ลักปิดลักเปิด เกิดจากการขาดวิตามินซี พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 6-18 เดือน และผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล
เด็กมักมีประวัติกินนมข้นหวาน หรือน้ำข้าวใส่น้ำตาล และไม่ได้รับอาหารเสริมวิตามินซี (เช่น น้ำส้มคั้น) เด็กมักมีการขาดสารอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โปรตีน เหล็ก วิตามินบี 2 เป็นต้น อาการมักจะเกิดขึ้นหลังเป็นโรคติดเชื้อ หรือท้องเดิน ทำให้มีการสูญเสียวิตามินซี
ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่ จะพบเป็นโรคนี้ได้น้อย
สาเหตุ
เกิดจากร่างกายขาดวิตามินซี เนื่องจากบริโภคอาหารที่ขาดวิตามินซี หรือการดูดซึมไม่ดี (เช่น โรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง)
อาการ
ในเด็กเล็ก จะมีอาการกระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ขึ้น ต่อมาจะพบว่ามีอาการปวดตามแขน ขา เนื่องจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มกระดูก โดยเฉพาะตรงบริเวณเหนือข้อเข่าและข้อเท้า เด็กจะนอนแบะขาอยู่ในท่าคล้ายกบ
เด็กที่มีฟันขึ้นแล้วจะมีอาการเหงือกบวม และมีเลือดออกตามไรฟัน
ในเด็กโตและผู้ใหญ่ จะมีอาการเหงือกบวมและเลือดออกเวลาแปรงฟัน
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะซีดจากเลือดออกเรื้อรัง หรือขาดธาตุเหล็ก
อาจมีอาการเลือดออกได้ง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว
ถ้าเป็นแผล มักจะหายช้า
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีเลือดออกในสมอง เป็นอันตรายถึงตายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
อาจตรวจพบอาการเหงือกบวม เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล จุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง จุดเลือดออกที่ใต้เล็บ ซีด (เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก)
ตรงรอยต่อระหว่างกระดูกอ่อนและซี่โครง (costochondral junction) อาจมีลักษณะเป็นตุ่ม ๆ คล้ายลูกประคำ
ถ้าจำเป็น แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจระดับวิตามินซีในเลือด เอกซเรย์กระดูก
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้วิตามินซีกินหรือฉีด อาการจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการเหงือกบวม มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดออกจากเหงือกเวลาแปรงฟัน มีเลือดออกง่าย (เช่น เลือดกำเดาไหล มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลักปิดลักเปิด ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยให้อาหารเสริม เช่น น้ำส้ม มะเขือเทศ ผักใบเขียว เป็นต้น หรือถ้าจำเป็นอาจให้วิตามินซี หรือวิตามินรวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่อง
ข้อแนะนำ
1. ปัจจุบันโรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย อาจพบในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุที่บริโภคอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งหากพบว่าคนกลุ่มนี้มีอาการเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกง่าย ก็ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้
2. ผู้ที่มีอาการเหงือกบวม และมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากเหงือกอักเสบ แต่ถ้าได้รับการรักษาแบบเหงือกอักเสบแล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากโรคลักปิดลักเปิดได้