กระดูกประกอบด้วย โปรตีน คอลลาเจน และแคลเซียม โดยมีแคลเซียมฟอสเฟตเป็นตัวทำให้กระดูกแข็งแรง ทนต่อแรงดึงรั้ง
กระดูกมีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ ขณะที่มีการสร้างกระดูกใหม่โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป ก็มีการสลายแคลเซียมในเนื้อกระดูกเก่าออกมาในเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ ปกติในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกมีการเจริญเติบโต มวลกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนมีความหนาแน่นสูงสุด เมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกค่อย ๆ บางตัวลงตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างรวดเร็ว ฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายและชะลอการสลายของแคลเซียมในเนื้อกระดูก เมื่อพร่องฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะทำให้กระดูกบางตัวลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะกระดูกพรุน
ดังนั้น โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จึงเกิดจากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง (ซึ่งจะเริ่มมีอัตราเร่งของการสลายตัวของกระดูกในช่วง 10-20 ปี หลังหมดประจำเดือน) และความเสื่อมตามอายุที่มีการสะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยาวนานของการเสียดุลระหว่างการสร้างและการสลายของกระดูก (พบได้ทั้งชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 75 ปี)
นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับภาวะอื่น ๆ เรียกว่า กระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (secondary osteoporosis) เช่น
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน เบาหวาน โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เอลแอลอี โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง มะเร็ง (เต้านม เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง)
- ภาวะขาดสารอาหารและแคลอรี ภาวะขาดแคลเซียม
- น้ำหนักน้อย (ผอม)
- การใช้ยาติดต่อกันนาน ๆ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (เช่น โอเมพราโซล) ยากันชัก(เช่น เฟนิโทอิน ฟีโนบาร์บิทาล) เฮพาริน หรือใช้ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกิน
- การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายนาน ๆ (เช่น ผู้ป่วยที่นอนแบ็บอยู่บนที่นอนตลอดเวลา) การสูบบุหรี่ (ทำให้เอสโทรเจนในเลือดลดลง)
- การเสพติดแอลกอฮอล์
- การสูบบุหรี่
นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ และบางครั้งอาจพบในคนอายุไม่มากโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนก็ได้
ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งเกิดภาวะกระดูกหัก ก็จะเกิดอาการเจ็บปวด หรือความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เช่น ปวดข้อมือ สะโพก หรือหลัง (เนื่องจากกระดูกข้อมือ สะโพก หรือสันหลังแตกหัก) ส่วนสูงลดลงจากเดิม (เนื่องจากการหักและยุบตัวของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว) เป็นต้น
ถ้าเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิก็อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ
ที่สำคัญคือ กระดูกหัก อาจทำให้เกิดความพิการเดินไม่ได้ หรือหลังโกงหลังค่อม
ในรายที่กระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ถ้าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลังผ่าตัดได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ถ้ามีภาวะกระดูกหักเฉียบพลัน เช่น ตกจากที่สูง หกล้ม ก็จะตรวจพบอาการเจ็บปวด บวม หรือกระดูกบิดเบี้ยว หรือขยับเขยื้อนไม่ได้
ถ้ากระดูกสันหลังแตกหัก หรือยุบตัวแบบเรื้อรัง (มักเกิดจากแรงกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไร) ผู้ป่วยจะมีส่วนสูงลดลง หรือหลังโกงหลังค่อม
นอกจากนี้อาจตรวจพบอาการของโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์กระดูกตรวจความหนาแน่นของกระดูก (bone mineral density) ด้วยเครื่องตรวจโดยเฉพาะ เช่น การตรวจด้วยวิธี DXA (dual-energy X-ray absorptiometry) การตรวจอัลตราซาวนด์กระดูกส้นเท้า (calcaneal ultrasonography) เป็นต้น นอกจากนี้ อาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุในรายที่สงสัยว่ามีโรคหรือภาวะอื่นร่วมด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่มีกระดูกพรุนโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะให้กินแคลเซียม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต และอาจให้วิตามินดีร่วมด้วย ในรายที่อยู่แต่ในที่ร่ม (ไม่ได้รับแสงแดด) ตลอดเวลา
สำหรับหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน
สำหรับผู้ชายสูงอายุที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนร่วมด้วย อาจต้องให้ฮอร์โมนชนิดนี้เสริม
นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และ/หรือยาลดการสลายกระดูกเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วยบางราย เช่น ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonate), แคลซิโทนิน (calcitonin)
