เด็กที่ขาดอาหารมักเป็นเด็กที่พ่อแม่ยากจน ด้อยการศึกษา และมีสิ่งแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง เช่น เด็กกินนมข้นหวานหรือน้ำข้าว เด็กได้อาหารเสริมช้าไปหรือไม่พอ และเด็กมักจะเจ็บป่วยบ่อย เช่น ท้องเดิน ไข้หวัด ปอดอักเสบ หัด ไอกรน เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กขาดอาหารมากขึ้น และยิ่งขาดอาหารก็ยิ่งเจ็บป่วยบ่อยเป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ
โรคนี้สามารถแสดงได้หลายแบบ ขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุของโรค เช่น
ถ้าเด็ดขาดอาหารไม่มาก ก็อาจมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเมื่อเทียบตามอายุ โดยเด็กยังดูแข็งแรงดีไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด
ถ้าเด็กขาดแคลอรีอย่างมาก จะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีลักษณะผอมแห้ง หนังหุ้มกระดูก ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาลึก แก้มตอบ ดูคล้ายกับเด็กที่มีภาวะขาดน้ำ (ดู "อาการท้องเดิน/อุจจาระร่วง") แต่ไม่มีอาการบวม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี โรคขาดอาหารแบบนี้มีชื่อเรียกว่า มาราสมัส (marasmus)
ถ้าเด็กขาดโปรตีนอย่างมาก ก็จะทำให้มีอาการบวมที่มือและเท้า บางครั้งอาจบวมที่หน้าและบวมทั้งตัว น้ำหนักน้อยกว่าปกติ เด็กดูท่าทางเซื่องซึม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เบื่ออาหาร ผมบางเปราะแห้งและมีสีจาง ผิวหนังมีผื่นสีกระดำกระด่าง และหลุดลอกเป็นแผลที่บริเวณก้น ขาหนีบและต้นขา และอาจมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวและเป็นฟอง โรคขาดอาหารแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ควาชิวากอร์ (kwashiorkor) ซึ่งถือเป็นภาวะที่รุนแรง อาจตายด้วยโรคแทรกซ้อน เช่น ท้องเดิน ปอดอักเสบ มักพบในเด็กอายุ 1-5 ปี
ที่สำคัญคือ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ท้องเดิน ปอดอักเสบ หัด เป็นต้น และเมื่อเป็นแล้วก็มักจะมีอาการรุนแรง อาจถึงตายได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้โรคขาดอาหารยังมีผลทำให้สมองเจริญเติบโตไม่ดี เด็กอาจมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
เด็กน้ำหนักน้อย ผอมแห้ง หรืออาจมีอาการบวม ผมบางเปราะแห้งและมีสีจาง มีอาการซีด ลิ้นมันเลี่ยน ตับโต
ในบางรายแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรืออื่น ๆ
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้ามีอาการบวม เบื่ออาหาร และท่าทางเชื่องซึม หรือมีภาวะติดเชื้อรุนแรง แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องป้อนอาหารเด็กทางสายยาง รักษาโรคติดเชื้อ และแก้ไขภาวะอื่น ๆ ที่พบร่วม
2. ถ้าไม่มีอาการดังข้อ 1 ให้ดูแลรักษาดังนี้
- แนะนำการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง เช่น การให้นม การให้อาหารเสริมต่าง ๆ
- ถ้ามีโรคติดเชื้อร่วมด้วย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย แผลพุพอง ทอนซิลอักเสบ ก็ให้ยารักษาตามแต่โรคที่พบร่วม
- ให้วิตามินรวม ยาบำรุงโลหิต
หากสงสัย เช่น ตัวเล็กหรือน้ำหนักน้อยกว่าปกติ บวม ซีด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคขาดอาหารในเด็ก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ท้องเดิน อาเจียน หายใจหอบ เบื่ออาหาร หรือ กินไม่ได้ เป็นต้น
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกันโรคขาดอาหารในเด็ก อาจกระทำได้ดังนี้
1. แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมมารดานานอย่างน้อย 6 เดือน และอย่าให้ทารกหย่านมเร็วเกินไป โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจนและมีลูกมาก
2. แนะนำการให้อาหารเสริมแก่ทารกให้ได้พอเพียง และถูกต้อง
3. แนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคแก่เด็กเล็ก
4. หมั่นชั่งน้ำหนักเด็ก ถ้าพบว่าน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ (ดูกราฟ) ควรแนะนำการเลี้ยงดู และการให้อาหารเสริม ถ้าไม่ได้ผล ควรแนะนำไปพบแพทย์
5. แนะนำพ่อแม่เด็กว่า เวลาเด็กเจ็บป่วย เช่น มีบาดแผลอักเสบ คางทูม หัด อีสุกอีใส เป็นต้น ไม่ต้อง อดของแสลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ควรกินให้มาก ๆ เพื่อบำรุงร่างกายเด็ก
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรพาลูกหลานไปพบแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อตรวจสุขภาพ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ให้วัคซีนป้องกันโรค หากพบว่ามีน้ำหนักตัวผิดปกติหรือสงสัยมีภาวะขาดอาหารในระยะแรกเริ่ม ควรได้รับการดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคขาดอาหารหรือภาวะทุพโภชนาการที่รุนแรง