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ หรือเปลือกหุ้มเส้นประสาท (myelin sheath) เสื่อมจากโรคบางชนิด (เช่น multiple sclerosis) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มีก้อนเนื้องอกกดทับเส้นประสาทไทรเจมินัล มีความผิดปกติอื่น ๆ ในสมอง การบาดเจ็บหรือการผ่าตัดบริเวณใบหน้า
มีอาการปวดแปลบคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตหรือเข็มทิ่ม อย่างเฉียบพลันและรุนแรง นานครั้งละไม่กี่วินาทีถึง 2-3 นาที ในบริเวณใบหน้าที่เส้นประสาทไทรเจมินัลไปเลี้ยง ตำแหน่งที่ปวดบ่อย ได้แก่ แก้ม ขากรรไกร ฟัน เหงือก ริมฝีปาก ส่วนน้อยอาจปวดที่บริเวณตาและหน้าผาก มักเป็นที่ใบหน้าเพียงซีกใดซีกหนึ่ง (โอกาสที่เกิดขึ้นทั้งสองซีกพบได้น้อยมาก)
อาการปวดอาจอยู่ ๆ เกิดขึ้นมาเอง หรืออาจมีสิ่งกระตุ้น เช่น เวลายิ้ม พูด เคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด แต่งหน้า โดนสัมผัส โดนลม โดนแอร์ เคลื่อนไหวศีรษะ เป็นต้น
บางรายอาจมีอาการปวดเล็กน้อย รู้สึกแสบร้อน หรือมีอาการชา เสียวหรือซ่า ก่อนที่จะมีอาการปวดแปลบ
อาการปวดแปลบดังกล่าวอาจเกิดตรงจุดเดียว หรือแผ่กระจายเป็นบริเวณกว้างก็ได้ และมักเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ (นานครั้งละไม่กี่วินาทีถึง 2-3 นาที) อาจปวดนาน ๆ ครั้ง หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ อยู่เรื่อย ๆ วันละหลายครั้ง (ในรายที่เป็นรุนแรงอาจปวดวันละนับร้อยครั้ง) อาการอาจเป็นนานนับเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือมากกว่า บางรายก็อาจมีช่วงที่ไม่มีอาการปวดไปนานเป็นแรมเดือนหรือแรมปีก่อนที่จะมีอาการกำเริบรอบใหม่
อาการปวดมักจะเป็นบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นตามระยะของโรคที่เป็น
บางรายอาจมีจุดจำเพาะตรงใบหน้าที่เมื่อสัมผัสถูกจะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้
โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดความทุกข์ทรมานจากอาการปวดเรื้อรัง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ อาจทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยที่ต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่อมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การเคี้ยวอาหาร ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักลดในผู้ป่วยบางรายได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการซักประวัติอาการเป็นหลัก ได้แก่ ลักษณะการปวด ตำแหน่งที่ปวด และสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และทำการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจพบบริเวณใบหน้าว่ามีตำแหน่งที่ปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทไทรเจมินัลแขนงใดบ้าง
แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพสมองและศีรษะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกัน (เช่น ไซนัสอักเสบ ความผิดปกติเกี่ยวกับฟันและช่องปาก) และค้นหาสาเหตุ (เช่น เนื้องอกในสมอง multiple sclerosis)
บางรายระหว่างทำ MRI แพทย์อาจทำการฉีดสี (magnetic resonance angiogram) ดูลักษณะหลอดเลือดที่ฐานสมอง
ในช่วงแรกแพทย์จะให้กลุ่มยารักษาโรคลมชักเพื่อบรรเทาอาการ ที่นิยมใช้คือ คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) ส่วนยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ที่แพทย์อาจเลือกใช้ เช่น เฟนิโทอิน (phenytoin), กาบาเพนทิน (gabapentin), กรดวาลโพอิก (valproic acid ), โทพิราเมต (topiramae) เป็นต้น เมื่อใช้ไปนาน ๆ อาจได้ผลน้อยลง แพทย์จะต้องคอยเพิ่มขนาด หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น
บางรายแพทย์อาจให้ยาบาโคลเฟน (baclofen) ซึ่งเป็นยาคลายกล้ามเนื้อแบบเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยารักษาโรคลมชัก
ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น อาทิ
- การผ่าตัด เพื่อแก้ไขต้นเหตุ คือแยกหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทออกไป (microvascular decompression) วิธีนี้ช่วยให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 80-85
- การฉายรังสีแกมมา (brain stereotactic radiosurgery หรือ gamma knife) เพื่อทำลายเส้นประสาทไทรเจมินัล วิธีนี้ช่วยให้หายปวดได้เป็นส่วนใหญ่ และในรายที่โรคกำเริบ อาจทำซ้ำได้อีก ข้อเสียคือ มีผลข้างเคียง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา
- ทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฉีดสารกลีเซอรอล (glycerol injection), การใช้บัลลูนบีบอัด (balloon compression), การแผ่รังสีความร้อนของคลื่นวิทยุ (radiofrequency thermal lesioning) เพื่อทำลายใยประสาทไทรเจมินัล เป็นต้น
ในรายที่ตรวจพบสาเหตุของโรคนี้ ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ถ้าตรวจพบมีเนื้องอกที่กดทับเส้นประสาทไทรเจมินัล ก็จะทำการผ่าตัดออก เป็นต้น
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแปลบคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตหรือเข็มทิ่มที่บริเวณใบหน้า เช่น แก้ม ขากรรไกร ริมฝีปาก ฟัน เหงือก เป็นต้น หรือมีอาการคล้ายปวดฟัน โดยตรวจไม่พบความผิดปกติของฟันที่ชัดเจน หรือได้รับการตรวจรักษาทางทันตกรรมแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดกำเริบขึ้นใหม่
- ถ้ากินยาให้แล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มึนงง ง่วงนอน คลื่นไส้ มีไข้ขึ้น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- มีความวิตกกังวล
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล
สำหรับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด
1. โรคนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "Tic douloureux" เนื่องจากผู้ป่วยบางราย เวลามีอาการรู้สึกเจ็บปวด เสียวสะดุ้ง อาจทำหน้าย่น หน้าเบะ หน้าบูดเบี้ยว หรือส่ายศีรษะเป็นพัก ๆ ตามจังหวะที่เกิดอาการปวด ทำให้ดูคล้ายมีอาการหน้ากระตุก (คำว่า tic แปลว่า กล้ามเนื้อกระตุก)
2. ผู้ที่เป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาจมีอาการเหมือนปวดเสียวฟัน เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยการแปรงฟัน การเคี้ยวอาหาร หรือการดื่มน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงอาจไปหาทันตแพทย์ ซึ่งอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ หรือหากบังเอิญพบมีความปกติเล็กน้อย (เช่น ฟันผุ) ก็อาจได้รับการทำฟันแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น กรณีเช่นนี้แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ทางระบบประสาท
3. แม้ว่าโรคนี้มักมีอาการปวดที่รุนแรงและเรื้อรัง แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงแต่อย่างใด และสามารถรักษาให้หายได้เป็นส่วนใหญ่