หากไม่ได้ผลหรือใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตไม่ได้ แพทย์อาจให้ยาชนิดใหม่ เช่น ดีโนซูแมป (denosumab), เทริพาราไทด์ (teriparatide)
ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำ แพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ อาจต้องทำการตรวจกรองมะเร็งเต้านมและปากมดลูก (สำหรับผู้ที่กินเอสโทรเจน) ปีละ 1 ครั้ง ตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุก 2-3 ปี เอกซเรย์ในรายที่สงสัยมีกระดูกหัก เป็นต้น
ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหัก ก็ให้รักษา เช่น การเข้าเฝือก การผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
ในรายที่มีโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ ก็ให้การรักษาไปพร้อม ๆ กัน
ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดนาน ๆ (เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก) เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคกระดูกพรุน
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
- งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
- ระมัดระวังอย่าให้หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้กระดูกหัก เช่น แก้ไขภาวะความดันตกในท่ายืน หรือสายตามัว (เช่น ต้อกระจก) หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้ง่วงนอน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง (เช่น ยากล่อมประสาท) และควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย (เช่น บันไดที่ขึ้นลง แสงสว่าง ห้องน้ำ พื้นต่างระดับ ราวเกาะยึด เป็นต้น)
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดข้อ หรือปวดหลังเฉียบพลัน หรือสงสัยกระดูกหัก
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
1. กินแคลเซียมให้เพียงพอทุกวัน* อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนยแข็ง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาไส้ตัน) กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม (เช่น คะน้า ใบชะพลู) งาดำคั่ว
แนวทางปฏิบัติ สำหรับเด็กและวัยรุ่นควรดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดื่มนมวันละ 1-2 แก้วเป็นประจำ จะทำให้ได้รับแคลเซียมร้อยละ 50 ของปริมาณที่ต้องการ ส่วนแคลเซียมที่ยังขาดให้กินจากอาหารแหล่งอื่น ๆ ประกอบ
ผู้ใหญ่บางคนที่มีข้อจำกัดในการดื่มนม (เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด) ให้เลือกกินเนยแข็ง นมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย แทน หรือบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในแต่ละมื้อให้มากขึ้น
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังที่มีการถ่วงหรือต้านน้ำหนัก (weight bearing) เช่น การเดิน การวิ่ง เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น ร่วมกับการยกน้ำหนัก จะช่วยให้มีมวลกระดูกมากขึ้น และกระดูกมีความแข็งแรง ทั้งแขน ขา และกระดูกสันหลัง
3. รับแสงแดด ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างกระดูก ในบ้านเราคนส่วนใหญ่จะได้รับแสงแดดเพียงพออยู่แล้ว นอกจากในรายที่อยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา ก็ควรจะออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละ 10-15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ถ้าอยู่แต่ในที่ร่ม ไม่ถูกแสงแดด อาจต้องกินวิตามินดีเสริม
4. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ (ผอมเกินไป) เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น
- ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารพวกนี้จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ
- ไม่กินอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง และเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น
- ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลตในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก (กาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้ว แอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 หน่วยดื่ม ซึ่งเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ 30 มล.)
- งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น (เนื่องจากลดระดับเอสโทรเจนในเลือด)
- ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
6. รักษาโรคหรือภาวะที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง
อายุ 9-18 ปี ควรบริโภคแคลเซียม 1,000 มก./วัน
อายุมากกว่า 50 ปี ควรบริโภคแคลเซียม 800-1,000 มก./วัน
อายุมากกว่า 50 ปี ควรบริโภคแคลเซียม 800-1,000 มก./วัน
โรคนี้พบได้บ่อยในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน และผู้สงอายุ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อกระดูกหักง่าย ควรป้องกันด้วยการปฏิบัติตัวต่าง ๆ (เช่น การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมให้มากพอ การออกกำลังกาย การรักษารูปร่างอย่าให้ผอมเกินไป การไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุราจัด) ตั้งแต่วัยเด็กและวัยหนุ่มสาว