ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา อาจมีสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมนในร่างกาย หรืออาจมีความผิดปกติทางโครงสร้าง (กายวิภาค) ของมดลูก หรือช่องคลอด เช่น เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอดมาแต่กำเนิด เป็นต้น
แต่ส่วนมากจะมีสาเหตุจากการเจริญเติบโตเป็นสาว (แตกเนื้อสาว) ช้าโดยธรรมชาติ โดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น และมักจะมีประจำเดือนมาก่อนอายุครบ 16 ปี ถ้าเลยจากนี้ไปแล้วก็น่าจะมีสาเหตุที่ผิดปกติต่าง ๆ
ภาวะประจำเดือนขาด ที่พบได้บ่อย ก็คือ การตั้งครรภ์ การฉีดยาคุมกำเนิด หลังคลอดบุตร หรือให้นมบุตร ความเครียดทางจิตใจ เป็นต้น ส่วนน้อยอาจมีสาเหตุจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตหรือรังไข่ การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้ง 2 ข้าง โรคชีแฮน โรคคุชชิง ตับแข็ง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะโลหิตจาง รูปร่างผอมหรืออ้วนไป ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวได้สรุปไว้ใน ตรวจอาการประจำเดือนขาด/ไม่มา
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา บิดามารดาหรือตัวผู้ป่วยเอง สังเกตว่าประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มา ทั้ง ๆ ที่เลยอายุควรจะมีประจำเดือน (อายุเลย 14 ปี)
โดยทั่วไปมักจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากมีสาเหตุจากความผิดปกติเกี่ยวกับรังไข่หรือฮอร์โมนก็อาจไม่มีการเจริญเติบโตทางเพศ เช่น หน้าอกแฟบเหมือนผู้ชาย ไม่มีขนรักแร้ หรือขนที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด (imperforate hymen) ผู้ป่วยมักมีเลือดประจำเดือนออกทุกเดือน แต่จะคั่งอยู่ในช่องคลอดเพราะเยื่อพรหมจรรย์ปิดกั้นไว้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดท้องเป็นประจำทุกเดือน และอาจตรวจพบเยื่อพรหมจรรย์โป่งพองขึ้น เนื่องจากมีก้อนเลือดที่คั่งในช่องคลอดคอยดันเยื่อนี้ให้โป่งออก
ภาวะประจำเดือนขาด ผู้ป่วยซึ่งปกติเคยมีประจำเดือนมาเป็นประจำทุกเดือน อยู่ ๆ ก็ไม่มีประจำเดือนมา ส่วนมากจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากในรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาจมีอาการแพ้ท้อง
ในรายที่เกิดจากเนื้องอกของรังไข่ ต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมอง อาจมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ตามืดมัวลงเรื่อย ๆ มีหนวดและขนขึ้นผิดธรรมชาติ น้ำนมออกผิดธรรมชาติ เป็นต้น
ในรายที่เป็นโรคชีแฮน ก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย เต้านมแฟบ ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศร่วง
ในรายที่เกิดจากโรคกังวลหรือซึมเศร้า ก็มักมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง
นอกจากนี้ อาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ตามสาเหตุที่พบ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ซีด เป็นต้น
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือน เช่น การตั้งครรภ์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ภาวะซีด เป็นต้น
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ และตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา ถ้ามีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด อาจต้องผ่าตัดเปิดให้มีทางระบายของเลือดประจำเดือน
ในรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตตามปกติ (เช่น มีการเจริญของเต้านม มีขนรักแร้ และขนอวัยวะเพศขึ้นตามปกติ) และไม่มีอาการปวดท้อง หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ อาจรอดูจนอายุเกิน 16 ปี ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมา แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
2. ภาวะประจำเดือนขาด ถ้ามีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง แพทย์ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือโรคกังวลใจ ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ
ในรายที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด และร่างกายเป็นปกติดีทุกอย่าง อาจรอดูสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมา แพทย์ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม
ถ้าอายุเกิน 16 ปี แล้วประจำเดือนยังไม่มา หรือเคยมีประจำเดือน แต่ประจำเดือนขาดหายไป หรือสงสัยมีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่ามีความผิดปกติของประจำเดือน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ในรายที่จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง มีการขาดยา ยาหายหรือกินยาไม่ได้
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือน เช่น การตั้งครรภ์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ภาวะซีด เป็นต้น
อาการประจำเดือนไม่มาหรือขาดประจำเดือนอาจเกิดจากสาเหตุได้หลากหลาย หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุที่พบ (ตรวจอาการประจำเดือนขาด/ไม่มา)