เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก อาจพบได้ทั้งในทารกและผู้ใหญ่
1. ในผู้ใหญ่ส่วนมาก มีสาเหตุจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (เช่น ผู้ป่วยที่เป็นคอพอกเป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์โตมาก) แล้วตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ (ที่อยู่ใกล้กัน) ออกไปด้วย จึงทำให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนช่วยรักษาระดับของแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในสมดุลเมื่อต่อมนี้ทำงานได้น้อย ก็จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจแสดงอาการภายหลังผ่าตัดแล้วเป็นปี ๆ ก็ได้ และอาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะขาดวิตามินดี ภาวะไตวายเรื้อรัง การกินแคลเซียมน้อยหรือขาดอาหาร ลำไส้ดูดซึมธาตุแคลเซียมได้น้อย โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะโปรตีน (แอลบูมิน) ในเลือดต่ำ ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นด่าง (alkalosis ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน การใช้ยา (เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ไรแฟมพิซิน เฟนิโทอิน ฟีโนบาร์บิทาล) เป็นต้น
2. ในทารกแรกเกิด ถ้ามีอาการภายใน 3 วันหลังคลอด อาจมีสาเหตุจากทารกคลอดก่อนกำหนดทารกมีภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด มารดาเป็นเบาหวาน หรือมารดามีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (ทำให้กดการทำงานของพาราไทรอยด์ในทารก เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำขึ้นในทารก) หรือทารกมีภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด
ถ้ามีอาการหลังคลอดเป็นสัปดาห์ขึ้นไป อาจมีสาเหตุจากการให้ทารกกินนมวัวที่มีสารฟอตเฟตสูง ทารกมีภาวะลำไส้ไม่ดูดซึมแคลเซียม หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคอุจจาระร่วง ทารกมีภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด ภาวะขาดวิตามินดี (โรคกระดูกอ่อน) หรือภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia)
ในรายที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเล็กน้อย อาจไม่มีอาการแสดงให้ปรากฏชัดเจน หรือมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอนง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ มักตรวจพบจากการตรวจเลือด
ผู้ป่วยจะแสดงอาการเมื่อมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำค่อนข้างมาก อาการที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยจะมีอาการมือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง แบบเดียวกับที่พบในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน
นอกจากนี้อาจเป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า หรือปวดบิดในท้อง บางรายอาจมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้า
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก
ในทารก อาจมีอาการชัก หายใจลำบาก ตัวเขียว บางรายอาจมีอาการอาเจียน (ซึ่งอาจรุนแรงจนเข้าใจผิดว่ามีภาวะกระเพาะลำไส้อุดกั้น)
ถ้ามีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมาก ๆ อาจทำให้หัวใจวาย กล่องเสียงเกร็งตัวจนหายใจไม่ได้
หากปล่อยไว้เรื้อรัง (เช่น เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ที่ไม่ทราบสาเหตุ ไตวายเรื้อรัง) อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระดูกพรุน (ทำให้กระดุกหักง่าย) เป็นต้อกระจก ประสาทตาบวมหรืออักเสบ ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า ประสาทหลอน
ถ้าหากเป็นตั้งแต่เล็ก ๆ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ฟันเสีย ร่างกายไม่เจริญเติบโต และปัญญาอ่อนได้
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบมือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นตะคริวที่ขา หรือชัก
อาจตรวจพบรีเฟลกซ์ของข้อ (tendon reflex) ไวกว่าปกติ
อาจทำการทดสอบโดยการใช้เครื่องวัดความดันพันรอบแขนด้วยแรงดันที่สูงกว่าความดันโลหิตช่วงบนของผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อที่มือเกร็ง (เรียกว่า "Trousseau sign") หรือใช้นิ้วชี้เคาะที่กระดูกโหนกแก้ม (zygoma bone) กระตุ้นให้กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก (เรียกว่า "Chvostek’s sign")
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเจาะเลือดตรวจดูระดับแคลเซียม มีค่าต่ำกว่า 8.5 มก./ดล.ในผู้ใหญ่ (ต่ำกว่า 8 มก./ดล.ในทารกคลอดครบกำหนด หรือต่ำกว่า 7 มก./ดล.ในทารกคลอดก่อนกำหนด) ตรวจหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ วิตามินดี แมกนีเซียม ฟอสเฟต แอลบูมิน การทำงานของไต เป็นต้น) และอาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ในรายที่มีอาการเฉียบพลัน เช่น ชัก มือเท้าจีบเกร็ง หรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริว แพทย์จะฉีดแคลเซียมกลูโคเนต 10 มล. เข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ หรือผสมในน้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาทันที
แพทย์ทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น
- ในรายที่มีประวัติการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (สังเกตเห็นรอยแผลที่คอ) อาจต้องให้ผู้ป่วยกินเกลือแคลเซียม เช่น แคลเซียมกลูโคเนต เป็นประจำทุกวัน
- บางรายอาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วระยะหนึ่ง และอาจหายได้เอง แต่บางรายก็อาจเป็นถาวร ซึ่งต้องคอยกินยารักษาตลอดไป
- ในรายที่เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ อาจให้กินเกลือแคลเซียม ร่วมกับวิตามินดี เช่น แคลเซียมทริออล (calcitriol) ร่วมด้วย เป็นประจำทุกวัน ผู้ป่วยอาจต้องกินยาติดต่อกันตลอดไป โดยแพทย์จะนัดตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเป็นครั้งคราว
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ รายที่มีสาเหตุที่แก้ไขได้ (เช่น สาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด, การกินแคลเซียมน้อยเกินไป, ภาวะเลือดเป็นด่าง) หรือเป็นเพียงชั่วคราว (เช่น ที่พบในทารกที่มีอาการเกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังคลอดส่วนใหญ่, ภาวะแทรกจากการผ่าตัดไทรอยด์ในบางราย) มักจะหายขาดได้ แต่ถ้าเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยกำเนิด จำเป็นต้องกินยารักษาตลอดไป
หากสงสัย เช่น มีอาการชัก มือจีบเกร็ง เป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า หรือมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้า ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- กินยาแล้วอาการไม่ทุเลา
- ขาดยาหรือยาหาย
- กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
ขึ้นกับสาเหตุ สำหรับสาเหตุที่ป้องกันได้ อาจป้องกันได้ ดังนี้
- สาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ อาจป้องกันโดยการระมัดระวังในการทำผ่าตัด และการให้วิตามินดีและแคลเซียมกินป้องกันก่อนผ่าตัด โดยพิจารณาจากระดับวิตามินดีและแคลเซียมในเลือดที่ตรวจพบก่อนผ่าตัด
- การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
- การเฝ้าระวังภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์ ไรแฟมพิซิน เฟนิโทอิน ฟีโนบาร์บิทาล
- การป้องกันภาวะไตวายเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรัง
อาการที่พบได้บ่อยของผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำอย่างหนึ่ง คือ อาการมือจีบเกร็ง 2 ข้าง อาการลักษณะนี้อาจมีสาเหตุจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ (ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ และจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการให้แคลเซียมเป็นประจำทุกวัน) หรือกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน (ดู ภาวะกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน) ซึ่งเป็นภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วคราว และเมื่อแก้ไขภาวะระบายลมหายใจเกินให้หายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้แคลเซียม วิธีแยกสาเหตุ 2 อย่างนี้ได้ง่าย ๆ คือ หากตรวจพบรอยแผลผ่าตัดไทรอยด์ที่คอ ก็น่าจะเป็นภาวะขาดพาราไทรอยด์มากกว่ากลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน