ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บต่อท่อปัสสาวะ การใส่สายสวนปัสสาวะหรือการสอดใส่เครื่องส่องตรวจทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก หรือการฉายรังสีต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อ (เช่น หนองใน หนองในเทียม ต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้ท่อปัสสาวะมีการอักเสบ และกลายเป็นแผลเป็นจนทำให้ท่อปัสสาวะตีบ) ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งท่อปัสสาวะ
บางรายอาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด หรือไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
มีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะออกลำบากต้องใช้แรงเบ่ง ปัสสาวะบ่อย แต่ออกทีละน้อย ไม่พุ่ง หรือออกเป็นหยด มีความรู้สึกถ่ายไม่สุดหรืออยากถ่ายอยู่เรื่อย ๆ เวลามีความรู้สึกปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือปัสสาวะเล็ด บางรายอาจพบมีเลือดในปัสสาวะ
ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการถ่ายไม่ออกเลย และมีอาการปวดท้องน้อย เนื่องจากมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
ในรายที่มีทางเดินปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อน จะมีอาการขัดเบา ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะขุ่น ปวดท้อง ปวดเอว หรือมีไข้หนาวสั่น
หากปล่อยไว้ ไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ
- ท่อปัสสาวะเกิดการตีบตัน ทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกเลย มีปัสสาวะคั่งเต็มในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปวดท้องน้อย และคลำได้ก้อนตึงที่ตรงกลางท้องน้อย ซึ่งจำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอาการปัสสาวะเล็ด
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ เช่น มีอาการปวดเวลาหลั่งอสุจิ หรือหลั่งอสุจิไม่ได้หรือได้น้อย (ทำให้ผู้ชายอาจเป็นหมัน)
- องตชาตไม่แข็งตัว (erectile dysfunction)
- การติดเชื้อ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ ฝีที่ท่อปัสสาวะ
- ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ) กำเริบซ้ำซาก
- นิ่วกระเพาะปัสสาวะ
- ไตบวมน้ำ (hydronephrosis)
- ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
บางรายอาจคลำได้ก้อนตึง ๆ (ของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่ง) หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยที่บริเวณตรงกลางท้องน้อย หรืออาจตรวจพบองคชาตบวม หรือรอยตีบ (ในรายที่มีท่อปัสสาวะตีบตรงส่วนปลายชัดเจน)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (ตรวจดูการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ หรือโรคหนองใน หนองในเทียม) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ถ้าจำเป็นอาจทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ (cystourethroscopy) การถ่ายภาพรังสีท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะด้วยการฉีดสารทึบรังสี (cystourethrogram) การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายสูงอายุ เป็นต้น
แพทย์จะทำการแก้ไขท่อปัสสาวะตีบด้วยการถ่างขยายท่อปัสสาวะ และการผ่าตัด โดยพิจารณาจากตำแหน่ง ความยาว และความรุนแรงของของการตีบตัน
ในรายที่ท่อปัสสาวะตีบไม่รุนแรง และมีรอยตีบยาวน้อยกว่า 1 ซม. แพทย์อาจทำการถ่างขยายท่อปัสสาวะ โดยใช้สายสวน บัลลูน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งอาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง ถ้าไม่ได้ผล ก็จะต้องทำการผ่าตัดแก้ไข
สำหรับการผ่าตัด วิธีที่นิยม คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางท่อปัสสาวะ (endoscopic urethrotomy) เข้าไปตัดเอาส่วนที่ตีบตันออกไป วิธีนี้มีผลข้างเคียงน้อย แต่มีโอกาสเกิดการตีบตันของท่อปัสสาวะได้ใหม่
วิธีที่ได้ผลดี คือ การผ่าตัดซ่อมแซมท่อปัสสาวะแบบเปิด (open urethroplasty surgery) ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เหมาะสำหรับกรณีที่มีการตีบตันที่รุนแรง การรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผล หรือท่อปัสสาวะมีการตีบตันซ้ำซาก วิธีนี้มีโอกาสน้อยมากที่ท่อปัสสาวะจะกลับมาตีบตันใหม่
บางกรณีแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) ถ่างขยายค้างใว้ในท่อปัสสาวะ วิธีนี้ทำได้ง่ายแต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น การติดเชื้อ และมีโอกาสที่ท่อปัสสาวะกลับมาตีบตันซ้ำ ซึ่งทำการผ่าตัดแก้ไขได้ยากขึ้น แพทย์อาจเลือกใช้วิธีนี้ในรายที่มีการตีบตันที่รุนแรงและผู้ป่วยไม่ต้องการผ่าตัด
ผลการรักษา การรักษาด้วยการผ่าตัดมักจะได้ผลดี ช่วยให้หายเป็นปกติ มีโอกาสกำเริบใหม่น้อยมาก แต่บางรายอาจมีผลข้างเคียงจากการผ่าต้ด (เช่น เลือดออก ติดเชื้อ) บางรายอาจมีผลข้างเคียงหลังผ่าตัดในระยะยาว เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ องคชาตไม่แข็งตัว เป็นต้น
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ออกทีละน้อย ออกเป็นหยด หรือถ่ายไม่ออกเลย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นท่อปัสสาวะตีบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการขัดเบา ปวดท้องน้อย ไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น หรือปัสสาวะไม่ออก
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ป้องกันได้ยาก เช่น การบาดเจ็บ ผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
ส่วนน้อยเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ ได้แก่
- ป้องกันไม่ให้เป็นโรคหนองในและหนองในเทียม ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (คือการใช้ถุงยางอนามัย) และหากเป็นโรคเหล่านี้ ควรรักษาให้หายโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เรื้อรัง
- ถ้าจำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ควรเลือกใช้สายสวนขนาดเล็กที่พอเหมาะกับผู้ป่วย และควรคาสายสวนไว้เท่าที่จำเป็น อย่าให้นานเกินจำเป็น
ผู้ที่ได้รับการตรวจรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ เช่น การใส่สายสวน การใช้เครื่องส่องตรวจ การผ่าตัด หรือการฉายรังสี ที่บริเวณท่อปัสสาวะ หากพบว่ามีอาการปัสสาวะลำบาก ออกทีละน้อย ออกเป็นหยด หรือถ่ายไม่ออกเลย ควรสงสัยว่าอาจมีภาวะท่อปัสสาวะตีบแทรกซ้อน ควรรีบกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว