ผู้ชายเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ต่อมลูกหมาก* จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนโต แล้วจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ เมื่อโตมากจะเกิดแรงกดต่อท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และยิ่งมีอายุมากขึ้นก็จะมีอาการแสดงของโรคนี้มากขึ้น ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีจะพบได้น้อย
ผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโต บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ และความรุนแรงของอาการก็ไม่ได้ขึ้นกับขนาดของต่อมลูกหมากเสมอไป กล่าวคือ ผู้ที่มีต่อมลูกหมากขนาดที่โตกว่า อาจมีอาการแสดงน้อยกว่าผู้ที่มีต่อมลูกหมากโตในขนาดที่เล็กกว่าก็ได้
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า ไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต พบว่ามีระดับสูงขึ้นในผู้ชายสูงอายุ
นอกจากนี้ พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต ที่สำคัญ ได้แก่
- อายุ พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคต่อมลูกหมากโตจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ทำให้ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่งเหมือนคนปกติ ลำปัสสาวะมีลักษณะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด และปัสสาวะบ่อย (ห่างกันไม่ถึง 2 ชั่วโมง)
นอกจากนี้ เวลามีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หากเข้าห้องน้ำไม่ทัน อาจมีปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะราด หลังเข้านอนตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อย และบางครั้งอาจปัสสาวะรดกางเกงหรือที่นอน
อาจมีอาการถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ถ่าย ๆ หยุด ๆ หลายครั้ง ในช่วงท้ายของการถ่ายอาจมีปัสสาวะออกเป็นหยด ๆ
บางรายอาจมีอาการถ่ายมีเลือดออกปนในปัสสาวะ เนื่องจากหลอดเลือดดำที่ท่อปัสสาวะถูกแรงกดดัน ทำให้เกิดการแตกมีเลือดออกได้
อาการมักค่อย ๆ เป็นมากขึ้นอย่างช้า ๆ บางรายอาจมีอาการคงที่ หรืออาจรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว ในระยะต่อมา (อาจนานเป็นปี ๆ ถึงหลายปี) เมื่อต่อมลูกหมากโตมากและกดท่อปัสสาวะอย่างรุนแรง ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบากมากขึ้น บางรายอาจถึงขั้นถ่ายปัสสาวะไม่ออก มีความรู้สึกปวดปัสสาวะ ปวดตึงท้องน้อย และคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งเต็ม
บางครั้งอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันอาจเกิดหลังจากใช้ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก เช่น แอนติสปาสโมดิก ยาแก้แพ้ ยาทางจิตประสาท ยาบรรเทาปวดกลุ่มโอพิออยด์ (opioid เช่น มอร์ฟีน โคเดอีน ทรามาดอล เป็นต้น) และยากลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก (sympathomimetic) เช่น อะดรีนาลิน สูโดเอฟีดรีน เป็นต้น หรืออาจเกิดหลังดื่มแอลกอฮอล์ วางยาสลบ หรือนอนอยู่นาน ๆ (ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย)
หากปล่อยให้ท่อปัสสาวะเกิดการอุดกั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นานนับเป็นปี ๆ อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา อาทิ
- ผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวและอ่อนแรงในการบีบขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกได้น้อยกว่าคนปกติ มีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (เป็นเหตุให้มีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติมากขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา)
- การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ
- การเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การอุดกั้นของท่อปัสสาวะ เกิดแรงดันย้อนขึ้นทางเดินปัสสาวะด้านบน ทำให้ท่อไตและไตบวม ไตเสื่อม
- ท่อปัสสาวะเกิดการอุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออก มีปัสสาวะคั่งเต็มในกระเพาะปัสสาวะ จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะ หรือผ่าตัด
- ไตวายเรื้อรัง
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจมีสิ่งตรวจพบดังนี้
การใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก (โดยการใส่ถุงมือและมีสารหล่อลื่น) อาจคลำได้ต่อมลูกหมากที่โตกว่าปกติ
ในรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก อาจคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งเต็ม
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous urography) การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำการตรวจปัสสาวะ (ดูการติดเชื้อหรือเลือดออก) ตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด (ดูภาวะไตวาย) ตรวจสารพีเอสเอในเลือด (PSA)*
ในรายที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (เช่น ตรวจพบระดับพีเอสเอในเลือดสูงผิดปกติ) แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
บางรายแพทย์อาจทำการทดสอบความแรงและปริมาณของการถ่ายปัสสาวะ (urinary flow test) และการวัดปริมาณปัสสาวะที่ค้างหลังถ่ายปัสสาวะ (postvoid residual volume test) เพื่อติดตามประมาณความรุนแรงของโรค
ถ้ามีค่าระหว่าง 4-10 นาโนกรัม/มล. อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ใช่มะเร็งก็ได้
ถ้ามากกว่า 10 นาโนกรัม/มล. มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่มะเร็งมักจะมีค่าต่ำกว่า 20 นาโนกรัม/มล.
