เกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้ลิ้นเป็นฝ้าขาว ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่ในช่องคลอด แต่จะไม่แสดงอาการอักเสบแต่อย่างใด
เนื่องจากแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดคอยสร้างกรดช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อราเจริญแพร่พันธุ์ แต่ถ้าหากมีภาวะบางอย่างที่ทำให้แบคทีเรียเหล่านี้ถูกทำลาย เช่น การกินยาปฏิชีวนะ (เช่น เตตราไซคลีน อะม็อกซีซิลลิน เป็นต้น) นาน ๆ หรือการสวนล้างช่องคลอด เป็นต้น จะทำให้เชื้อราเจริญได้ นอกจากนี้การกินยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือการตั้งครรภ์ ก็อาจเปลี่ยนแปลงสภาพภายในช่องคลอด ทำให้เชื้อราเจริญได้เช่นกัน
ผู้ป่วยจะมีอาการคันในช่องคลอด หรือรอบ ๆ ปากช่องคลอดอย่างมาก และมีตกขาวลักษณะข้นขาวคล้ายแป้งเปียกหรือคราบนม อาจมีอาการปวดเฉียบขณะร่วมเพศ (dyspareunia) หรือมีอาการปัสสาวะบ่อยและปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย บางรายอาจมีผื่นแดงรอบ ๆ ปากช่องคลอดหรือบริเวณขาหนีบ
โรคนี้ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ทำให้มีอาการคันในช่องคลอดรุนแรง จนบางครั้งทำให้เสียบุคลิกภาพ
นอกจากนี้ เมื่อรักษาหายแล้วอาจเกิดอาการกำเริบได้บ่อย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจภายในช่องคลอด และนำตกขาวไปตรวจส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุ
แพทย์จะให้ยาเหน็บช่องคลอดซึ่งเข้ายาฆ่าเชื้อรา เช่น ยาเหน็บช่องคลอดนิสแตติน (nystatin) ยาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซล (clotrimazole) หรือให้กินยาต้านเชื้อรา เช่น ฟลูโคนาโซล
ถ้าจะหลับนอนกับสามี ควรให้สามีสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ในรายที่กำเริบบ่อย แพทย์อาจทำการตรวจเลือดดูว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานหรือโรคเอดส์แฝงอยู่หรือไม่
ถ้าหากสงสัย เช่น มีอาการคันในช่องคลอด หรือรอบ ๆ ปากช่องคลอดอย่างมาก และมีตกขาวลักษณะข้นขาวคล้ายแป้งเปียกหรือคราบนม ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- ถ้าจะหลับนอนกับสามี ควรให้สามีสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการกำเริบซ้ำ
- ในรายที่แพทย์ให้ยารักษา หากใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกันช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ให้หลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงในที่ทำจากไนลอน หรือใยสังเคราะห์ เพราะทำให้อับชื้น ซึ่งเชื้อราอาจเจริญง่าย อย่าสวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น และอย่ากินยาปฏิชีวนะ (หรือยาชุดที่เข้ายาปฏิชีวนะ) โดยไม่จำเป็น
1. ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด ถ้ามีอาการของโรคนี้เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรเลิกกินยาคุมกำเนิด และหันไปคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแทน
2. อาการช่องคลอดอักเสบ (ตกขาวและคัน) อาจเป็นอาการแทรกซ้อนของผู้ที่เป็นเบาหวานหรือเอดส์ก็ได้ หากมีอาการช่องคลอดอักเสบบ่อยหรือสงสัยควรตรวจน้ำตาลในเลือดและเชื้อเอชไอวี