อาจเกิดจากจอตามีรอยฉีกหรือเป็นรู ปล่อยให้ของเหลวของน้ำวุ้นลูกตาแทรกซึมเข้าไปเซาะให้จอตาลอก หรือจอตาส่วนที่ยึดติดแน่นกับส่วนผิวของน้ำวุ้นลูกตาถูกแรงดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตา ทำให้จอตาหลุดลอกจากผนังลูกตา หรือมีสิ่งซึมเยิ้ม (exudation) สะสมอยู่ใต้ชั้นจอตา
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังที่เสื่อมตามอายุ มีการหดตัวและลอกออกจากจอตา (posterior vitreous detachment)* เกิดแรงดึงรั้งต่อจอตา
นอกจากนี้ยังอาจพบได้บ่อยในผู้ที่มีสายตาสั้นชนิดรุนแรง เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอตาแทรกซ้อน การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา การผ่าตัดต้อกระจกหรือภายในลูกตา การติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา เนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดภายในลูกตาหรือแพร่กระจายจากที่อื่น
ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการปวดตา
ระยะแรกเริ่มจะมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชถ่ายรูปในตาข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง ขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด (ซึ่งมักเกิดจากจอตาถูกกระตุ้นจากแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นลูกตา) และมีอาการเห็นเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปมาที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก และมีอาการตามัว (อาจเห็นคล้ายมีหมอกบัง/เห็นเงาคล้ายม่าน/เห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอ) ร่วมด้วย
หากไม่ได้รับการรักษา และปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่าเห็นเงาอยู่ที่ขอบของลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน
อาการเห็นเงาหยากไย่ (floaters)
เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน จะมองเห็นเงาคล้ายหยากไย่ ยุง หรือแมลงวัน ลอยไปมาอยู่ในลูกตาข้างเดียวหรือ 2 ข้าง เห็นชัดในที่สว่าง โดยเฉพาะเวลาแหงนมองท้องฟ้าใส มองไปที่ผนังสีขาว หรือก้มลง (เช่น ขณะดื่มน้ำ) ทำให้นึกว่ามีหยากไย่อยู่ที่ข้างนอกลูกตา และพยายามขยี้ตาแต่เงาก็ไม่หาย สร้างความรำคาญ นาน ๆ เข้าก็รู้สึกเคยชิน
ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำวุ้นลูกตาเสื่อม (vitreous degeneration) และหดตัวเล็กลง ทำให้สารโปรตีนในน้ำวุ้นหนาตัวกลายเป็นเศษเส้นใยลอยอยู่ในน้ำวุ้นลูกตา บังแสงที่ผ่านมาที่จอตา ทำให้เห็นเงาของเศษเส้นใยคล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ภาวะนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี และไม่มีอันตราย นอกจากสร้างความรำคาญ ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ บางคนอาจค่อย ๆ จางหายไปได้อย่างช้า ๆ
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุที่อาจมีอันตรายร้ายแรง ได้แก่
- น้ำวุ้นลูกตาด้านหลังลอก (posterior vitreous detachment/PVD) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ที่มีน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังเสื่อม บางรายเนื่องจากน้ำวุ้นมีการหดตัวและมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม ทำให้น้ำวุ้นลูกตาหลุดลอกจากจอตา ถ้ามีการดึงรั้งจอตา ก็มักจะกระตุ้นให้เกิดอาการเห็นแสงวาบคล้ายแสงฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ร่วมกับอาการมองเห็นเงาหยากไย่
- เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา (vitreous hemorrhage) ซึ่งเกิดจากจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) จอตาฉีก (retinal tear) จุดภาพชัดเสื่อมตามอายุ (age-related macula degeneration) ภาวะเลือดออกง่าย หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน การได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะมีอาการตามืดมัวลงอย่างฉับพลัน ร่วมกับเห็นเงาหยากไย่ ซึ่งจะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ บางรายอาจเห็นสีแดง (สีเลือด) บังอยู่ในตา หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- จอตาฉีก (retinal tear)/จอตาลอก (retinal detachment) ทำให้มองเห็นเงาหยากไย่ที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก ร่วมกับการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบและตามัว
- ผนังลูกตาชั้นกลางด้านหลังอักเสบ (posterior uveitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อ (เช่น เอดส์) หรือปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง มักมองเห็นเงาหยากไย่จำนวนมากร่วมกับตามัว
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเห็นเงาหยากไย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเงาที่เกิดขึ้นใหม่ เกิดขึ้นฉับพลัน เห็นเงาจำนวนมาก หรือมีอาการเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือตามัวร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจหาสาเหตุ ในรายที่ไม่พบความผิดปกติร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแต่อย่างใด แต่ควรติดตามตรวจกับแพทย์เป็นระยะ
อาการเห็นเงาหยากไย่
หากปล่อยไว้ไม่รักษา มักจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือพิการอย่างถาวร
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจวัดสายตามักพบว่าผิดปกติ
บางรายอาจพบสายตาสั้น หรือเป็นเบาหวาน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจวัดสายตา ตรวจลานสายตา ความดันลูกตา ใช้เครื่องมือส่องตรวจจอตา บางครั้งอาจต้องทำการตรวจจอตาด้วยอัลตราซาวนด์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ในรายที่เป็นเพียงจอตาฉีกหรือเป็นรูมักจะรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (laser surgery) ทำการปิดรูที่ฉีก หรือใช้วิธีจี้ด้วยความเย็น (freezing therapy หรือ cryopexy) บริเวณรอบ ๆ รูหรือรอยฉีก เพื่อช่วยยึดจอตากลับเข้าที่
ในรายที่มีจอตาลอกจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไข
ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่มีเพียงภาวะจอตาฉีกหรือเป็นรู หรือจอตาลอกระยะแรกเริ่ม มักจะช่วยให้สายตาฟื้นตัวได้ดี แต่ถ้ารักษาในระยะที่จอตาลอกมากแล้ว หรือมีเลือดออก หรือเป็นแผลเป็นแล้วก็ไม่ช่วยให้สายตาดีขึ้น
หากสงสัย เช่น มีอาการตามัว เห็นคล้ายมีหมอกบัง/เงาคล้ายม่าน/เห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ หรือแสงแฟลชถ่ายรูปขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด เห็นเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปมาที่เกิดขึ้นฉับพลันและมีจำนวนมาก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นจอตาลอก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี เนื่องจากอาจเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง
อาจป้องกันในรายที่มีสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น
- ถ้าเป็นเบาหวานควรควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ป้องกันอย่าให้มีโรคของจอตาแทรกซ้อน
- ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยการใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อดวงตา
ผู้ที่มีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปเวลาหลับตาหรืออยู่ในที่มืด (ไม่ว่าจะมีอาการมองเห็นเงาหยากไย่หรือตามัวร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม) อาจเป็นอาการเตือนก่อนที่จะเกิดภาวะจอตาลอก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว การได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาพิการได้