เม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก
อาจมีประวัติว่ามารดาเคยได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน หรือบุตรคนก่อนมีอาการซีดเหลืองและต้องถ่ายเลือด
มักเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีเลือดหมู่โอ (และทารกมีเลือดหมู่เอหรือบี) หรือหมู่อาร์เอช (Rh) ลบ (และทารกที่มีหมู่อาร์เอชบวก)
สาเหตุ
มีสาเหตุมาจากหมู่เลือดของทารกและมารดาเข้ากันไม่ได้ (blood group incompatability) เนื่องจากมารดามีสารภูมิต้านทานต่อเลือดของทารกซึ่งผ่านรกเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เป็นสาเหตุให้ทารกคลอดออกมามีอาการซีดเหลือง
อาการ
ทารกมีอาการซีด และตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังคลอด (หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังคลอด) ตับและม้ามอาจโต
ถ้าตัวเหลืองมาก อาจทำให้ซึม ไม่ดูดนม หรือเกิดภาวะสารบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus) สมองพิการได้
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เป็นโรคสมองพิการ เนื่องจากมีสารบิลิรูบินสะสมในสมอง
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบมีภาวะซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด และอื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องให้เลือด ทำการฉายแสง (phototherapy) ด้วยเครื่องฉายแสง
ถ้าเป็นรุนแรงอาจต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด (exchange transfusion) หรือฉีดสารอิมมูนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous immunoglobulin/IVIG)
การดูแลตนเอง
หากพบทารกแรกเกิดมีอาการซีดและตาเหลือง ตัวเหลือง ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดแตก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
การป้องกัน
ถ้าพบว่าหญิงตั้งครรภ์รายใดมีประวัติเคยได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน หรือเคยมีบุตรที่มีอาการตัวเหลืองและต้องถ่ายเลือด ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยและหาทางป้องกันมิให้เกิดภาวะนี้ต่อไป
ข้อแนะนำ
ทารกแรกเกิดทุกรายควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการผิดสังเกต เช่น ซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึม ไม่ดูดนม ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