ถ้ามีค่ามากกว่า 100 นาโนกรัม/มล. มักจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดแพร่กระจาย
ถ้ามีค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นปีละ 0.8 นาโนกรัม/มล. หรือมากกว่า อาจบ่งชี้ว่ากำลังมีมะเร็งเกิดขึ้น
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายก็อาจมีค่าพีเอสเออยู่ในระดับปกติก็ได้
1. ในรายที่เป็นระยะแรกเริ่ม มีอาการเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย และเฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะ
2. การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยยา ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรืออยู่ระหว่างรอผ่าตัดหรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
- ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (alpha-blockers) เช่น แทมซูโลซิน (tamsulosin) พราโซซิน (prazosin) เทราโซซิน (terazosin) ดอกซาโซซิน (doxazosin) เป็นต้น ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเทส (alpha reductase inhibitors) เช่น ไฟนาสเตอไรด์ (finasteride), ดูทาสเตอไรด์ (dutasteride) ยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเทอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน (ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต) ก็จะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้ประมาณร้อยละ 30 ยานี้มีข้อดีทำให้ผมดกขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีผมบางหรือศีรษะล้านร่วมด้วย
- ในรายที่ใช้ยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร แพทย์จะให้ยาทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นร่วมกัน
3. การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัด ในรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือการใช้ยามีผลข้างเคียงมาก มีอาการรุนแรงหรือกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น มีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือดบ่อย ๆ เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ มีนิ่วกระเพาะปัสสาวะ มีภาวะผิดปกติของไตหรือไตเสื่อม) แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน อาทิ
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ (transurethral resection of the prostate/TURP) เป็นวิธีมาตรฐานที่ใชักันมากในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แพทย์จะตัดเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออก ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถถ่ายปัสสาวะได้แรงทันทีหลังผ่าตัด วิธีนี้ช่วยให้หายดีเป็นส่วนใหญ่ (มีเพียงส่วนน้อยที่อาจกำเริบใหม่) แต่หลังผ่าตัด จำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะเป็นการชั่วคราวสักระยะหนึ่ง และอาจมีผลแทรกซ้อนตามมา เช่น เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดออก ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (incontinence) ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction) ภาวะอสุจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
- การกรีดต่อมลูกหมากผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ (transurethral incision of the prostate/TUIP) โดยใช้มีดไฟฟ้าหรือเลเซอร์กรีดต่อมลูกหมากเป็นรอยเล็ก ๆ 1-2 รอย เพื่อลดแรงกดต่อท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะขยายกว้างขึ้น ปัสสาวะไหลออกได้ดีขึ้น วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตในขนาดไม่มาก
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์ (prostate laser surgery) โดยสอดเครื่องมือผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ แล้วใช้เลเซอร์พลังงานสูงทำลายหรือตัดเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่อุดกั้นท่อปัสสาวะออกไป ช่วยให้ปัสสาวะได้ดีขึ้น การรักษาด้วยเลเซอร์มีหลายวิธี
การผ่าตัดด้วยเลเซอร์มีข้อดี คือ เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็วกว่า และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (ที่ไม่ใช้เลเซอร์) ทำเสร็จสามารถกลับบ้านได้เลยหรือพักในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ (เช่น ผู้ป่วยที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด) รวมทั้งผู้ป่วยที่ไม่ต้องการนอนโรงพยาบาลหรือใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน
- การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (transurethral microwave thermotherapy/TUMT) โดยการใช้อุปกรณ์พิเศษสอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปในต่อมลูกหมาก แล้วใช้คลื่นไมโครเวฟในการกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมากออกไป ทำให้ต่อมลูกหมากหดตัวลง ช่วยให้ปัสสาวะได้ดีขึ้น ข้อดีคือ ผลข้างเคียงน้อยและฟื้นตัวเร็ว แต่มีข้อเสียคือ บางรายอาจมีอาการกำเริบใหม่และต้องทำการรักษาเพิ่มเติม
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบเปิดเข้าหน้าท้อง (open prostatectomy) สำหรับผู้ป่วยต่อมลูกหมากที่มีขนาดโตมาก แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้องส่วนล่าง เข้าไปตัดเอาเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออก (suprapubic หรือ retropubic prostatectomy) วิธีนี้อาจทำให้มีเลือดออก (อาจออกมากจนต้องให้เลือด) และจำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่าการผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่อง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ภาวะอสุจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย ในปัจจุบันการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบเปิดเข้าหน้าท้อง แพทย์นิยมใช้หุ่นยนต์ช่วย (robot-assisted prostatectomy) ซึ่งช่วยให้มีเลือดออกน้อย แผลผ่าตัดเล็ก (ทำให้ปวดแผลและมีรอยแผลน้อย) ฟื้นตัวเร็ว และลดระยะการพักอยู่โรงพยาบาลลง เมื่อเทียบกับการไม่ใช้หุ่นยนต์ช่วย
4. การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ใช้ยาไม่ได้ผลหรือไม่อาจใช้ยารักษา และเป็นผู้ป่วยที่มีอายุมากหรือสุขภาพไม่แข็งแรงซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด หรือผู้ป่วยยังไม่พร้อมเข้ารับการผ่าตัด แพทย์อาจเลือกรักษาด้วยวิธีอื่นที่ง่าย มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ดี แต่อาจมีอาการกำเริบ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดในอนาคต
ในปัจจุบันมีหลายวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ตัวอย่างเช่น
- การรักษาด้วยวิธียกเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกจากท่อปัสสาวะ (prostatic urethral lift/PUL) ที่เรียกว่า “เทคนิคยูโรลิฟต์ (UroLift)” โดยการใส่อุปกรณ์พิเศษขนาดจิ๋วผ่านกล้องส่องท่อปัสสาวะ เข้าไปกดบีบด้านข้างของต่อมลูกหมาก เพื่อยกเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกจากท่อปัสสาวะ ช่วยให้ปัสสาวะไหลออกได้ดี
- การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (water vapor thermal therapy/WVT หรือ Rezum therapy) โดยการฉีดไอน้ำที่มีอุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียสเข้าไปในต่อมลูกหมาก ทำให้เซลล์ที่อุดตันท่อทางเดินปัสสาวะตาย และถูกกำจัดเซลล์ออกไป ต่อมลูกหมากจะมีขนาดเล็กลง และท่อปัสสาวะเปิดกว้างให้ปัสสาวะไหลออกได้ดี
5. ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ ใช้สายสวนปัสสาวะในรายที่ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น
ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด อาการจะทุเลาได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ต้องคอยติดตามการรักษากับแพทย์เป็นระยะ
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้ ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุดและปัสสาวะบ่อย มีความรู้สึกเวลาปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโต ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากยาหลายชนิด (เช่น ยาแก้แพ้แก้หวัด ยาแก้ปวดท้องกลุ่มแอนติสปาสโมดิก) อาจทำให้ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออกได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณวันละ 8-10 แก้ว แต่ก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมงควรดื่มน้ำให้น้อยลง เพื่อลดปริมาณปัสสาวะ ไม่ต้องตื่นขึ้นมาถ่ายปัสสาวะตอนกลางดึก
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้มีปัสสาวะออกมาก ทำให้อาการเป็นมากขึ้น
- ลดน้ำหนักถ้าอ้วนหรือน้ำหนักเกิน ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารการกิน
- ถ่ายปัสสาวะทันทีเมื่อเริ่มรู้สึกปวดถ่าย อย่าอั้นปัสสาวะ อาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยืดตัวมากเกิน ทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานได้
- หลังถ่ายปัสสาวะสุดในครั้งแรกแล้ว รอสักครู่เดียวให้ถ่ายอีกครั้ง เพื่อลดปริมาณปัสสาวะที่คั่งค้าง
- หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย (การนั่งหรือนอนนาน ๆ อาจทำให้ปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากเกิน)
- รักษาร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีอากาศเย็น เพราะมีผลให้มีปัสสาวะคั่งมากเกิน
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติรุนแรงขึ้น
- มีอาการไข้ ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่นหรือเป็นเลือด หรือปัสสาวะไม่ออก
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม หายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หายใจลำบาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืดเป็นลม ตามัว หูอื้อ หูตึง ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน ถ่ายอุจจาระดำ คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตาเหลือง) จุดแดงจ้ำเขียว บวม ไอเรื้อรัง เป็นต้น
โรคนี้เกิดมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ด้วยการปฏิบัติตัว ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- กินผักและผลไม้ให้มาก และลดการกินอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาล
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
1. โรคนี้เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และมีทางรักษาให้หายได้ แต่ถ้าปล่อยไว้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. อาการถ่ายปัสสาวะลำบากในผู้ชายสูงอายุ อาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งของต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะก็ได้ ซึ่งบางครั้งอาจแยกอาการจากต่อมลูกหมากโตไม่ออก ดังนั้นทางที่ดีควรแนะนำให้ผู้ชายสูงอายุที่มีอาการปัสสาวะลำบากไปตรวจที่โรงพยาบาลทุกราย