ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (ที่พบในลำไส้ของคนเรา) เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เอนเทอโรแบกเตอร์ (enterobacter) เป็นต้น เชื้อโรคเหล่านี้มีมากบริเวณทวารหนัก แล้วปนเปื้อนผ่านเข้าท่อปัสสาวะเข้ามาในกระเพาะปัสสาวะ
อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากเป็นอัมพาต หรือพบภายหลังการสวนปัสสาวะ ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น
ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่หรือหลังร่วมเพศ อาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์เรียกว่า โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน (honeymoon’s cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ
ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน
อาการอาจเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ
ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน
ส่วนมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไต ทำให้กลายเป็นกรวยไตอักเสบได้
ในผู้ชาย เชื้ออาจลุกลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน บางรายอาจคลำได้ก้อนตึง ๆ (ของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่ง) หรือมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยที่บริเวณตรงกลางท้องน้อย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก) นำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ เอกซเรย์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy)
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
- ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล อะม็อกซีซิลลิน โอฟล็อกซาซิน หรือไซไพรฟล็อกซาซิน นาน 3 วัน
- ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือพบโรคนี้ในผู้ชาย แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่อาการทุเลาหลังให้ยาปฏิชีวนะ 24-48 ชั่วโมง แต่อาจกำเริบได้บ่อย หากไม่ดูแลตัวเองในการป้องกันโรค (เช่น ยังชอบอั้นปัสสาวะ)
สำหรับในผู้ชายที่เป็นโรคนี้แล้วไม่ได้ตรวจหาสาเหตุ หรือผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยง (เช่น โรคเบาหวาน) หรือไม่ได้แก้ไขสาเหตุ (เช่น เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง) ก็อาจเกิดการกำเริบเรื้อรังจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
หากสงสัย เช่น มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะขุ่นหรือมีเลือดปน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) และไม่อั้นปัสสาวะ
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษา 24-48 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ทุเลา
- มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
- ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- เมื่อรักษาหายดีแล้ว กลับมีอาการกำเริบขึ้นอีก
ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันมิให้เป็นซ้ำโดย
1. พยายามดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) และอย่าอั้นปัสสาวะ ควรฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่ การอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญแพร่พันธุ์ ประกอบกับในภาวะที่กระเพาะปัสสาวะยืดตัว ความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
2. หลังถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
3. สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (โรคกระเพาะปัสสาวะจากฮันนีมูน) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ ควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอด และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ
1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการขัดเบา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคอีกหลายชนิดที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคนี้ได้อีก ดังนั้น ก่อนให้การรักษาโรคนี้ ควรซักถามประวัติอาการอย่างถี่ถ้วน (ตรวจอาการ "ขัดเบา/ปัสสาวะบ่อย/ปัสสาวะมาก")
2. ในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย หรือมีไข้และอาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ การตรวจปัสสาวะจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้แน่ชัด
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ควรดื่มน้ำมาก ๆ (ประมาณวันละ 2-3 ลิตร) เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออก และช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