เกิดจากไข่ที่ถูกผสมถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางไปฝังตัวในโพรงมดลูก ซึ่งเกิดจากสาเหตุและปัจจัยได้หลายอย่าง อาทิ
- ท่อรังไข่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ปีกมดลูกอักเสบ การผ่าตัดท่อรังไข่ การทำหมันหญิง ท่อรังไข่ผิดปกติมาแต่กำเนิด
- มดลูกมีความผิดปกติโดยกำเนิด หรือเป็นเนื้องอกมดลูก
- ท่อรังไข่เคลื่อนตัวช้า ทำให้ไข่ฝังตัวอยู่ที่ท่อรังไข่ ซึ่งอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ การใช้ยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด
- เคยมีประวัติตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน
- มีประวัติมีบุตรยากนานเกิน 2 ปี หรือการแก้ไขภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น วิธีการทำกิฟต์ (GIFT), การทำเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization & embryo transfer/IVF-ET)
ผู้ป่วยมักมีประวัติขาดประจำเดือน 1-2 เดือน หรือไม่ก็สังเกตว่าประจำเดือนมาผิดไปจากทุกครั้ง เช่น มากะปริดกะปรอยไม่มาก สีน้ำตาลคล้ำ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีอาการปวดเสียดในท้องน้อยขึ้นทันทีทันใด ปวดรุนแรงเป็นชั่วโมง อาจร้าวไปที่หลัง ถ้านอนศีรษะต่ำอาจมีอาการปวดเสียวที่หัวไหล่
ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการเป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจมีเพียงอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ร่วมกับประจำเดือนกะปริดกะปรอย
อาจทำให้ปีกมดลูกอักเสบ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเป็นหมัน
ที่สำคัญคือ เกิดการตกเลือดในช่องท้องจนช็อกถึงตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ
ซีด กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ อาจกดเจ็บหรือคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจตรวจไม่พบอาการชัดเจน ทำให้คิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ถุงน้ำรังไข่ (ovarian cyst) หรือแท้งบุตรได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด เจาะเลือดตรวจดูระดับฮอร์โมนเอชซีจี (human chorionic gonadotropin/HCG) อาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์ หรือใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy)
แพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้เลือดในรายที่เสียเลือดมากและทำการผ่าตัดด่วน
หากสงสัย เช่น หญิงที่มีอาการขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนผิดปกติ มีอาการปวดเสียดในท้องน้อยขึ้นทันทีทันใด ปวดท้องรุนแรงเป็นชั่วโมง หรือ มีอาการปวดท้องร่วมกับมีอาการหน้าตาซีดเซียว หน้ามืด เป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นครรภ์นอกมดลูก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้าน มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซีด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกันค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง อาทิ
- ป้องกันไม่ให้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โดยการใช้ถุงยางอนามัยในกรณีที่มีความเสี่ยง) เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นปีกมดลูกอักเสบ
- หากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปีกมดลูกอักเสบควรรักษาให้หายขาด
- งดสูบบุหรี่ก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์
1. ถ้าพบผู้หญิงที่มีอาการเป็นลมหรือปวดท้อง ควรถามประวัติเกี่ยวกับประจำเดือนทุกราย (แม้ว่าจะไม่ได้มีประวัติการแต่งงานอย่างเป็นทางการก็ตาม) ถ้ามีอาการประจำเดือนขาดหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย อาจมีสาเหตุจากการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
2. การรักษาโรคนี้มีวิธีเดียว คือ การผ่าตัด หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ที่ปกติได้ ถึงแม้อาจมีโอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลงก็ตาม