กรวยไตอักเสบเรื้อรังมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซาก เนื่องจากมีความผิดปกติของโครงสร้างทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปที่ท่อไตและไต (vesicoureteral reflux/VUR) เนื่องจากความผิดปกติของลิ้นกั้นระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะซึ่งมักเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้นำเชื้อแบคทีเรียขึ้นไปทำให้กรวยไตติดเชื้ออักเสบ นอกจากนี้ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับดังกล่าวยังทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันในกรวยไต ซึ่งไปทำลายเนื้อเยื่อไตกลายเป็นพังผืด เสริมให้ไตเสื่อมอีกทางหนึ่ง
ในผู้ใหญ่มักเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเนื่องจากภาวะบางอย่าง (เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต) หรือกระเพาะปัสสาวะไม่ทำงาน เนื่องจากความผิดปกติของไขสันหลัง (เช่น ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ โพรงกระดูกสันหลังแคบ รากประสาทถูกกดทับ)
ในรายที่มีอาการแสดง อาจมีไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น แบบเดียวกับกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน หรืออาจมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซึม ซึ่งมักเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่มีอาการแสดงอะไรที่ชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยสาเหตุอื่น เช่น ตรวจพบสารไข่ขาว (proteinuria) หรือเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ (bacteriurea), พบมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะจำนวนมาก, ตรวจพบค่าครีอะตินีนในเลือดสูงกว่าปกติ หรือตรวจพบไตฝ่อจากการถ่ายภาพไต เป็นต้น
- หากมีการกำเริบของกรวยไตอักเสบรุนแรง และไม่ได้รับการรักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรีย เช่น ฝีในไตหรือรอบ ๆ ไต โลหิตเป็นพิษ เป็นต้น
- ความดันโลหิตสูง (ซึ่งพบตั้งแต่ในวัยเด็ก)
- สำหรับเด็กเล็กที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และร่างกายเจริญเติบโตช้า
- ที่สำคัญคือ การอักเสบซ้ำซากและแรงดันที่เพิ่มขึ้นในกรวยไต ทำให้เนื้อเยื่อไตถูกทำลายลงทีละน้อย ไตกลายเป็นพังผืด ไตฝ่อและเสื่อมตัวลงอย่างช้า ๆ ถ้าเกิดที่ไตข้างเดียวก็จะไม่มีอาการ แต่ถ้าเกิดที่ไตทั้ง 2 ข้าง ก็จะเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง (มีอาการบวม อ่อนเพลีย ซีด ความดันโลหิตสูง) ในระยะต่อมา (อาจนานเป็นปี ๆ หรือสิบ ๆ ปี) ก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะท้าย ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
ในรายที่ไม่มีอาการที่ชัดเจน การตรวจร่างกายมักไม่พบความปกติชัดเจน นอกจากอาจพบความดันโลหิตสูง หรือภาวะซีด
ในรายที่มีอาการกำเริบ จะมีไข้ เคาะเจ็บที่สีข้าง ปัสสาวะขุ่น
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก ทั้งชนิดเดี่ยวและชนิดเกาะเป็นแพ) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การถ่ายถาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี (intravenous pyelogram) การใช้กล้องส่องตรวจทางเดินปัสสาวะ การเพาะเชื้อ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะและประเมินความรุนแรงของโรค
ขณะที่มีอาการของการติดเชื้อ (เช่น มีไข้ ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น) แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และติดตามดูอาการของผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยการตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดเป็นระยะ ๆ ดูว่ามีภาวะไตวายแทรกซ้อนหรือไม่
บางรายแพทย์อาจให้กินยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ
ถ้าพบความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะหรือภาวะที่อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต ก็จะทำการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กรวยไตอักเสบกำเริบได้
ในเด็กเล็กที่มีภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) ที่ไม่รุนแรง ก็อาจหายได้เองในเวลาต่อมา ส่วนเด็กที่มีภาวะนี้รุนแรง แพทย์ก็จะแก้ไขด้วยการผ่าตัด
นอกจากนี้ แพทย์จะทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาลดความดันสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ในรายที่เกิดภาวะไตวายเรื้อรังระยะท้าย แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยการล้างไตหรือปลูกถ่ายไต
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรง การเกิดความผิดปกติที่ไตข้างเดียวหรือ 2 ข้าง และการตอบสนองต่อการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ (ไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา เพราะอาการไม่เด่นชัด) ได้รับการรักษาล่าช้าไปหรือไม่ต่อเนื่อง มีอาการอักเสบกำเริบรุนแรงบ่อย หรือไม่ได้รับการแก้ไขภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR)/ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ที่สำคัญคือภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ภาวะไตเสื่อมจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ในที่สุดก็จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะท้ายได้
หากสงสัย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดบริเวณสีข้าง ปัสสาวะขุ่น หรือเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลันบ่อย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการของกรวยไตอักเสบเฉียบพลันกำเริบใหม่
- มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซีด คลื่นไส้ อาเจียน ซึม ท้องเดิน หรือเท้าบวม
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. ป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- อย่าอั้นปัสสาวะเวลามีอาการปวดปัสสาวะ
- หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง
- ควรดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ
2. เมื่อเป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ให้รีบรักษาแต่เนิ่นให้ได้ผล ติดตามตรวจกับแพทย์เพื่อเฝ้าตามดูการดำเนินของโรคอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งในกรณีที่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะป้องกันระยะยาว ก็ทำตามอย่างเคร่งครัด
3. รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคกรวยไตอักเสบ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เบาหวาน เอดส์ ต่อมลูกหมากโต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องท้อง เป็นต้น
1. โรคกรวยไตอักเสบเรื้อรังที่พบในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) ซึ่งสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้เป็นส่วนใหญ่ หากเด็กมีอาการกรวยไตอักเสบชัด ๆ (ไข้ ปวดสีข้าง และปัสสาวะขุ่น) หรือมีอาการไม่เด่นชัด (เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ) ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะและตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เมื่อตรวจพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบจากภาวะดังกล่าว ก็จะดูแลรักษาให้หายได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
และเนื่องจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (VUR) สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม พี่น้องของผู้ที่เป็นโรคนี้ (ซึ่งมักไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการ) ควรไปปรึกษาแพทย์ หากตรวจพบว่ามีภาวะดังกล่าว จะได้แก้ไขเพื่อป้องกันโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรังและไตวายเรื้อรังในระยะยาว
2. บางครั้งอาจพบผู้ป่วยเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายขนาน โดยยังตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ แต่ตรวจไม่พบเชื้อ (จากวิธีเพาะเชื้อตามปกติ) ในกรณีนี้ควรนึกถึงสาเหตุจากวัณโรคไต ซึ่งจะต้องวินิจฉัยโดยการส่งปัสสาวะเพาะหาเชื้อวัณโรคโดยเฉพาะ และให้ยารักษาวัณโรคจึงจะได้ผล