เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้อัณฑะไม่เกาะแน่นกับผนังด้านในของถุงอัณฑะ อัณฑะจึงสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดการบิดตัวของอัณฑะยังไม่ทราบแน่ชัด
พบว่าผู้ป่วยบางรายมีพ่อ พี่ชาย น้องชาย หรือบุตรชายเป็นโรคนี้ด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่าภาวะนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดอัณฑะข้างหนึ่งอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการปวดที่ตรงกลางท้องน้อย อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
บางรายอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นตอนกลางคืนจนทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติ ไม่มีอาการแสบขัดหรือถ่ายกะปริดกะปรอย
เนื้อเยื่ออัณฑะขาดเลือดตายภายใน 6-12 ชั่วโมง หลังจากเกิดการบิดตัวของสายรั้งอัณฑะ อาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือมีบุตรยากได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
อัณฑะที่บิดตัวจะมีอาการอักเสบ บวม กดเจ็บ และยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติหรือทำมุมผิดจากปกติ
บางรายอาจพบมีไข้
แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์
แพทย์จะทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขภาวะบิดตัวของอัณฑะ และป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำในภายหลังอีก
การผ่าตัดจะต้องทำภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ หากปล่อยทิ้งไว้จนอัณฑะตาย ก็อาจต้องผ่าตัดอัณฑะออกไป
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดอัณฑะรุนแรงหรือเกิดขึ้นฉับพลัน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นอัณฑะบิดตัว ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- หลังจากแพทย์รักษาด้วยการผ่าตัด รอยแผลผ่าตัดมีอาการอักเสบ แดงร้อน หรือมีเลือดออก
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้มีความผิดปกติโดยกำเนิด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
สำหรับผู้ที่มีญาติผู้ชายที่เป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดซ่อมแซมให้อัณฑะเกาะแน่นกับถุงอัณฑะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัณฑะบิดตัวตามมาในอนาคต
อาการอัณฑะบวมอาจมีสาเหตุจากไส้เลื่อน ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ อัณฑะอักเสบ มะเร็งอัณฑะ และอัณฑะบิดตัว
ผู้ที่อยู่ ๆ มีอาการอัณฑะข้างหนึ่งปวดและบวมซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและอย่างต่อเนื่องไม่ทุเลา และอัณฑะข้างที่ปวดยกขึ้นสูงกว่าระดับปกติหรือทำมุมผิดจากปกติ ควรนึกถึงโรคอัณฑะบิดตัวและรีบไปพบแพทย์ทันที